หยุดให้รางวัลกับ Toxic Superstar
วันก่อนผมอ่านบทความหนึ่งของ Havard Business Review แล้วรู้สึกสนใจกับคำที่เขาเรียกคนกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทในองค์กรจำนวนมาก นั่นก็คือคนที่เรียกว่า Toxic Superstar และย้ำว่าองค์กรควรเลิกให้รางวัลรวมทั้งหาวิธีจัดการคนเหล่านี้ให้ดี
ถ้าเราจะแปลกันตรง ๆ แล้วนั้น คนกลุ่ม Toxic Superstar ก็คือคนที่ทำงานได้ประสิทธิภาพสุด ๆ ได้ผลงานยอดเยี่ยม และนำมาซึ่งการได้รับรางวัล ถูกยกย่อง มีการปูนบำเน็จอย่างดี แต่ในขณะที่อีกด้านนั้นก็จะรู้กันว่าคนเหล่านี้ทำร้ายคนอื่นขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การพูดการจา วิธีการทำงานต่าง ๆ ซึ่งก็จะไม่แปลกอะไรเนื่องจากคนเหล่านี้มักจะไม่แคร์ผู้อื่น และไม่ค่อยสนวิธีการที่จะได้มาซึ่งผลงานตามที่ตัวเองต้องการ
สิ่งที่ผมมักจะเจอบ่อย ๆ กับ Toxic Superstar คือการกดดันคนอื่น ๆ ให้ทำงานได้ตามที่ตัวเองสั่ง หากไม่ได้ก็จะเริ่มทำการบีบบังคับหรือแสดงออกต่าง ๆ เพื่อทำให้อีกฝั่งจำยอมกันไป และนั่นก็มักเป็นที่มาว่าทำไมคนเหล่านี้จึงมักได้ “งาน” เอาไว้ “โชว์ผลงาน”
นั่นยังไม่รวมกับการที่คนเหล่านี้พร้อมจะทำทุกอย่างให้ได้ผลอย่างที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่เกิดผลกระทบกับคนอื่นอย่างไร เพราะสำหรับพวกเขาแล้วนั้นจะสนตัวเองมาเป็นสำคัญก่อน
ในขณะที่ชีวิตปรกติของออฟฟิศนั้นก็จะรู้กันดี่วา Toxic Superstar มักจะเล่นพรรคเล่นพวก สนิทกับคนที่เอื้อกับประโยชน์ตัวเอง เป็นมิตรกับคนที่สร้างขุมกำลังให้ตัวเอง ในขณะที่คนที่ถูกมองว่า “ด้อยกว่า” หรือ “ไม่ควรค่าจะสุงสิงด้วย” ก็จะถูกแบ่งแยกกันไป
ความน่าตลกของหลายองค์กรคือมักพูดกันว่าควรจะสร้างสังคมการทำงานที่ดี ทำให้คนทำงานกันอย่างรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ มั่นใจกับทีมงานด้วยกัน แต่เอาเข้าจริงเราก็มักจะเจอ Toxic Superstar กันในองค์กรอยู่เสมอ และคนเหล่านี้เองที่จะเริ่มสร้าง Toxic Culture ในองค์กรจนทำให้หลายคนขยาด คนทำงานที่ดีหลายคนแต่อาจจะไม่เข้าขั้น Superstar ก็มีเดินออกไปจากองค์กรเพราะไม่อยากทนทำงานกับคนแบบนี้ แถม Toxic Superstar ก็มักจะขึ้นเป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร ที่จะเลือกพิจารณารับคนประเภทเดียวกับตัวเองเข้ามาในองค์กรมากขึ้น เช่นเดียวกับที่จะโปรโมทคนแบบเดียวกันขึ้นมา “ใหญ่” ในองค์กรอีก
ผลสุดท้ายก็คือบริษัทจะเข้าสู่การเป็น Toxic Culture ที่ยากจะแก้ คนดี ๆ ก็คงยากที่จะเข้ามาในองค์กรเพราะเหมือนเข้ามาบ่อที่เต็มไปด้วยฉลาม ซึ่งก็คงจะมีแต่ฉลามเท่านั้นแหละที่จะเข้ามาในบ่อนี้ดี
และเมื่อถึงจุดนั้น การจะบอกว่าให้สร้าง Culture กันใหม่ก็คงจะเป็นเรื่องขายฝันให้กับพนักงานที่มองตาปริบ ๆ ว่าจะเป็นไปได้อย่างไรเพราะ Toxic Culture มันฝังลงไปด้วยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในองค์กรไปเสียแล้ว
ฉะนั้นแล้ว ก็ลองคิดกันดูนะครับว่าวันนี้องค์กร / ทีมงานของคุณมีคนที่เป็น Toxic Superstar กันอยู่หรือเปล่า? และถ้ามีจริง ก็ควรต้องรีบหาวิธีจัดการกัน เพราะไม่อย่างนั้นฉลามตัวนี้ก็จะกินปลาตัวอื่นจนหมดบ่อที่ชื่อว่าองค์กรนั่นเองแหละครับ
Comments