หนึ่งในทักษะที่ถูกยกว่าสำคัญในปัจจุบันและอนาคตก็คือ Complex Problem Solving ที่ในรายงานต่าง ๆ ก็จะระบุว่าคนทำงานควรจะมีกัน ซึ่งนั่นก็แยกไปจากการคิดแบบสร้างสรรค์ (Creative) และการคิดวิเคราะห์ (Analytic) และน่าคิดไม่น้อยว่าทักษะนี้ไม่เหมือนกับ Problem Solving แบบที่เราคุ้น ๆ กัน
ในบรรดาหนังสือที่ผมอ่านมาเกี่ยวกับการทักษะการคิดแก้ปัญหานั้น ส่วนใหญ่ก็จะพูดไปในทางเรื่องของ Creative Problem Solving ไม่ก็ Strategic Thinking กันเสียส่วนใหญ่โดยไม่ค่อยเห็นการพูดเรื่อง Complex Problem Solving กันอย่างชัดเจนมากนัก ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะหากเรามาคิดกันจริง ๆ แล้วจะพบว่า Complex Problem Solving เป็นทักษะที่เพิ่งเริ่มมาเห็นชัดและมีบทบาทมากขึ้นก็ในโลกปัจจุบันนั่นเอง
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ Complex Problem Solving นั้นก็เกิดจากการที่เรามี Complex Problem โดยไม่ใช่แค่ Simple Problem / Complicated Problem แบบแต่ก่อน ที่ผ่านมานั้นเราจะเห็นว่าปัญหาหลาย ๆ อย่างรอบตัวเราอยู่ในลักษะของการที่มีรูปแบบ (Pattern) หรือไม่ก็มีตัวแปรต่าง ๆ ที่เรารู้จักและควบคุมได้ (Controlled Factors) แต่นั่นต่างออกจากโลกปัจจุบันที่มีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ขนาดตัวแปรอย่างพฤติกรรมคนเองก็ซับซ้อนกว่าเดิมดังที่จะเห็นว่าธุรกิจไม่สามารถใช้แค่ข้อมูล Demographic มาเข้าถึงลูกค้าได้ต่อไป รูปแบบการเสพสื่อมีขั้นตอนและตัวเลือกมากขึ้น การซื้อของต่าง ๆ มีทางเลือกกว่าแต่ก่อนจนทำให้การจะแก้ปัญหาว่า “ทำอย่างไรให้ยอดขายขึ้น” ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยเดิม

โลกกำลังเข้าสู่การเป็นโลกที่ยุ่งเหยิง (Complex World) เป็นคำพูดที่ไม่ได้ไกลเกินจริง และนั่นทำให้ปัญหาของธุรกิจต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นปัญหาที่เข้าสู่ Complex Problem มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องการการตลาด การขาย การดำเนินงาน การจัดการต่าง ๆ เอาแค่เรื่องพนักงานในองค์กรก็เจอความหลากหลายที่ต่างไปจากเดิมและนั่นทำให้แนวคิดเดิมอาจจะไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพอีกต่อไป
นี่เองที่ทำให้ Complex Problem Solving กลายเป็นทักษะที่ถูกหยิบมาพูด และนั่นต่างจาก Problem Solving เดิมที่เราคุ้น ๆ กันเพราะมันกำลังสะท้อนว่าวิธีการคิดแบบว่าทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ 1-2-3 นั้นจะไม่ได้เวิร์คแบบแต่ก่อนแล้ว
แต่ก็นั่นเองที่ Complex Problem Solving อาจจะเจอโจทย์ใหญ่ว่าคนทั่วไปไม่ได้มีทักษะนี้เท่าไรนัก เพราะเราถูกปลูกฝังกันมาในลักษณะของการแก้ปัญหาแบบ How-to คือมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ปูไว้แล้ว ตำราธุรกิจต่าง ๆ มี Fraemwork และขั้นตอนกำกับไว้เป็นแบบแผน ไหนกับข้อสอบต่าง ๆ ในวิชาเรียนก็เป็นข้อสอบที่ตีกรอบให้เราโฟกัสกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเป็นสำคัญจนทำให้เราคิดว่าเราชำนาญวิธีการแก้ปีญหานี้แล้วในขณะที่โลกข้างนอกนั้นไม่ได้ถูกเขียนโจทย์แบบควบคุมตัวแปรและขีดให้ใช้วิธีการนี้แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวแต่อย่างใด
ตัวอย่างที่ผมยกบ่อย ๆ ในการอธิบายเรื่องนี้คือเราถูกสอนมาในลักษณะว่าถ้าป่วยเป็นโรคนี้ ก็รักษาแบบนี้ ใช้ยาแบบนี้ แล้วก็จบ แต่ในชีวิตจริงของเรานั้นไม่ได้ป่วยกันด้วยโรคเดียว แต่เราอาจจะป่วยหลายโรคพร้อม ๆ กัน แถมแต่ละคนก็ดันมีเงื่อนไขทางร่างกายที่แตกต่างกัน มีความดัน ไขมัน สุขภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งพอมันทับซ้อนกันสุด ๆ ก็เลยจะไม่ได้แก้กันแบบง่าย ๆ เหมือนตอนสอบ
นอกจากนี้แล้ว ในโลกจริงของเรานั้นก็ดันถูกล้อมรอบไว้ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำทุกอย่างแทนเรา ทำให้ทุกอย่างมันง่าย (Simplified) จนทำให้สถานการณ์ที่จะฝึกให้เราคิดเรื่อง Complex Problem นั้นไม่ได้เกิดขึ้น เราถูกเทคโนโลยีสปอยความคิดจนกลายเป็นประเภทที่คิดอะไรรวบตึง มองว่าทุกอย่างมันควรจะง่าย แก้ไขได้ด้วยสูตรสำเร็จไปเสีย
นั่นเลยเป็นเรื่องน่าห่วงไม่น้อยว่าเราจะสามารถพัฒนาทักษะ Complex Problem Solving กันได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ เราจะปลูกฝังและฝึกฝนวิธีคิดแบบ Complex Problem Solving ได้อย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ธุรกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับเหล่าผู้บริหารที่ต้องเป็นคนตัดสินใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่ประดังเข้ามา
ก็เป็นเรื่องน่าคิดที่ฝากเอาไว้ให้กับองค์กรต่าง ๆ แล้วกันนะครับ