4 ข้อควรกังวลในเรื่อง Marketing กับ AI
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น เราได้เห็นการก้าวกระโดดในการพัฒนา AI อย่างต่อเนื่องชนิดทำเอากลบกระแสเทคโนโลยีอื่น ๆ ไปหมดเลยทีเดียว แน่นอนว่าเราคงอาจจะเห็นกันแล้วว่า AI คือ "อนาคต" จริง ๆ ของโลกธุรกิจ แต่นั่นก็มาพร้อมกับคำถามสำคัญว่าโลกธุรกิจนั้นพร้อมแค่ไหนกับการมี AI เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ ?
ด้วยเหตุนี้ ผมเลยลองหยิบประเด็น "ข้อกังวล" ที่ผมว่าหลายธุรกิจอาจจะต้องคิดกันแต่เนิ่น ๆ ว่า AI จะมีผลอย่างไรกับการตลาดที่ทำอยู่ แล้วเราพร้อมที่จะรับมือกับ AI กันขนาดไหนนะครับ ?
1. กลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อจะเอา AI ไปใช้ในการตลาด ?
ถ้าเรามองว่า AI คือ The Next Big Thing แล้ว ทีนี้ก็ต้องถามกันว่าเหล่าผู้บริหารที่เป็นคนวางโครงสร้างของธุรกิจนั้นมี AI Strategy กันในองค์กรกันหรือยัง ? (เหมือนกับยุคสมัยที่เราคุยกันเรื่อง Data Strategy นั่นแหละครับ) ซึ่งก็น่าคิดว่าองค์กรจะคิดและวางแผนเรื่องนี้อย่างไร มีแบบแปลนกี่ระยะ แต่ละระยะนั้นจะนำ AI ไปใช้อะไรบ้างกับการตลาด ซึ่งจะว่าไปแล้วตอนนี้คงต้อง "รีบคุย" และ "รีบทำ" กันแล้ว
2. การเสียเปรียบในการแข่งขันเมื่อองค์กรไม่มี AI
สำหรับคนที่เริ่มใช้งาน AI กันแล้วจะรู้ดีว่าศักยภาพของ AI นั้นทำอะไรได้มากมาย ที่สำคัญคือการเพิ่ม Productivity ให้กับคนที่มี AI Literacy ได้อย่างมาก เรียกได้ว่าสามารถทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ได้เลย และนั่นก็สามารถมองกลับกันได้ว่าองค์กรที่ไม่มีการใช้ AI อาจจะตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบการแข่งขันเอาได้อย่างรวดเร็ว (และเป็นเหตุให้ต้อง "รีบทำ" อย่างที่บอกในข้อที่แล้ว)
3. ข้อได้เปรียบที่บางบริษัทเคยมีอาจจะหายไป
ในอีกมุมหนึ่งนั้น หลายองค์กรอาจจะเคยมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันอันเนื่องมาจากสเกลของบริษัท กำลังคนที่ทำงาน ยกตัวอย่างเช่นมีทีมโปรดักชั่น มีทีมงานคอนเทนต์หลายคน แต่ถ้าเราเห็นศักยภาพของ Generative AI ก็จะรู้ดีว่ามันทำให้งาน Content Production นั้นง่ายกว่าแต่ก่อนมาก สามารถช่วยในการคิดและผลิตคอนเทนต์ได้อย่างมาก ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ข้อได้เปรียบเดิมที่บางองค์กรมีนั้นหายไป คู่แข่งสามารถเร่งตัวเองให้มันทัดเทียมได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ซึ่งก็เช่นเดียวกับงานอื่น ๆ ที่สามารถใช้ Generative AI มาช่วยเช่นงานโค้ดดิ้ง งาน Customer Service (Chatbot) เป็นต้น
4. ความพร้อมของพนักงานในการใช้ AI
จากที่กล่าวมานั้น ข้อที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้ตัวเทคโนโลยีก็คือพนักงานที่จะต้องมี AI Literacy ในเร็ววัน ซึ่งก็คล้ายกับยุคที่เราบอกว่าพนักงานต้องมี Digital Skill นั่นเอง เพราะเราก็จะเห็นว่าเครื่องมือ AI นั้นสามารถเข้าถึงได้ง่าย ประเภทว่ามีคอมพิวเตอร์ก็พร้อมใช้ (ในหลายบริการ) แถมค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง ทำให้ต้องไปวัดกันว่าใครจะสามารถมีศักยภาพในการใช้ AI ได้เก่งและแม่นยำกว่ากัน ซึ่งก็ต้องดูว่าองค์กรจะรีบพัฒนาทักษะนี้กันได้เร็วขนาดไหน
สี่ข้อดังกล่าวเป็นข้อกังวลที่ผมคิดขึ้นมาในลักษณะนโยบายและภาพรวมขององค์กรกร ซึ่งถ้าคิดต่อไปในรายละเอียดก็จะมีประเด็นย่อยให้คิดอีกพอสมควร เช่นโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรที่จะรองรับการเอา AI มาใช้งานร่วม การวาง Working Porcess กันใหม่ ฯลฯ ซึ่งไว้มีโอกาสก็จะหยิบมาแชร์และคุยกันต่อไปนะครับ
Comentários