ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ "การสรุป" และสิ่งที่ควรจะเป็น
- สรุปไม่ได้แปลว่าต้องสั้น หรือต้องซอยเป็นประเด็นย่อย ๆ -
การทำคอนเทนต์สรุปเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่เราเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสรุปหนังสือ สรุป Podcast สรุปการบรรยาย หรือสรุปเซสชั่นในงานต่าง ๆ
ประเด็นหนึ่งที่มีเพื่อนผมเองเริ่มพูดกันบ่อยมากขึ้น คือคอนเทนต์สรุปหลายชิ้นอ่านแล้วสับสน ไม่รู้เรื่อง หลายชิ้นเยอะจนจับประเด็นไม่ได้ว่าเนื้อหาคืออะไรกันแน่
เอาจริง ๆ เรื่องนี้ก็มองได้หลายมุมว่าคอนเทนต์สรุปนั้นเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ยอดฮิตของโลกโซเชียลไปแล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีคนทำเยอะขึ้นมาก หลายครั้งที่การสรุปเป็นการแข่งกับเวลาว่าใครจะสรุปเร็วกว่ากัน เช่นสรุปงานอีเวนท์ต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็จะเห็นว่างานเขียนหลัง ๆ มีการใช้เทคนิคการเขียนที่ออกแนวว Clickbait ให้คนอยากอ่านอยากแชร์ เช่นการใช้จำนวนตัวเลขเยอะ ๆ เข้ามาให้คนอยากรู้ หรือการเขียนแบ่งเป็น Bullet point เยอะ ๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราอาจจะต้องเข้าใจกันเสียหน่อยว่าการสรุปจริง ๆ แล้วนั้นคืออะไรและไม่ใช่อย่างไร เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะได้ "งาน" แต่ไม่ใช่สรุปจริง ๆ ก็ได้
❌1. สรุปไม่ได้แปลว่าต้องสั้นให้สั้นลง
ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยที่สุดคือการคิดว่าการสรุปคือการ “ทำให้สั้นลง” หรือเพียงแค่ตัดข้อมูลบางส่วนออกเพื่อให้ข้อความมีขนาดเล็กลง ในความเป็นจริง การสรุปที่ดีไม่ใช่เพียงการลดขนาดของข้อมูล แต่คือการทำให้ข้อมูลนั้นง่ายต่อการเข้าใจโดยไม่สูญเสียความหมายที่สำคัญ การตัดทอนข้อมูลที่มีความสำคัญออกไปอาจทำให้ผู้อ่านขาดความเข้าใจที่ครบถ้วน ซึ่งอาจนำไปสู่การตีความที่คลาดเคลื่อน ตัดสินใจผิดพลาดได้
❌2. สรุปไม่ใช่การมุ่งที่จะแตกเป็นข้อย่อย
การใช้หัวข้อย่อย หรือการขึ้นประเด็นย่อยเป็นหนึ่งในวิธีการสรุปที่ช่วยทำให้คนอ่านเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นหากเนื่้อหามีความซับซ้อนหรือเชื่อมโยงกันในหลายส่วน แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องพยายามแตกให้กลายเป็นหัวข้อย่อยเยอะ ๆ แต่อย่างใด เราอาจจะพบว่าการสรุปจริง ๆ สามารถทำให้จบอยู่ในย่อหน้าเดียวก็ได้ หรือไม่มีการแบ่งหัวข้อเลยก็ได้หากแต่มันทำให้คนอ่านสามารถเข้าใจประเด็นสำคัญได้
ทั้งนี้ หากเอาใจความสำคัญของการสรุปแล้วนั้น การสรุปที่ดีจะพยายามมุ่งเป้าสำคัญคือ
✅ การเน้นสาระสำคัญและบริบท
ผู้สรุปต้องแยกแยะออกว่าอะไรคือประเด็นสำคัญและบริบทที่เกี่ยวข้อง และอะไรคือรายละเอียดที่สามารถลดทอนหรือตัดออกไปได้ การสรุปที่ดีคือการนำเสนอสาระสำคัญของข้อมูลพร้อมทั้งให้บริบทที่เหมาะสม ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องการอะไร หรือเราควรจะเข้าใจอะไร
✅ การวิเคราะห์ที่ลึกและกระชับ
การสรุปที่ดีไม่ใช่การแค่เอาเนื้อหามาทำให้สั้นลง หลายครั้งที่การสรุปต้องผ่านการวิเคราะห์จากผู้สรุปเพื่อสามารถต่อยอดใจความสำคัญเพื่อเสริมความเข้าใจให้กับผู้อ่านได้ว่าเนื้อหานี้คืออะไร แต่ในขณะเดียวก็ยังต้องรักษาความกระชับและทำให้เข้าใจง่ายอยู่
✅ การให้ "เข้าใจ" ที่มากกว่า "รู้"
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของการสรุปที่ดีคือบทสรุปนั้นไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลกับผู้อ่าน "รับรู้" เท่านั้น แต่ควรจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจของผู้อ่าน ซึ่งหมายความว่าได้รับการอธิบาย ทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร เห็นความเชื่อมโยงและความสำคัญของหัวข้อนั้น ๆ ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่ต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้นั่นเอง
จะเห็นว่าทักษะการสรุปเป็นอีกทักษะที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เรามีข้อมูลมหาศาล หลายครั้งเราเองก็ต้องรู้จัก "สรุป" สิ่งที่เรารับรู้มาเพื่อถ่ายทอดให้กับผู้อื่น หรือแม้แต่กับตัวเราเองที่จะต้องสรุปเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่รู้มาด้วย การมีมุมมองที่ถูกต้องของการสรุปนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามีเข็มทิศที่ดีเมื่อจะสรุปอะไรสักอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์จริง ๆ
เพราะถ้า "สรุป" แต่ "ไม่รู้เรื่อง" มันก็อาจจะไม่ควรถูกเรียกว่าสรุปก็ได้นะครับ
Comments