top of page

ป่วยออนไลน์ ตอนที่ 1: ภัยเงียบของคนไซเบอร์

เวลาเราพูดถึงอาการป่วยนั้น เรามักนึกถึงอาการป่วยทางกาย ประเภทเจ็บออดๆ แอดๆ ปวดเมื่อย ฯลฯ เมื่อเราโยงอาการป่วยกับการใช้งานอุปกรณ์ดิจิตอลอย่างคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือแล้ว เราก็มักนึกไปถึงกรณีการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือไม่ก็อาการปวดหัวจากการคุยโทรศัพท์มือถือ

แต่จริงๆ แล้วมีอาการป่วยทางใจอีกอย่างหนึ่งที่เราไม่ค่อยนึกถึงกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นอาการป่วยที่น่ากลัวกว่าอาการป่วยทางกายเสียด้วยซ้ำ

ผมเริ่มสนใจการ “ป่วยออนไลน์” มากขึ้นในช่วงหลังๆ เมื่อพบเห็นพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไปในโลกอินเตอร์เนตและในพื้นที่สื่อสังคมอย่าง Facebook Twitter และ YouTube จนกระทั่งผมได้ไปเจอและเริ่มอ่านหนังสือ Virutall You: The Dangerous Powers of the E-Personality ที่เขียนโดย Elias Aboujaoude ซึ่งวิเคราะห์ลงไปในเชิงจิตวิทยาถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการเข้าสู่โลกออนไลน์ของมนุษย์ ตลอดจนด้านมืดบางอย่างที่เราอาจจะไม่เคยสังเกต บางทีนี่อาจจะเป็นหนึ่งในคำอธิบายและให้เราตระหนักถึงการป่วยออนไลน์ที่เราควรรีบรักษาก่อนที่จะสายเกินไป


บุคลิกออนไลน์: ตัวตนเสมือนจริง 

ถ้าเรามองเรื่องของการสร้างบุคลิกของมนุษย์แต่ละคนนั้น เราก็จะพอเห็นได้ว่ามันถูกสร้างและออกแบบจากรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตของแต่ละคน การปะทะและเผชิญหน้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่นการพูดคุยกับคนรอบข้าง การสัมผัสและโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเรียนรู้ขอบเขต กฏ ธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการได้รับบทลงโทษหากกระทำผิด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นขั้นตอนที่ก่อให้เกิดการสร้างพฤติกรรมและบุคลิกภาพของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป

แน่นอนว่าการเกิดปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์นั้น ย่อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบุคลิกภาพอีก “ตัวตนหนึ่ง” ขึ้นมาให้กับผู้ใช้งาน บ้างก็อาจจะเป็นหนึ่งเดียวกับบุคลิกในโลกจริง แต่บ้างก็อาจจะแตกต่างและบิดเพี้ยนไปจากโลกจริงได้เช่นกัน

ทำไมการบิดเพี้ยนของบุคลิกภาพในโลกออนไลน์ถึงเกิดขึ้น? คำตอบอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างเห็นชัดคือการปะทะและรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์นั้นค่อนข้างต่างกัน การสื่อสารทั้งในรูปแบบของการเป็นผู้ส่งสารและผู้รับสารก็ต่างจากการเป็นผู้พูดและผู้ฟังในโลกความจริง ระยะห่างแบบ Face-to-Face กับ Monitor-to-Monitor ย่อมเป็นระยะห่างที่มีผลต่อจิตวิทยาในเรื่องของเกราะกำบังและขอบเขตที่มากขึ้นด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการแสดงออกทางความเห็นในโลกออนไลน์นั้น ค่อนข้างจะเปิดเผยและเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการแสดงออกในโลกความจริงที่ผู้แสดงความเห็นต้องเผชิญหน้าและมองตากับผู้ที่กำลังฟังความเห็น ความกลัวถึงผลตอบรับที่จะเกิดขึ้นแบบทันทีที่แสดงความเห็นตรงหน้าได้หายไปเมื่อเป็นการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากโลกความจริงที่เขาใช้ชีวิตอยู่

นอกจากนี้แล้ว ยังมีรายงานที่ระบุว่าตัวตนและบุคลิกในโลกออนไลน์นั้น มักเป็นการออกแบบเพื่อชดเชสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถปฏิบัติหรือเป็นได้ในชีวิตจริง เช่นกรณีที่บางคนอาจจะเป็นคนเหนียมอายเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่พออยู่ในห้องแชทกลับกลายเป็นคนช่างคุยและเข้าหาคนอื่น บ้างก็ปรับจูนภาพจำตัวเองว่าเป็นคนมีชื่อเสียง มีคนติดตามชื่นชอบ มีคนยกย่องต่างๆ นานา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เสมือนเป็นพฤติกรรมเพื่อทดแทนสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถกระทำได้ในโลกความจริงทั้งสิ้น

เริ่มป่วย: บุคลิกออนไลน์

สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือการสร้างบุคลิกออนไลน์นั้น เป็นการสร้างรูปแบบพฤติกรรมและภาพจำของตัวตนที่เกิดขึ้นใน “โลกใหม่” ซึ่งยังไม่มีการสร้างรูปแบบของจารีต ธรรมเนียมปฏิบัติที่ชัดเจนและควบคุมไว้ เมื่อบุคลิกที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ถูก “สั่งสอน” และ “ขัดเกลา” เช่นเดียวกับที่บุคคลได้ประสบในชีวิตจริงแล้ว จึงมีความเสี่ยงสูงที่รูปแบบพฤติกรรมเหล่านี้จะมีความแหลมคม สุดโต่ง และขาดการควบคุมจาก “ระบบสังคม” โดยมีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่ควบคุมไว้ (ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็ไม่สามรถควบคุมได้จริง)

ความน่ากลัวของอาการป่วยออนไลน์ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือการป่วยทางใจในเรื่องของการสร้างตัวตนที่บิดเบี้ยวจากความเป็นจริง การมีพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากสิ่งที่สังคมได้กำหนดกรอบและสร้างแนวทางถึง “สิ่งที่พึงกระทำ” กับการเข้าสังคม แต่กลับใช้วิธีการสร้างกฏระเบียบของตัวเองและสร้างรูปแบบสังคมของตัวเองแทน

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าการป่วยออนไลน์ที่เรากำลังพูดถึงกันนี้ จะส่งผลมากน้อยแค่ไหนกับคนที่ป่วย พวกเขารู้ตัวหรือไม่ว่ากำลังป่วยอยู่ หรือบางคนยินดีที่จะป่วยอย่างนี้ หากอาการเหล่านี้ดำเนินต่อไปจนถึงขั้นเรื้อรัง อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา มันจะร้ายแรงแค่ไหน

นั่นเป็นสิ่งที่เราจะมาค้นหากันในตอนต่อๆ ไปของบทความชุดนี้ครับ

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page