การเป็นคนละเอียด ไม่ได้ต้องเป็นคน Micromanagement
"การเป็นคนละเอียดกับลงไปจัดการในทุกรายละเอียด เป็นคนละเรื่องกันนะครับ"
นั่นเป็นคำแนะนำหนึ่งที่ผมเคยพูดกับเจ้าของธุรกิจคนหนึ่งที่มาเรียนที่ dots academy หลังจากเราพูดคุยกันถึงวิธีการบริหารจัดการต่าง ๆ ซึ่งเขาบอกว่าตอนนี้บริษัทมีปัญหา ด้วยการที่เขาเองก็หงุดหงิดเวลาเห็นอะไรไม่ได้ดั่งใจ และทีมงานก็ทำไม่ได้ดั่งใจ เลยต้องลงไปสั่ง ไปกำกับมัน แล้วทีมงานก็รู้สึกอึดอัดกัน
เชื่อว่าสถานการณ์คงเกิดขึ้นกันอีกในหลาย ๆ บริษัทเพราะกรณีของ Micromanagement นั้นเป็นหนึ่งในปัญหาที่ถูกพูดถึงกันบ่อย ๆ ว่าพนักงานรู้สึกไม่ดี บ้างก็กลายเป็นความกดดันจนบางคนโบกมือบ้ายบายเพราะรู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่ได้ทำอะไรเอง คิดเองไม่ได้ กลายเป็นหุ่นยนต์ตามคำสั่งเจ้านายเสียอย่างนั้น
เวลาเราอธิบายเรื่องนี้ เราเลยต้องแยกให้ออกก่อนว่าการเป็นคนใส่ใจในรายละเอียด (Detailed) กับการเข้าไปจัดการ (Management) ไม่ใช่เรื่องที่เดียวกัน พร้อมต้องตั้ง Mindset กันให้ถูกว่าทั้งสองอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่าทันและหาวิธีที่สมดุลเพื่อให้การทำงานนั้นขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี
คิดกันแบบง่าย ๆ คือการลงรายละเอียดนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะดีอยู่แล้ว เพราะทำให้เราเห็นจุดที่อาจจะเป็นอันตราย จุดที่ต้องระวัง แล้วก็อุดรอยรั่วมันเสีย หรือเราเห็นมุมที่สามารถสร้างโอกาสที่ดี สร้างประสบการณ์ดี ๆ ให้กับลูกค้า สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกเพื่อความสมบูรณ์แบบ ซึ่งแน่นอนว่าการมีสายตาที่ละเอียดนั้นดูจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากเราต้องการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น
แต่การบริหารจัดการนั้นไม่ได้แปลว่าคนที่มองเห็นจะต้องลงไปทำเอง ไปกำกับมันเสียทุกเรื่องเสมอไป หากแต่เรารู้ว่าปลายทางคืออยากให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แล้วเราต้องรู้วิธีการนำความคิด พัฒนาคนทำงานให้สามารถคิด วางแผน และแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ที่เราละเอียดนั้นให้ดีขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะดีมากคือการพัฒนาให้คนทำงานสามารถมีสายตาที่ละเอียดแบบเราได้นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เวลาทำงานจริงเราก็มักจะเจอกับการอดใจไม่ได้ ไม่ทันใจของเหล่าผู้บริหารเนี่ยแหละ จนต้องขอไป "ลงมือทำเอง" หรือไม่ก็ "กำกับทุกขั้นตอน" จนเอาคนทำงานไม่ได้คิดอะไรด้วยตัวเองไปเสีย ซึ่งหากมองในมุมหนึ่งมันคือโมเมนต์ที่ความละเอียดทำงานเกินพอดี กลายเป็นเพอร์เฟคชั่นนิสต์แล้วแสดงออกในพฤติกรรมที่ทุกอย่างต้องได้ตามที่วาดไว้จนนำมาสู่การพยายามควบคุมทุกอย่างโดยไม่ปล่อยให้อะไรอยู่นอกการควบคุมของตัวเอง (และหมดนี่ผมขอไม่พูดถึงประเด็นการบ้าอำนาจของหัวหน้า ซึ่งจะเป็นอีกเรื่องนะครับ)
ด้วยเหตุนี้เอง การรู้เท่าทัน "ความละเอียด" ในตัวเราเช่นเดียวกับการมองเห็นสไตล์การบริหารจัดการตัวเองของผู้บริหาร / หัวหน้างานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราก็มักจะแนะนำให้ลองปรับวิธีการต่าง ๆ เช่น
1. การสื่อสารเรื่องเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ทีมงานไม่สับสน
2. การวางแผนและเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับทีมงาน
3. การเลือกกระจายงานให้เหมาะสมกับความสามารถ
4. การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการบรีฟงาน ให้คอมเมนต์
5. การเปิดใจที่จะยอมรับความผิดพลาดเพื่้อนำไปสู่การเรียนรู้พัฒนา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนจะช่วยให้ทีมงานค่อย ๆ เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการทำงานร่วมกับหัวหน้าที่มีความละเอียดได้ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลงไป Micromanagement มันเสียทุกเรื่องนั่นเองล่ะครับ
Comments