เราเห็นเทรนด์อะไรจาก #CES2014 และมันสำคัญอย่างไรกับการตลาดชนิดอย่ามองข้ามเด็ดขาด
เปิดปีใหม่มา งานอีเวนท์ระดับโลกที่คอไอทีเฝ้าจับตามองเป็นงานแรกคือ CES 2014 ที่จะขนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งรายเล็กรายใหญ่กันจนดูแทบไม่หมด และงานนี้เองที่เป็นเสมือนเครื่องชี้วัดทิศทางของสินค้าในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของปีเลยก็ว่าได้ ซึ่งในงานปีนี้ก็มีสินค้ามากมายหลายหลายซึ่งเรียกเสียงฮือฮาอยู่พอสมควร
แล้วมันสำคัญอะไรกับนักการตลาดหรือ?
สิ่งที่สัมพันธ์มากของตลาดสินค้าอิลเล็กทรอนิกส์ทุกวันนี้กับกลุ่มผู้บริโภคคือทิศทางของพฤติกรรมในยุคดิจิทัลที่ปัจจุบันก้าวไปไกลชนิดพลิกฝ่ามือในช่วงไม่กี่ปี สิ่งที่เราเห็นในงาน CES นั้นคือทิศทางของตลาดอุปกรณ์ดิจิทัลในอนาคต ที่จะเป็นทั้งตัวกำหนดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ซึ่งในปีนี้ก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจและน่าพิจารณาเป็นอย่างมาก
1. TV ยังไม่ตายและจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม
ตอนที่ Social Media บูมสุดขีดนั้น หลายคนคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า Social Media น่าจะทำให้สื่อทีวีต้องตกอยู่ในภาวะคับขันแบบเดียวกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่เริ่มจะร่อแร่หากไม่ปรับตัว แต่กลับกลายเป็นว่าทีวีนั้นยังไม่ตาย แถมยังหาทางรอดได้ดีทีเดียว
สิ่งที่น่าวิเคราะห์คือคอนเทนต์บนทีวีนั้นมีคุณภาพและลักษณะซึ่งต่างจากสื่ออื่นๆ ที่ถูกทดแทนเช่นวิทยุหรือสื่อสิ่งพิมพ์ คอนเทนต์บนทีวีไม่ว่าจะเป็นรายการข่าว ละคร เกมโชว์ ยังเป็นคอนเทนต์ที่ยังไม่สามารถทดแทนได้ด้วย Social Media หากแต่เป็นเพียงการแปรรูปเพื่อให้เข้าถึงได้เช่นการเป็นคลิปวีดีโอบน YouTube แต่นั่นก็ยังให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันอยู่ เราจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีของโทรทัศน์ปัจจุบันก้าวล้ำไปทั้งในเรื่องขนาดหน้าจอที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดปีนี้มีการเปิดตัวโทรทัศน์ในขนาดมากกว่า 100 นิ้ว แถมมีความคมชัดระดับ 4K ซึ่งมากกว่าระดับ Full HD ที่เราว่าชัดมากแล้วในปัจจุบัน
ระดับคุณภาพของคอนเทนต์ประเภทวีดีโอนี่เองที่เป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งทำให้ตลาดโทรทัศน์ยากจะถูกโค่นลงได้ กลับแต่มีบทบาทมากขึ้นเพราะสามารถสร้างความแตกต่างกับหน้าจอที่ 2 / 3 อย่างคอมพิวเตอร์และ Mobile Device ได้อย่างชัดเจน
ฉะนั้นแล้ว นักการตลาดไม่ว่าจะอยู่ในสายดิจิทัลหรือไม่ดิจิทัล ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงหน้าจอที่ 1 อย่างโทรทัศน์ไว้อยู่เสมอ ว่ายังไงก็แล้วแต่ ผู้บริโภคก็ยังใช้เวลาส่วนหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ที่ไม่แพ้กับหน้าคอมพิวเตอร์) ที่จะอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ และนั่นอาจจะนำไปสู่การวางแผนการตลาดและสร้างคอนเทนต์ที่มากกว่าจะให้อยู่แค่บนโลกคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว
2. Streaming มาแน่นอน
สิ่งที่ควบคู่มากับการพัฒนาด้านโทรทัศน์คือการแผยแพร่คอนเทนต์ ซึ่งในปีนี้เราเห็นการประกาศเทคโนโลยีการ Straming ระดับ 4K จากค่ายใหญ่ๆ เช่น Netflix Amazon ฯลฯ ซึ่งนั่นชี้ให้เห็นขีดจำกัดของเทคโนโลยีที่ฉีกออกไปเรื่อยเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคต
แม้ว่าเมืองไทยอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับ Video Streaming นักในวงกว้าง แต่กลับกลุ่มที่เป็น Digital Native เองก็เริ่มเห็นการใช้งานแอพดูทีวีผ่านทางอินเตอร์เนตกันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นกรณีของ Hormones ที่ทำให้หลายๆ คนมองหาแอพดูทีวีกันเป็นจริงเป็นจัง
การพัฒนาด้านเทคโนโลยี Streaming นี่เองที่น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวควบคู่กับ Digital TV ที่เรากำลังจะได้ใช้เร็วๆ นี้และเข้ามามีบทบาทกับการเสพคอนเทนต์ประเภทวีดีโอ / รายการทีวีมากขึ้นไปอีก ซึ่งก็คงจะกลายเป็นพฤติกรรมหลักในไม่ช้า
3. Wearable Device มาแน่ๆ
พระเอกงานนี้หากไม่ใช่เรื่องทีวีที่มากันแบบถล่มทลายก็คงเป็น Wearable Device ที่มากันเต็มงานจากค่ายใหญ่อย่าง LG Intel และเจ้าเล็กๆ มากมายที่พยายามจะช่วงชิงการเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราสวมใส่โดยเฉพาะข้อมือที่มีทั้ง Smartwatch หรือ Wristband เพื่อเก็บค่าต่างๆ มาเอื้อประโยชน์ผู้สวมใส่
สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้มีอยู่หลักๆ สองประเด็นในด้านเทคโนโลยีที่มองข้ามไม่ได้ นั่นคือ
1. Smartwatch จะเป็น The Next Digital Disruption หรือว่ากันง่ายๆ คือนาฬิกาจะไม่ใช่นาฬิกาอีกต่อไปแล้ว นาฬิกาข้อมือจะกลายเป็นหน้าจอที่ 4 ในอีกไม่ช้าเพราะเทรนด์ผู้ผลิตสินค้าดูจะเห็นเป็นไปในทางเดียวกันแล้วว่านาฬิกาข้อมือจะก้าวไปไกลกว่าการบอกเวลา แต่จะสามารทำอะไรได้มากกว่านั้นด้วยการเอื้อประโยชน์จาก Mobile Device นั่นเอง
2. Sensor is all around นั่นคือเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ต่างๆ จะมีบทบาทอย่างมาก ทั้งด้านการเก็บค่าต่างๆ ผ่าน wearable device หรือการเป็นตัวส่ง / รับสัญญาณเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล
จากสองข้อดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่า Wearable Device จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลชิ้นสำคัญอีกชิ้นประจำตัวมนุษย์ยุคดิจิทัลในอีกไม่นาน และนั่นก็จะกลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับนักการตลาดหากสามารถหาทางหยิบใช้หรือนำมาต่อยอดอะไรต่อไปได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องคอยจับตาดีๆ ว่าเทคโนโลยี Weareable Device จะเข้าสู่จุด Critical Mass เมื่อไรกัน
ถึงวันนี้ งาน CES ก็ยังไม่จบ แต่ผมสรุป 3 อย่างที่ผมเห็นว่าสำคัญๆ และเป็นสิ่งที่นักการตลาดซึ่งกำลังต้องเผชิญหน้ากับผู้บริโภคยุคดิจิทัลควรรีบทำความคุ้นเคยกันไว้โดยเร็ว เพราะแม้สินค้าในงาน CES จะยังอยู่ในระดับ Early Adopter อยู่ก็จริง แต่ถ้าใครมองเห็นเทรนด์ล่วงหน้าและช่วงชิงโอกาสหรือสร้างฐานรองรับไว้ได้ก่อนแล้ว คุณก็มีโอาสพลิกเกมได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน
Comments