ก่อนหน้านี้ผมได้สรุปภาพรวมและมุมมองของการตลาดที่น่าจะมีความเคลื่อนไหวกันในปี 2020 ไปแล้ว ก็เลยทำให้ผมมาคิดต่อเจาะลึกว่าแล้วในฝั่งของ Content Marketing หรือการทำคอนเทนต์สำหรับธุรกิจต่างๆ นั้นจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ต้องออกตัวก่อนว่ามุมมองดังกล่าวนี้เป็นข้อสังเกตของผม ซึ่งก็จะโฟกัสเรื่องการทำคอนเทนต์สำหรับสายธุรกิจ ซึ่งถ้าเป็นการคิดเรื่องการทำคอนเทนต์แบบ Publisher นั้นก็จะมีมุมมองบางอย่างที่ต่างออกไปบ้างนะครับ

สามารถฟังแบบ Podcast ได้

1. การลดลงของคอนเทนต์สเกลใหญ่

เพื่อนในวงการโฆษณาผมหลายคนบ่นอยู่เหมือนกันว่าเดี่ยวนี้ลูกค้าลดการทำ “คอนเทนต์ใหญ่” ลงไปเรื่อยๆ ประเภทหนังใหญ่ที่ต้องโปรดักชั่นแพงๆ แล้วหันไปทำคอนเทนต์สเกลเล็กแต่เน้นความคล่องตัวและใช้งบประมาณไม่เยอะแทน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สอดคล้องกับภูมิทัศน์สื่อและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการเสพสื่อด้วยเหมือนกัน

ต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนหน้านี้ สื่อออนไลน์ยังไม่ดุเดือดมากนัก คอนเซปต์การทำ Hero Content จึงเป็นสิ่งที่หลายคนสนใจเพราะน่าจะสร้าง Impact ได้มากประเภทคนดูหลายสิบล้านวิวจากการไวรัล แต่พอทุกวันนี้คอนเทนต์มันแข่งกันหนักหน่วง ไม่ว่าจะในบรรดาธุรกิจด้วยกัน หรือบรรดา Creator ต่างๆ ที่ก็มีคอนเทนต์อีกมากมาย ทำให้วันนี้เราจะคาดหวังคอนเทนต์ที่จะ “ดังเป็นพลุแตก” นั้นยากมากๆ

พอความเป็นไปได้น้อยลง มันก็แปรผันกับการลงทุน จนทำให้หลายๆ คนเริ่มที่จะลดสเกลงาน Hero ลง คืออาจจะยังทำอยู่ไม่ใช่สเกลที่ใช้เงินเยอะเท่าสมัยก่อน บ้างก็หันไปจ้างโปรดักชั่นที่ถูกลง สเกลเล็ก เน้นไอเดียมากกว่าเน้นสเกลของโปรดักชั่น (ซึ่งทำให้เราเห็นบรรดาเฮ้าส์เล็กๆ หรือฟรีแลนซ์รับถ่าย / ตัดต่อมากขึ้น)

จุดนี้เองอีกจะเป็นปัญหากับธุรกิจโฆษณาซึ่งแต่ก่อนจะมีแคมเปญใหญ่กันอยู่เรื่อยๆ และได้งบประมาณมาค่อนข้างเยอะ โดยตอนนี้อาจจะมีแคมเปญใหญ่น้อยลง และงานถูกแบ่งไปให้กับเอเยนซี่เล็กที่ทำงานคล่องตัวและใช้ต้นทุนไม่เยอะแทน ซึ่งก็ต้องดูว่าบรรดาคนที่เกี่ยวข้องจะปรับตัวกันอย่างไรต่อไป

2. การทำ Dynamic Content ตามแพลตฟอร์มต่างๆ 

อันนี้เป็นเทรนด์ที่พูดไปก่อนหน้านี้ในแล้ว Marketing 2020 แต่ขอหยิบมาอธิบายเพิ่มเติมเสียหน่อยว่า พอเรากำลังอยู่ในยุคที่มีสื่อที่เป็น Static (เช่นสื่อเก่าที่อยู่ในลักษณะ Broadcast และเป็น Fixed Position) และสื่อที่เป็น Dynamic (มีความหลากหลายของ Target / Position / Size / Context) มันเลยเป็นโจทย์ไม่ง่ายของการทำคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์มแม้ว่าจะเป็นพูดกันอยู่บนแคมเปญเดียวกันก็ตาม

ถ้าจะให้เห็นภาพนั้น สมัยก่อนเราจะใช้การทำคอนเทนต์ประเภทเอา Artwotk 1 ชิ้นมาแล้วก็ลงในทุกช่องทาง อย่างมากก็จะมีการปรับ Size ให้เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์มแต่ก็ยังอยู่บนกรอบของ Artwork เดิมอยู่ ตัวอย่างเช่นการทำ Square Video จากตัว Video เดิมที่เป็น 16:9

แต่เมื่อความ Dynamic ของตัวสื่อมันเพิ่มขึ้น มันถึงจะไม่ใช่แค่การ Resize / Optimize กันในเรื่องขนาดเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของ Context อื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นลักษณะของคอนเทนต์ในแต่ละแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนกัน เช่นคอนเทนต์บน Instagram จะมีลักษณะเป็น Inspiration มากกว่าเป็น Formal / Direct Message ในขณะที่ Twitter ก็จะเป็น Bite-size Content / Conversation Content เรียกได้ว่าแต่ละสื่อก็จะมีความหลากลายในการนำเสนอ คาแรคเตอร์ของคอนเทนต์ที่แตกต่างออกไป

ตรงนี้เองอาจจะเป็นโจทย์หินของคนทำ Content Strategy ที่ต้องวิเคราะห์และตีให้แตกถึงความแตกต่างในแต่ละบริบทของการสื่อสารที่จะซับซ้อนมากขึ้น คนทำงาน Media Planning ก็ต้องทำงานร่วมกับ Creative ในการดูทั้งเรื่อง Media Space และ Media Audience ที่จะเชื่อมกันไปด้วย ซึ่งนั่นก็จะเป็นสิ่งที่สอดคล้องไปกับคอนเซปต์เรื่อง Personalization นั่นเอง

3. การขยายสเกลการทำคอนเทนต์เพื่อรับ Dynamic Content

สิ่งที่จะต่อเนื่องมาจากแนวโน้มที่แล้ว ก็คือการที่บริษัทหลายๆ แห่งก็จะเริ่มมองหาวิธีการทำงานเพื่อให้ได้ปริมาณคอนเทนต์ที่มากพอสำหรับทุกๆ ช่องทาง ซึ่งก็จะกลายเป็นโจทย์โยนกลับไปที่ทีม Marketing Communication / Agency ว่าจะสามารถหาวิธีการแบบไหนมาสามารถผลิตคอนเทนต์ได้ทัน

ตัวอย่างเช่นการตัดวีดีโอสำหรับ Bumper Ad บน YouTube ที่ถ้านั่งตัดกันเป็นคลิปๆ ก็คงใช้เวลากันหลายวัน ซึ่งก็สามารถใช้เครื่องมือของ Google อย่าง Bumper Machine ในการช่วยตัดและสร้าง Creative ได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ Google Search Ad ที่ก็สามารถสร้างรูปแบบของโฆษณาได้หลากหลายโดยใช้ AI มาช่วยประมวลผล

ที่พูดมานี้จะเห็นว่าเป็นการใช้ Marketing Tech / Creative Tech มาช่วยทำให้สเกลการทำงานคอนเทนต์นั้นเร็วขึ้น คล่องตัวมากขึ้น และผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นเพื่อรับกับความ Dynamic ที่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลอยู่คือการหาจุดสมดุลของหลายๆ ธุรกิจเนื่องจากการขยายสเกลการทำคอนเทนต์นั้นก็มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่นจำนวนคน จำนวนเทคโนโลยีที่จะลงไป แล้วก็จะถูกตั้งคำถามกลับว่าแล้วมันจะคุ้มกับการลงทุนหรือเปล่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ตามมา

ตัวอย่างเช่นหลายๆ ธุรกิจอาจจะคิดเรื่องการทำ YouTube Channel ให้มีคนตามมากขึ้นเยอะๆ ต้องผลิตคอนเทนต์เยอะๆ หรือหาวิธีทำคอนเทนต์บน Facebook ให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่มันก็มาพร้อมกับต้นทุนที่ต่างไปจากการโพสต์ปรกติ (หรือความถี่เดิม) ซึ่งเราก็อาจจะต้องมาประเมินว่าผลที่ได้ทางธุรกิจต่อจากนั้นมันคุ้มค่าหรือไม่อย่างไรนั่นเอง

4. การทำ In-House Content Production

ก็ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ต่อเนื่องเหมือนกัน เพราะหลายๆ แบรนด์เองก็เริ่มเรียนรู้ว่าการทำงานผ่านเอเยนซี่นั้นก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่ด้วยโลกปัจจุบันมันเน้นความรวดเร็ว คล่องตัว และหลายๆ อย่างเรียกว่าเป็นการทำงานแบบ Real-time / Reaction ซึ่งจะมาทำงานตาม Scope of Work แบบวิธีการทำงานเดิมๆ ไม่ได้

หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มมีการแบ่งงานบางส่วนออกมาทำด้วยตัวเอง เช่นอาจจะยังมีจ้างเอเยนซี่ทำคอนเทนต์บางอย่างไป แต่หลายคอนเทนต์ก็เลือกจะผลิตกันด้วยทีมงานภายในบริษัท เราจะเห็นการจ้างทีม Creative / Production เข้าสู่องค์กรมากขึ้น (ทั้งที่สมัยก่อนอาจจะเป็นฝ่ายเอเยนซี่แทน)

เรื่องนี้เองผมก็เคยคิดและแลกเปลี่ยนกับคนในวงการเหมือนกันว่าเราอาจจะถึงจุดที่ต้องมี Content Producer / Strategist / Creator กันในออฟฟิศแบบจริงจังถ้าจะสามารถพัฒนาให้การทำคอนเทนต์เป็น Competitive Advantage ของแบรนด์ได้

5. การสร้าง Cutting Edge Branding / Creative ให้คอนเทนต์

ในการแข่งขันของคอนเทนต์ที่ต่างก็พยายามแย่งคนดูกัน (บางคนจะเรียกว่า Attention War / Economy) การพยายามหาจุดเด่นหรือจุดที่ทำให้คนจดจำได้ก็เป็นความท้าทายมากๆ ยิ่งการทำคอนเทนต์จะดุเดือดหนักขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเห็นคนพยายามปั้มคอนเทนต์ออกมาแข่งกัน

ทีนี้ถ้าเรามีเนื้อหาหรือเรื่องของคอนเทนต์ที่แตกต่าง เป็นจุดขาย และยากที่คนจะก๊อปปี้ไปได้มันก็เป็นเรื่องที่น่าจะโอเคอยู่ เพราะเรียกว่าขายกันด้วย “เนื้อหา” เป็นหลัก แต่ถ้าเนื้อหาเราก็ละม้ายคล้ายคนอื่นแล้ว การจะหา Branding หรือการเพิ่มไอเดียบางอย่างให้คอนเทนต์ของเราโดดเด่นและเป็นที่ต้องตาของคนก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ไม่น้อย

ลองคิดกันง่ายๆ ว่าถ้าวันนี้เราไปดูเพจด้านการลงทุนของธนาคารต่างๆ นั้น จะเห็นว่าตัวข้อมูลนั้นแทบจะเหมือนกัน แถมตัว Creative / Branding ที่ใส่ลงมาก็ไม่ได้เกิดผลที่ทำให้ “แตกต่าง” อะไรขนาดนั้น ประเภทว่าถ้าเปลี่ยนสี CI ปุ๊ปก็สามารถกลายเป็นอีกแบรนด์ได้แล้ว

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ทีมคอนเทนต์เองก็อาจจะต้องมานั่งระดมสมองกันว่าจะหาความแตกต่างจากคนอื่นๆ ได้ด้วยอะไรบ้าง จะด้วยเนื้อหา ความถี่ ความสม่ำเสมอ รูปลักษณ์การนำเสนอ รูปแบบของสื่อ ฯลฯ แต่นั่นก็คือการหาตัวตนและ “แบรนด์” ของคอนเทนต์ให้ชัดให้ได้ ไม่อย่างนั้นคอนเทนต์ของเราก็อาจจะเป็นคอนเทนต์ทั่วๆ ไปที่ใครก็เห็นผ่านตาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจหรือชายตามองนั่นเอง

6. ความยุ่งยากในการบริหารคอนเทนต์ผ่าน Paid –  Owned – Owned – Paid Earned Media

การทำงานคอนเทนต์วันนี้นอกจากจะเจอความหลากหลายเรื่องสื่อแล้ว ตัวภูมิทัศน์ว่าด้วย Paid – Owned – Earned ก็ดูจะวุ่นกว่าเดิมเพราะเราก็เรียนรู้กันแล้วว่าการจะทำคอนเทนต์ในแต่ละสื่อนั่นไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ความแตกต่างของบริบทสื่อระหว่าง “โฆษณา” “สื่อของแบรนด์” และ “Influencer” (ถ้าว่ากันตามสื่อที่ใช้กันบ่อยๆ) ทำให้คนทำงานต้องคิดให้รอบคอบว่าจะวางคอนเทนต์และ Message อย่างไรให้เหมาะสม ทั้งตัวเนื้อหาและช่วงเวลา

ถึงจุดนี้เราอาจจะได้เรียนรู้ว่าวิธีการเล่นกับกระแสคอนเทนต์นั้นไม่ได้มีวิธีเดียวประเภทโถมตูมกันตั้งแต่วันเปิดเพื่อหวังให้ใครๆ ก็พูดถึง แต่ยังหมายถึงการรักษากระแสให้มีอยู่เรื่อยๆ เช่นทำอย่างไรให้ Conversation ของแคมเปญยังต่อเนื่องไปหนึ่งอาทิตย์ หนึ่งเดือน

ฉะนั้นการวางแผนและทำงานร่วมกับ Influencer / Publisher จะต้องมีการวางกลยุทธ์ที่ซับซ้อนกว่าเดิม รวมทั้งไม่ใช่การส่งคอนเทนต์แบบเดิมๆ หน้าตาเหมือนๆ กันให้ทุกสื่อแบบแต่ก่อน (หรือการทำงานแบบที่เรียกว่า Broadcasting)

นอกจากนี้แล้ว เราคงอาจจะพูดได้ว่าการทำคอนเทนต์กับกลุ่ม Influener (ที่ผมขอเรียกว่าเป็น Paid-Earned Content) นั้นก็จะยุ่งยากมากกว่าเดิม ด้วยความที่ Influencer มีล้นตลาดและมีความเฉพาะเจาะจงที่ต่างกันไป คนทำงานไม่สามารถทำประหนึ่งว่า Influencer เหล่านี้เป็นป้ายโฆษณาได้อีกต่อไป และในทางกลับกันนั้น Influencer เหล่านี้จะมีส่วนสำคัญมากในการสร้าง Conversational Content (ซึ่งจะพูดต่อไป)

7. Conversational Content

เรื่องของการทำคอนเเทนต์ให้กลายเป็นกระแสหรือบทสนทนานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้ใหม่นักเพราะเอาจริงๆ มันก็มาพร้อมกับ Social Media แต่ไหนแต่ไร แต่เราจะเริ่มเห็นว่าตอนนี้พอคนเริ่มคุ้นเคยกับ Social Media จนกลายเป็นชีวิตประจำวันไปแล้วนั้น เราเลยไม่ได้แค่ “เสพ” เพียงอย่างเดียว แต่เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวเดียวกับเราจะเห็นว่าทุกวันนี้เรื่องราวที่ถูกพูดถึง กลายเป็น Topic ไม่ว่าจะเป็น Trend ต่างๆ บน Facebook / Twitter นั้นจะกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง สร้าง Awareness ได้เยอะ หรือบางทีสามารถกลายเป็นกระแสต่อเนื่องไปหลายวันได้อยู่

ด้วยเหตุนี้ การพยายามสร้างเทรนด์หรือประเด็นให้คนพูดถึงน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของการตลาดในวันที่คนเรามี Social Interaction กันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องยอมรับว่าการสร้างเทรนด์แบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ นัก และมันก็ไม่ได้มีรูปแบบเหมือนกับการทำคอนเทนต์แล้วโยนลงไปในกระแสโดยหวังว่าคนจะเห็นแล้วแชร์ แต่การเกิดเคสอย่าง #ทีมลวก #ทีมไม่ลวก นั้นต้องอาศัยความพอดีของหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับการเข้าจริตของคนออนไลน์พ่วงด้วยแรงหนุนจากคนที่เป็นโต้โผแบบ Topic Generator ด้วยส่วนหนึ่ง

ที่ผ่านมาเราจะเห็นหลายๆ แบรนด์พยายามจัดตั้งเทรนด์แบบนี้ขึ้น แต่ก็จะพบว่ามีไม่กี่งานเท่านั้นที่จะเกิดผลเป็นวงกว้างได้จริงๆ

8. Dilemma of Quality vs Quantity

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคนทำคอนเทนต์วันนี้คือจะทำงานดีๆ ชิ้นหนึ่งแล้วเผยแพร่ออกไป ก็เสี่ยงว่าจะโดนกลบเพราะเจออย่างอื่นเข้ามาเป็นกระแสแทน นั่นทำให้หลายๆ คนเลือกจะกระจายความเสี่ยง เน้นปั้มคอนเทนต์ออกมาเยอะๆ เพื่อหวังจะแย่ง Share of Screen ให้มากขึ้น แต่นั่นก็มาพร้อมกับคุณภาพของคอนเทนต์ที่อาจจะไม่ได้คมหรือดีมากเพราะต้องทอนน้ำหนักไปเน้นที่ปริมาณแทน

พอเป็นแบบนี้ คำถามคือถ้าเราทำงานที่ไม่ได้มีคุณภาพมากแล้วนั้น เราจะยังสามารถสร้าง Impact จากตัวคอนเทนต์ได้หรือเปล่า เพราะมันก็จะกลายเป็นว่าคอนเทนต์จะไม่ได้น่าสนใจเท่ากับการทุ่มเททำงานดีๆ สักชิ้น

อันที่จริงเรื่องนี้มันก็เหมือนกับที่ผมเปรียบบ่อยๆ ว่าการทำคอนเทนต์ก็เหมือนกับต่อยมวย บางคนอาจจะเป็นพวกเก็บแรง ทำหมัดฮุคแรงๆ ไม่กี่หมัด ถ้าทำแล้วโดนทีมันก็เวิร์คไปเลย (แต่ยุคนี้ดูจะโดนหมัดฮุคยากขึ้นกว่าแต่ก่อน) หรือบางคนอาจจะเลือกทำหมัดแย๊ปไปเรื่อยๆ ตอดไปเรื่อยๆ โดนบ้างไม่โดนบ้าง (ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะโดนน้อยกว่าแต่ก่อน) แต่ก็ยังดีที่สร้างความต่อเนื่องได้อยู่

มันคงไม่มีคำตอบที่ระบุได้แน่ชัดว่าควรทำอย่างไร แต่นั่นเป็นความท้าทายที่แบรนด์จะต้องเจอแน่นอนหลักจากนี้ว่าตัวเองจะเลือกไปทางไหน ระหว่างการทำคอนเทนต์ไม่เยอะ แต่เน้นคุณภาพ กับการทำคอนเทนต์แบบปล่อยออกมารัวๆ โดยหวังจะเก็บหอมรอมริบไปเรื่อยๆ ดี ซึ่งสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ต้องไปสัมพันธ์กับผลทางธุรกิจด้วยอีกทีหนึ่งเช่นกัน

9. การหา New Land

คนทำคอนเทนต์หลายคนอาจจะเริ่มเอือมกับแพลตฟอร์มเดิมๆ ที่ตอนนี้ดูจะเลือดสาดในการแย่งคนดู ไม่ว่าจะเป็น Facebook YouTube Instagram จนทำให้หลายๆ คนเริ่มไปหา “ดินแดนใหม่” อย่างเช่น Podcast Twitter TikTok กัน ซึ่งแน่นอนว่าพอมีดินแดนใหม่นั้น มันก็ไม่แปลกที่จะมีช่วงของการลองผิดลองถูก แล้วก็เกิดภาวะ “ตื่นทอง” ที่คนแห่ตามไปในเวลาต่อมา

แน่นอนว่าปี 2020 เราก็คงจะเห็นภาวะดังกล่าวไม่มากก็น้อย จะมีบางสื่อที่เป็นดาวรุ่ง คนแห่กันไปทำคอนเทนต์เพื่อทำแพลตฟอร์มโตและมีฐานคนดูมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกแพลตฟอร์มจะเวิร์คเพราะเราก็เคยเห็นเลยแพลตฟอร์มทำแล้วแป๊ก หรือไม่สามารถโตไปสู่จุดที่เรียกว่า Early Majority (ข้ามกลุ่ม Early Adopter ไป)

ถ้าจะเห็นภาพให้ชัด ก็เช่น TikTok และ Podcast ที่ตอนนี้น่าจะมีคนใช้อยู่หลายแสน หรือหลักล้านคนไปแล้ว แต่มันก็ยังไม่ได้ถึงขั้นที่ “ใครๆ ก็ใช้” เสียทีเดียว ซึ่งก็ต้องดูว่าตัวแพลตฟอร์มและ Creator ในช่องทางนั้นๆ จะสามารถดันให้ “ใครๆ ก็ใช้” และทำให้ New Land ที่ว่านี้กลายเป็นที่นิยมได้ไหม

ทีนี้พอมาพูดถึงในแง่ของแบรนด์แล้วนั้น พอมันมี New Land ขึ้นมาแล้ว แบรนด์ควรจะโดดลงไปหรือเปล่านั้นก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเช่นกัน เพราะถ้ากระโดดลงไปก็ย่อมมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ต้องกลับมาดูเรื่องตัว Strategy และการวิเคราะห์ต่างๆ ว่าควรจะลงไปในสนามรบใหม่นี้กันอย่างไรนั่นเอง

10. Inspire, not Interrupt 

เมื่อเราเริ่มเอียนคอนเทนต์ที่ถูกยัดเยียดเข้ามา (โดยเฉพาะโฆษณา) มากขึ้นเรื่อยๆ เราเองก็คงจะมองหาวิธีในการบล็อกหรือหลีกเลี่ยงมันให้มากที่สุด ซึ่งก็จะเห็นได้จากการพูดถึงบริการ YouTube Premium ที่หลายคนเลือกสมัครเพื่อแก้ปัญหาการเจอโฆษณามากวนใจ

ด้วยเหตุนี้มันอาจจะกลายเป็นโจทย์ว่าการทำโฆษณา / คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ซึ่งมักจะเป็น Native Ad นั้นก็ต้องไม่ควรออกแบบโฆษณาในลักษณะที่ไปกวนหรือก่อความรำคาญคน คอนเซปต์ของการทำ Inspirational Content นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้คอนเทนต์โฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ยังคงมีความ Relevance กับกลุ่มเป้าหมายอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละแบรนด์ก็ต้องไปตีโจทย์กันต่อว่าจะนำเสนอสินค้าของตัวเองแบบ Insapiration นั้นจะทำออกมาในหน้าตาแบบไหน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นกันได้ชัดคือถ้าเป็น Inspirational Content นั้นก็มักจะได้เสียงตอบรับที่ดีจากกลุ่มคนที่เห็นคอนเทนต์ รวมถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวคนเสพคอนเทนต์เองด้วย ฉะนั้นแล้ว นี่ก็อาจจะเป็นหนึ่งเทรนด์การทำคอนเทนต์ที่น่าคิดในปี 2020 ซึ่งคนกำลังเริ่มระอากับโฆษณาและเอ่อล้นไปด้วยคอนเทนต์ที่ตัวเองเสพไม่ทันแล้วนั่นเอง

11. Data Driven Content

ไหนๆ เราก็อยู่ในยุคดิจิทัลกันแล้ว การจะทำงานโดยไม่ใช่เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเรื่อง Data Analytics ก็คงจะไม่เข้าทีนัก ซึ่งการทำคอนเทนต์ก็จะต้องเปิดรับและใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกรวบรวมจากแผนกอื่นๆ ขององค์กรมาใช้ประกอบการคิดงานที่มากขึ้น

เราจะเห็นว่าการทำคอนเทนต์ต่อจากนี้คงไม่ใช่เรื่องของการใช้ Sense ของคนทำคอนเทนต์กันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ข้อมูลต่างๆ มาช่วยในการขัดเกลา ปรับปรุง หรือแม้แต่การประเมินความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากตัวคอนเทนต์ด้วย ซึ่งนั่นคือแกนที่จะเห็นชัดในเรื่องการวัดผลคอนเทนต์ที่ละเอียดขึ้น ลึกขึ้นกว่าเดิม

ในอีกแกนหนึ่งนั้น การทำ Data Driven Content ก็จะมีมากขึ้น กล่าวคือการใช้ข้อมูลต่างๆ มาประมวลผลเพื่อระบุ Insight ต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างชิ้นงาน (หรือที่บางคนอาจจะคุ้นๆ ในการทำ Programmatic Creative) ซึ่งนั่นก็น่าจะช่วยอุดรอยรั่วหรือลับคมให้ตัวคอนเทนต์ที่จะออกมานั้นมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

12. Survival of the Fittest

คงต้องยอมรับกันจริงๆ ว่าสงครามคอนเทนต์ต่อจากนี้จะรุนแรงมากขึ้น แข่งขันกันมากขึ้น ผมได้คุยกับทั้งนักการตลาดและคนทำสื่อหลายคนก็พบว่าต่างรู้สึกเหนื่อยในการแข่งขันแย่งคนดูที่นับวันระอุมากขึ้น แน่นอนว่าทุกคนก็จะต้องคิดเรื่องการเสริมทีม เสริมกำลังในการผลิตคอนเทนต์ให้เหนือกว่าคู่แข่งและแน่นอนว่าถ้าใครที่ไม่พร้อม หรือทำคอนเทนต์ไม่ได้คุณภาพและประสิทธิภาพเพียงพอนั้นก็อาจจะต้องเหนื่อยในเกมธุรกิจเอาได้ง่ายๆ

“อ่อนแอก็แพ้ไป” อาจจะเป็นคำพูดที่ฟังดูง่ายๆ และคุ้นหู แต่คำนี้น่าจะเห็นชัดกับวงการการทำ Content Marketing ที่ตอนนี้ไม่ยุคของการ “บุกเบิก​“ และ “เริ่มทำ” อีกแล้ว แต่เป็นการ “ฆ่าฟัน” เพื่อเหลือผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้นั่นเองแหละครับ