top of page

5 ประเภทของการคิดที่เรามักเห็นกันในที่ทำงาน

เมื่อพูดถึงเรื่องการทำงานในออฟฟิศนั้น เราก็จะเจอคนหลายประเภทด้วยกันที่มักจะมีแนวทางการคิดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการคิดแต่ละแบบก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอยู่ โดยถ้าเราลองมองรูปแบบของพฤติกรรมการคิดต่างๆ ที่เรามักพบเจอนั้น เราก็อาจจะพอเห็นรูปแบบได้ประมาณนี้ครับ

1. เชื่อในสิ่งที่ตัวรู้

กรณีนี้คือคนที่จะคิดและเชื่ออยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่ตัวเองรู้ หรือสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นสำคัญ แน่นอนว่าพวกเขามักจะมองว่าพวกเขามีข้อมูลต่างๆ อยู่นั้นเป็นข้อมูลที่ดีและพร้อมจะเอามายืนยันกระบวนการคิดของพวกเขาเสมอ

ในมุมหนึ่งแล้ว คนประเภทนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนไร้เหตุผลแต่อย่างใด เพราะเอาเข้าจริงๆ เขาก็มีเหตุผลที่มีหลักการอ้างอิงต่างๆ อยู่แล้ว หากแต่ปัญหาอาจจะอยู่ตรงที่ว่าพวกเขานั้นไม่ค่อยเปิดรับหรือฟังข้อมูลอื่นๆ มาประกอบการพิจารณาเสียเท่าไร บ้างก็รับข้อมูลหรือหลักการมาแต่ไม่นำมาใช้เพราะมันอาจจะขัดกับหลักที่ตัวเองยึดถืออยู่

2. เชื่อฟังตามที่ได้รับคำสั่งมา

อันนี้ก็จะออกเป็นแนวว่าทำงานตามที่คนอื่นบอกว่าให้ทำ เชื่อฟังคำสั่งตามที่ได้รับมอบหมาย หัวหน้าหรือคู่มือบอกอะไรก็ทำตามนั้น

แม้ว่าอาจจะดูเหมือนเป็นคน “ไม่ได้คิด” แต่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้ก็จำเป็นในบางสถานการณ์ บางแผนก หรือบางตำแหน่งงาน เพราะเป็นการยึดตามคำสั่งที่ได้มามากกว่าการจะทักท้วง ตั้งคำถาม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการล่าช้า ติดขัดได้

อย่างไรก็ดี ในมุมกลับกันนั้น การมีคนแบบนี้ในทีมงานก็อาจจะทำให้เราไม่ได้รับไอเดียดีๆ เท่าไรเนื่องจากว่าเขาก็ไม่ได้คุ้นกับการต้องคิดหรือตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การคิดอะไรใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

3. ท้าทายความคิด

คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นอีกแบบที่ชอบตั้งคำถามและไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองได้รับมาทันที ถ้าจะมองกันเร็วๆ ก็คือคนประเภทที่ชอบสวนในที่ประชุม ตั้งแง่ต่างๆ จนบางทีก็อาจจะมองเป็นคนขวางโลก บ้างก็เป็นพวกชอบถาม (จนหลายๆ คนรำคาญ)

แม้ว่าอาจจะทำให้หลายๆ คนหงุดหงิด แต่เอาจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ก็จำเป็นสำหรับการคิดงานหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดการเห็นมุมที่แตกต่างไป การไม่เห็นดีเห็นงามจนเกินไป และทำให้เกิดการคิดที่รอบคอบมากขึ้น

4. คิดวิเคราะห์

อีกประเภทหนึ่งที่มักจะเห็นอยู่ในหลายที่ทำงานก็คือคนที่มักจะนำข้อมูลต่างๆ มาคิดวิเคราะห์ สำรวจมุมมองด้านต่างๆ โดยที่จะมีทั้งความเห็นของตัวเองควบคู่ไปกับการเปิดรับข้อมูลอื่นๆ มาประกอบและสามารถต่อยอดไปสู่การวิเคราะห์ต่อๆ ไปได้

ฟังดูแล้วก็ดูเหมือนว่าการคิดแบบนี้น่าจะ “ดูดี” มากเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ แต่เราก็อาจจะพบว่าคนกลุ่มนี้มักใช้เวลาเยอะมากในจะรวบรวมข้อมูลอะไรต่างๆ วิเคราะห์เยอะแยะไปหมดจนบางคนอาจจะบ่นว่า “คิดอะไรนักหนา” กันได้เหมือนกัน

5. คิดได้เรื่อยๆ

กลุ่มนี้จะเป็นประเภทที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียบรรเจิด ประเภทว่าพูดอะไรก็จะคิดไอเดียต่อยอดจากสิ่งนั้นได้เรื่อยๆ เป็นพวกประเภทที่ได้รับอะไรมากก็จะพยายามหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เพิ่มทับลงไปอีก

งานด้านการสร้างสรรค์หรือหาไอเดียใหม่ๆ มักเป็นงานที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้อย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังการคิด “เตลิด” หรือ “ออกทะเล” จากคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

Comments


Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page