top of page

องค์กรจะจัดการการแสดงความเห็นทางการเมืองบน Social Media ของพนักงานอย่างไรดี?

ไหนๆ ช่วงนี้เราก็อยู่ในช่วงค่อนข้างดุเด็ดเผ็ดมันทางด้านการเมืองพอสมควร มีการแชร์ข้อมูลหรือการโพสต์แสดงความคิดเห็นกันแบบร้อนแรงทั้งทาง Facebook และ Twitter จากคนฝ่ายต่างๆ (ซึ่งก็ดูแล้วไม่น่าจะมีแค่ 2 ฝ่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ) และด้วยภาวะที่ค่อนข้างตึงเครียดนีเลยทำให้การแสดงความเห็นในหลายๆ ทีดูจะ “ร้อนแรง” ไปหน่อยจนพานทำให้หลายๆ คนมีการกระทบกระทั่งหรือปะทะทางความคิดกันออก Timeline หลายๆ คู่อาจจะถึงขั้นเลิกคบกันเลยทั้งที่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน

ขนาดเพื่อนกันในชีวิตจริงยังมีปัญหาได้ แล้วกับองค์กรที่มีพนักงานเป็นสมาชิกนั้น องค์กรจะต้องรับมือการช่วงเวลาที่คนจำวนวนมากอยากแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างไร การห้ามแสดงความเห็นเลยเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่? หรือบริษัทจะปล่อยอิสระและแบกรับความเสี่ยงไว้? ผมเชื่อว่าคำถามนี้คงผุดขึ้นมาในหัวของผู้บริหารกันอยู่พอสมควร เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าเรื่องการเมืองวันนี้กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจจะนำไปสู่ Crisis กันได้เลยทีเดียว

พอมองเช่นนี้แล้ว อะไรคือสิ่งที่บริษัทควรใช้เป็นแนวปฏิบัติกัน ผมลองเสนอความเห็นบางประการซึ่งคล้องไปกับ White Paper ที่ผมเคยเขียนไว้เรื่อง Social Media Policy แล้วกันนะครับ

  1. การ “บังคับ” เรื่องการแสดงความเห็นนั้นคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ เนื่องจากไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพของตัวพนักงานเอง เว้นแต่คุณจะสามารถระบุการจำกัดเมื่อเขาอยู่ในบทบาทที่เป็นตัวแทนของบริษัทได้ เช่นห้ามแสดงความเห็นในฐานะองค์กร หรือแสดงความเห็นโดยอ้างเป็นตัวแทน ฯลฯ

  2. การ “ขอความร่วมมือ” น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า โดยชี้แจ้งให้พนักงานเข้าใจว่าสาเหตุและความละเอียดอ่อนของสถานการณ์สำคัญอย่างไร และอะไรคือผลกระทบที่เกิดขึ้นได้หากมีการจัดการไม่ดี

  3. สิ่งที่ควรนำเสนอให้เข้าใจร่วมกันคือการรู้ถึงสถานะและลักษณะของ Social Media ที่มีความเป็นสาธารณะ ซึ่งผุ้ใช้เองก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองโพสต์ลงไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้พนักงานตระหนักและคำนึงถึงผลที่ตามมาด้วย

ตลอดช่วงที่ผมไปบรรยายเรื่อง Crisis Management นั้น สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือองค์กรจำนวนมาก (หรือจะเรียกว่าแทบทั้งหมด) ยังไม่มีการออกแบบ Social Media Policy สำหรับพนักงาน ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้นั้นจำเป็นมาก เนื่องจากการไม่ให้แนวปฏิบัติ หรือการที่พนักงานรู้ขอบเขตในการแสดงความเห็นต่างๆ นั้น ย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงที่การแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์จะนำไปสู่ความเสียหายกับแบรนด์และกับพนักงานเองได้ง่ายๆ

ผมเดาว่าสถานการณ์ทางการเมืองคงยังไม่จบง่ายๆ ในเร็ววันนี้ จะแย่กว่าเดิมหรือไม่ก็ยังคงเป็นคำถาม แต่ที่แน่ๆ คือองค์กรเองคงต้องเริ่มหันมาถามตัวเองแล้วล่ะว่าได้เตรียมแนวปฏิบัติให้กับพนักงานสำหรับสถานการณ์แบบนี้แล้วหรือยัง

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page