top of page

ค่าตอบแทนจากการทำงาน – คิดให้ดีๆ ก่อนจะเรียกจากบริษัท

ช่วงนี้ด้วยการที่ผมต้องสัมภาษณ์คนเยอะ รวมทั้งมีการสอบถามจากทั้งคนรู้จักหรือเพื่อนของคนรู้จักเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่เปิดอยู่ ผมเริ่มพบข้อสังเกตบางอย่างจากการพูดคุยเรื่องงาน

เชื่อไหมครับ ว่าคนจำนวนไม่น้อยถามผมว่า “ได้เงินเท่าไร” เป็นคำถามแรก

ผมนั่งสังเกตต่อ ก็พบว่าคนเหล่านี้มักสนใจและต่อรองเงินค่าตอบแทนในการทำงานเป็นอย่างไร ประเภทว่า “ถ้าน้อยกว่านี้ก็ไม่เอา” โดยที่ไม่เคยถามด้วยซ้ำว่างานที่กำลังคุยกันอยู่นั้นคืองานอะไร มีรายละเอียดอะไร และต้องทำอะไร

บางคนเลยเถิดไปถึงขนาดประหนึ่งว่าผมตกปากรักเขาเข้าทำงานแล้วซะงั้น

ที่แอบน่าคิดไปอีกคือหลายคนไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าตัวเองเหมาะสม และควรจะได้ทำงานนั้นหรือเปล่า

ผมนั่งลองวิเคราะห์ดูว่าที่เกิดขึ้นนี้คืออะไร ความมั่นใจ? ทัศนคติการทำงาน หรือว่าอะไร?

ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกครับ ถ้าเราทำงานแล้วเราต้องมีการได้รับผลตอบแทนไม่มากก็น้อยให้สมกับที่ได้ลงแรงไป แต่บางครั้งผลตอบแทนที่ว่าอาจจะไม่ได้กลับมาในรูปแบบของ “เงิน” เสมอไป มันอาจจะตอบแทนกลับมาในรูปแบบของประสบการณ์ที่เรานำไปสร้างรายได้ต่อในอนาคตได้อีกมากมาย

นักเขียนจะสร้างชื่อให้ตัวเองได้ คงไม่มีใครเขียนงานชิ้นแรกด้วยสัญญามูลค่ามหาศาล แต่พวกเขาต้องเริ่มจากการค่อยๆ สะสมประสบการณ์ สะสมงานที่ตีพิมพ์ จนเริ่มมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ ซึ่งพอถึงวันนั้น ผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นตามสิ่งที่เขาควรได้รับ

แต่ดูเหมือนหลายคนจะมองข้ามจุดนี้โดยใช้ “ทางลัด” ขอความสำเร็จทางด้านรายได้แบบเน้นรวดเร็ว

ผมจึงไม่ค่อยแปลกใจที่ผมและเพื่อนหลายๆ คนมักเจอคนที่เรียกค่าตอบแทนสูงมากทั้งที่ตัวเองยังไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่มีได้ผลงานอะไรมาก่อน บางคนไม่เคยทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแต่ก็เรียกเงินเดือนมากเท่ากับคนที่อยู่ตำแหน่งอาวุโสกันเลยทีเดียว

หลายครั้ง ผมก็อดไม่ได้ที่จะถามว่า “ทำไมถึงเรียกเงินเท่านี้”

แน่นอนครับว่าหลายคนก็มีคำตอบที่หลากหลายกันไป และเชื่อว่าหลายๆ คนที่อ่านบทความนี้อยู่ก็คงมีคำตอบที่ต่างไปเช่นกัน

ยอมรับว่าสมัยก่อนช่วงหนึ่งผมก็เคยคิดอะไรทำนองนี้อยู่ แต่ก็มีคนสอนผมว่าการจะเรียกอะไรนั้น ต้องพิจารณาตัวเองเสียก่อน

ที่บอกว่าพิจารณาตัวเองก่อน ไม่ใช่ดูว่าเราต้องใช้เท่าไร แต่ให้ดูก่อนว่าตัวเรามีดีพอที่จะได้เท่าไร

การพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนจากการทำงาน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะคิดแต่ว่าจะได้เพียงอย่างเดียว เราคงต้องคิดอะไรหลายๆ มุม มองให้รอบ มองทั้งสิ่งที่จะทำ มองทั้งตัวเอง ไม่อย่างนั้น เราก็ผิดพลาดตั้งแต่ต้นในการประมาณตัวเองแล้ว

และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็คงไม่ใช่คนเก่งอย่างที่เราคิดว่าเราเก่งหรอกละมั้งครับ :)

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page