เข้าช่วงปีใหม่แล้ว หลายๆ คนก็คงมองว่าจะให้ปีนี้เป็นปีที่จะได้มีการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองบ้าง หนึ่งในสิ่งที่เรามักพูดกันบ่อยๆ คือ “อยากเก่งขึ้น” “อยากรู้มากกว่า” เพื่อจะได้เป็นบันไดสู่ความสำเร็จได้ ผมเลยลองสรุปๆ แนวคิดส่วนตัวบางอย่างเป็นลิสต์สิ่งที่นักการตลาดดิจิทัลควรทำกันว่ามีอะไรบ้าง และน่าจะเป็นสิ่งที่เราเริ่มทำกันได้ตั้งแต่ต้นปี 2014 นี้เลยนะครับ
1. สร้าง Own (Social) Media ของตัวเอง
เราอยู่ในยุคของ Social Media แล้ว คงไม่ต้องพูดกันมากเรื่องของการสร้าง Own Media ที่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่เห็นกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ (ที่คุณกำลังอ่านอยู่ก็ใช่) การสร้าง Facebook Page การทำ Pinterest Board และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราพูดกันมาสักพักจนเรื่องเหล่านี้เข้าสู่ระดับ Critical Mass แล้ว
แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าเวลาผมไปบรรยายให้นักการตลาดออนไลน์ (รวมทั้งนักการตลาดปรกติด้วย) กลับมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เคยมี Facebook Page ของตัวเอง ไม่เคยเขียนบล็อก บ้างก็ยังไม่มี Twitter Account เลยด้วยซ้ำ
ผมมักพูดเสมอว่าถ้าคุณจะเป็นนักการตลาดดิจิทัลที่เก่ง (แม้ว่าผมจะไม่เคยเรียนการตลาดมาเลยก็เหอะ) มันจำเป็นมากที่คุณจะต้องเข้าใจและรู้จักดิจิทัลอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่รู้จักจากการอ่านหรือฟังๆ เขามาเฉยๆ ผมมักมีคำถามกับทีมงานที่ออฟฟิศบ่อยๆ ว่าเราจะไปบริหาร Facebook Page คนอื่นกันได้ยังไงถ้าเรายังไม่เคยเปิด Facebook Page ของตัวเอง ไม่เคยเล่นและเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร มีกลไกอย่างไร
เชื่อผมเถอะว่าการบริหาร Own Media จะให้ความรู้สึกของการทำงานต่างจากการที่คุณดูแลให้กับแบรนด์หรือลูกค้าของคุณพอสมควร มันจะทำให้คุณเห็นแง่มุมมากมายว่าทำอย่างไรที่เวิร์คและไม่เวิร์ค คุณจะฝึกกระบวนการคิดคอนเทนต์ต่างไปจากเดิม (เหมือนที่ผมฝึกทุกวันกับการเขียนบล็อกนี้และอีกหลายๆ บล็อกของผม)
นอกจากนี้แล้ว มันน่าจะถึงเวลาที่คุณซี่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักการตลาดดิจิทัลจะสร้างเวทีให้ตัวคุณได้มีโอกาสแสดงฝีมือให้คนอื่นเห็นแล้วด้วย
หมายเหตุ: ถ้าคุณมีแล้วแต่ไม่ได้อัพเดทเลยมาหลายเดือน อันนั้นก็ไม่นับนะครับ ^^”
2. ลองใช้ Social Media อื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเดิมๆ เช่นเดียวกับแอพใหม่ๆ
เวลาเราพูดถึง Social Media คนก็มักพูดถึงแต่ Facebook Twitter Youtube Instagram กัน คำถามที่ผมมักถามตอนไปบรรยายเรื่อง Social Media คือคุณมี Social Media อยู่กี่อย่าง?
คนส่วนมากมักตอบอยู่ราวๆ 6-7 อย่าง อันได้แก่ Facebook Twitter Instagram YouTube LINE Whatsapp Pinterest
ส่วนผม เฉพาะใน iPhone ของผมนั้น ผมมีแอพ Social Media 40 แอพครับ!!!
ฟังเหมือนเรื่องตลก แต่เพราะการที่ผมทำ DigiLife ทำให้ผมมีโอกาสได้ลองเล่น Social Media ใหม่ๆ อยู่แทบทุกอาทิตย์ ซึ่งแต่ละ Social Media ก็จะมีเอกลักษณ์ของมัน มีคอนเทนต์เฉพาะที่แตกต่างออกไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมได้เข้าใจมิติของ Social Media ที่มากกว่า Facebook Twitter แถมยังเห็นพฤติกรรมและเงื่อนไขของผู้ใช้งานที่แตกต่างกันออกไปด้วย
นั่นยังไม่รวมกับบรรดาแอพต่างๆ ที่ผมโหลดใส่ iPhone / iPad / LG G2 ของผมอีกหลายร้อยแอพ (ไม่ได้อ่านผิดครับ หลายร้อย!! ทุกอาทิตย์ผมจะโหลดแอพใหม่ๆ อย่างน้อย 8 แอพตั้งแต่ทำ DigiLife มาตอนนี้ก็เกิน 100 อาทิตย์แล้ว)
หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องพวกนี้มันไร้สาระหรือฟุ่มเฟือย แต่ผมมองว่าการได้ลองเล่นแอพเหล่านี้ทำให้เราเห็นข้อดีข้อเสียของแอพต่างๆ มากมาย ได้รู้ว่าแอพที่ดีเขาดีไซน์กันอย่างไร บางแอพเนื้อหาดีแต่มีปัญหาเรื่องการนำเสนอ หรือเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่เวิร์ค
ซึ่งพอคุณเล่นมากไปเรื่อยๆ แล้ว ถึงจุดหนึ่งคุณจะมองได้อย่างรวดเร็วว่าจุดแข็งและจุดอ่อนของแอพเหล่านี้คืออะไร ทำไมมันถึงดัง และอะไรคือเหตุผลที่มันจะแป๊ก
และนั่นคือมุมมองที่จะไปช่วยการตลาดคุณอย่างไรล่ะครับ
3. ลอง Technology ใหม่ๆ ถ้ามีโอกาส
เทรนด์เทคโนโลยีล้วนบอกกันไปในทางเดียวกันว่า Wearable Device มาแน่ๆ แล้วนักการตลาดรวมทั้งบล็อกเกอร์ก็พากันพูดเหมือนกัน แน่นอนว่าอุปกรณ์สุดไฮเทคอย่าง Google Glass Smart Watch อย่าง Pebble หรือพวก Tracking อย่าง Jawbone Up เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจ
แต่เคยได้ลองกันหรือยังครับ?
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพูดเช่นเดียวกับสองข้อแรก คือมันมีความต่างกันระหว่างคุณรู้ว่ามันคืออะไร กับคุณได้สัมผัสประสบการณ์กับมันด้วยตัวเองเพื่อจะรู้ว่ามันเป็นอะไร คนประเภทหลังจะเข้าใจพฤติกรรมการใช้งาน รวมทั้งมองเห็นโอกาสได้ต่างจากคนประเภทแรกอยู่พอสมควร ฉะนั้นแล้ว ถ้ามีโอกาส ลองหาซื้อหรือได้ลองใช้อุปกรณ์เหล่านี้ดูครับ แล้วคุณจะได้เข้าใจว่า Wearable Technology ที่ว่าคืออะไรกัน
นั่นยังไม่รวมพวกเทคโนโลยีล้ำๆ อย่างพวก Motion Control เช่น LEAP Motion ที่สร้างความฮือฮาอยู่พอสมควร (แต่ทุกวันนี้หลายคนก็ยังไม่เคยเล่นทั้งที่ราคาจำหน่ายไม่ได้แพง แถมสั่งซื้อง่ายอีกต่างหาก)
นอกจากนี้แล้ว มันจำเป็นมากที่คุณต้องลองประสบการณ์ดิจิทัลอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บพวก eBay Amazon หรือไปลองระดมทุนใน Kickstarter เป็นต้น เพราะนั่นคือเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคดิจิทัลในอนาคต
พอจบปี 2014 แล้วอย่ามาบอกกันนะครับว่ายังไม่ได้ลองเลยสักอย่าง
4. ทำ Reading List สำหรับหนังสือหรือบล็อกการตลาดซะ
หนึ่งในพฤติกรรมที่ผมเชื่อว่าทำให้ผมประสบความสำเร็จในวันนี้ได้คือการอ่าน (ต้องขอบคุณแม่ที่ปลูกฝังนิสัยนี้ตั้งแต่เด็ก) ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายกันเยอะว่าการอ่านให้ประโยชน์อะไรกับเราบ้าง แต่ก็น่าแปลกเช่นกันที่นักการตลาดจำนวนมากไม่ได้สนใจจะอ่านและเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองเสียเท่าไร
ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลหรือเรื่องที่เกี่ยวโยงกันอย่างการให้บริการลูกค้า พฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ ฯลน โดยเฉลี่ยอาทิตย์ล่ะเล่ม
นั่นเฉพาะหนังสือนะครับ ไม่นับบรรดา Marketing Blog ต่างประเทศที่ผมจะใช้เวลาอ่านช่วงเช้าประมาณ 30-40 บล็อกเป็นอย่างน้อยต่อวัน
ที่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเพราะผมเชื่อว่าการตลาดดิจิทัลเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่และมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา หนังสือตำราเก่าๆ ที่เราอ่านกันมานั้นหลายเล่มแทบจะต้องรื้อทฤษฏีกันใหม่ หนังสือเล่มใหม่ๆ ที่ออกมาก็เป็นการเขียนแนวคิดที่บ้างก็หักล้างวิธีคิดเดิมๆ ไปเลยก็มี ฉะนั้นแล้ว มันจำเป็นมากที่คุณจะต้องเปิดมุมมองความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ เข้าไป
หลายคนอาจจะถามว่าอ่านบล็อกแล้วพอไหม? ผมให้ความเห็นว่าพอ ถ้าคุณอ่านบล็อกจากหลากหลาย Source และในปริมาณที่ “มากจริงๆ”
ทั้งนี้เพราะหนังสือมีความต่างจากบล็อกพอสมควร หนังสือมีการขัดเกลาและลับความคิดมามากระดับหนึ่งก่อนที่จะตีพิมพ์ (การเขียนหนังสือหนามากกว่าร้อยหน้านั้นต้องใช้ความพยายามและการตกผลึกทางความคิดมากกว่าเขียนบล็อกความยาว 1 หน้า A4 เยอะมาก) ฉะนั้น การอ่านหนังสือการตลาดเล่มใหม่ๆ จะเป็นการปูความคิดที่ผ่านการคัดกรองมาแล้วพอสมควร
ส่วนตัวผมแล้ว ผมจะมีการทำ Reading List ทั้ง Daily (Blog) / Weekly (Book) / Monthly (Book / Report) ซึ่งจะพยายามเคร่งครัดให้ได้ครบหมด (โดยปรกติจะทำได้ประมาณ 80%)
ถ้าคุณไม่รู้ว่าเล่มไหนน่าอ่านบ้าง ลองแวะไปที่ Rebook.in.th ก็ได้นะครับ
5. หาแรงบันดาลใจดีๆ
สิ่งสุดท้ายที่ผมมักทำบ่อยๆ คือการหาพวกคลิปวีดีโอจากนักพูดดังๆ นักคิดเก่งๆ มาดูเพื่อศึกษาวิธีคิดและวิธีนำเสนอความคิดเหล่านั้น ตัวอย่างที่ดีมากคือวีดีโอใน TED ที่คุณดูทุกวันก็ยังยากที่จะดูหมด (ทุกวันนี้ผมจะดูเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 คลิป) ซึ่งใน TED เองก็มีการพูดเรื่อง Digital Marketing หรือ Social Media เยอะเหมือนกัน และก็เป็นวัตถุดิบให้คุณเอาไปคิดอะไรต่อได้อีกเยอะทีเดียว
นอกจากใน TED แล้ว ทุกวันนี้ยังมีพวก Speech หรือ Presentation อีกเยอะมากที่ถูกเผยแพร่บน YouTube และคุณควรหาเวลาสัก 10-20 นาทีต่ออาทิตย์นั่งดูให้เกิดแรงบันดาลใจอยู่สม่ำเสมอ
5 ข้อนี้อาจจะเป็นอะไรที่แปลกประหลาดอยู่เสียหน่อย แต่ส่วนตัวผมแล้ว ทั้ง 5 ข้อคือสิ่งที่ทำให้ผมก้าวมาถึงทุกวันนี้ มันเป็นวิธีที่แตกต่างจากคนทั่วๆ ไปที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่ไม่น้อย แต่ก็นั่นแหละครับ มันทำให้ผมแตกต่างและประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้
ลองทำดูแล้วได้ผลอย่างไร ก็มาเล่าสู่กันฟังได้นะครับ ^^
ภาพจาก: Mashable.com