6 ขั้นตอนเบสิคสุดๆ กับการขายของออนไลน์
ช่วงนี้มีผู้ประกอบการหลายคนเข้ามาพูดคุยกับผมเยอะเรื่องการเลือกเครื่องมือต่างๆ บนโลกออนไลน์มาใช้ในการสร้างธุรกิจ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็มีอยู่ค่อนข้างเยอะ (มาก) และไม่ง่ายที่จะตอบว่าต้องใช้ตัวไหนและอย่างไรดี
แต่ถ้าสมมติว่าจะเริ่มเปิดร้านขายของออนไลน์แบบเบๆ กันเลยเนี่ย ผมเลยขอเขียนแนะนำขั้นตอนง่ายๆ เสียหน่อยแล้วกันนะครับ
1. การมีหน้า Facebook Page ของตัวเอง
ในแง่ของต้นทุนแล้ว การเปิด Facebook Page ถือว่าค่อนข้างจะประหยัดที่สุดเพราะแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ผิดกับการไปเปิดเว็บไซต์ที่อาจจะต้องมีการจดทะเบียนต่างๆ และกลายเป็นค่าใช้จ่ายได้ ฉะนั้นแล้ว การเสียเวลาเปิด Facebook Page สักนิดก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี แถมนอกจากนี้แล้วการเปิด Facebook Page วันนี้ก็เอื้อในการเข้าถึงคนไทยจำนวนกว่า 40 ล้านคนที่อยู่บน Facebook นั่นแหละครับ
ตั้งชื่อเพจอย่างไรดี?
หลายๆ คนอาจจะมีคำแนะนำว่าตั้งชื่อเพจนั้นให้มีคำอธิบายสินค้าเราเข้าไปด้วย บางคนก็ไม่มี ซึ่งมันก็ไม่ผิดอะไรทั้งสองแบบ แต่ที่หลายๆ คนมักตั้งชื่อแบบมีคำอธิบายไปด้วยอย่าง “Nuttaputch ขายของมือสอง” ก็เพื่อให้การ Search บน Facebook นั้นมีโอกาสติดคำค้นมากขึ้น แต่เรื่องนี้บางคนก็อาจจะไม่ชอบเพราะมันดูไม่เท่ ไม่เก๋ ซึ่งก็ว่ากันไปตามจริตของแต่ละคน โดยแม้ว่าคุณอาจะจไม่ได้ตั้งชื่อแบบมีคำอธิบาย แต่มันก็มีวิธีอย่างอื่นที่มาเสริมร้านของคุณได้อยู่เช่นกัน
2. จัดหน้าร้าน (Facebook Page) ให้สวยงาม
สิ่งที่ผมมักให้ความสำคัญมากคือตัวเพจนั้นควรจะดูดี ดูน่าเชื่อถือ เพราะมันคือความประทับใจแรกเวลาที่คนเข้ามาเห็น ไม่ว่าจะเป็นรูป Profile รูป Cover Photo และโพสต์ต่างๆ ที่ถูกหยิบมาวาง การระบุรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วนมีส่วนในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของร้านซึ่งดีกว่าการที่คุณปล่อยมันไว้เปล่าๆ เสียโอกาสคนที่เข้ามาอ่านไป ลองใช้เวลาสักนิดในการตรวจดูรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วนและหมั่น “เก็บกวาด” หน้าร้านอยู่เรื่อยๆ เช่นการจัดรูปเข้าอัลบั้มเพื่อให้คนที่มาทีหลังสามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้โดยง่ายแทนที่จะต้องมาไล่ดูโพสต์ย้อนหลัง ฯลฯ
3. ซื้อโฆษณาโปรโมทร้านของตัวเอง
แน่นอนว่าเปิดร้านมาแรกๆ คนก็ยังไม่รู้จักกันหรอกครับ สมัยก่อนเราก็ใช้วิธีการทำนองว่าชวนเพื่อนมาไลค์แต่มันก็อาจจะทำให้ร้านโตได้แค่ระดับหนึ่ง การลงทุนโปรโมทร้านให้เป็นที่รู้จักกับกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นขั้นตอนที่ควรจะทำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดไว้ด้วยคือการโปรโมทร้านนั้นควรแต่งหน้าร้านให้ดี เพื่อให้เวลาคนที่สนใจเขากดดูแล้วไม่เบือนหน้าหนีนะครับ
4. การเพิ่มช่องทางติดต่ออื่นๆ ที่จำเป็น
แน่นอนว่า Facebook ไม่ใช่ช่องทางติดต่อเดียว หลายๆ คนอาจจะไม่สะดวกการคุยกับเจ้าของร้านบน Facebook Messenger นัก ทางที่ดีก็มองช่องทางเสริมอย่าง LINE@ ไว้ด้วยเพราะ LINE น่าจะเป็นเครื่องมือการพูดคุยผ่านมือถือที่หลายๆ คนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แถมการมี LINE@ ก็ยังทำให้คุณสามารถส่งอัพเดทไปยังคนที่ตามได้ในอนาคตอีกด้วย
5. อย่ามองข้าม Search
หลังจากทำหน้าร้านอะไร มีการโปรโมทบน Facebook แล้ว อีกช่องทางที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือการ Search ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของคนออนไลน์เลยก็ว่าได้ แน่นอนว่าถ้าคุณทำร้านบน Facebook ก็อาจจะยากหน่อยในการให้ร้านของคุณติด Search Rank อันดับต้นๆ แบบ SEO และนั่นอาจจะเป็นจุดที่คุณต้องพิจารณาเรื่องการทำเว็บไซต์และผลิตคอนเทนต์เพื่อให้ร้านของคุณกลับมาติด Search Rank เวลาคนหาสินค้านั่นเอง
6. ขยันอัพเดทและโปรโมทคอนเทนต์
ถ้าร้านนิ่งเงียบ ไม่ขยับอะไรเลย คนเข้ามาร้านก็คงหวั่นๆ อยู่เหมือนกัน แถมบน Facebook นั้นก็มีหลายธุรกิจที่พร้อมจะดึงความสนใจจากลูกค้าของเรา การขยันอัพเดทด้วยคอนเทนต์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน เจ้าของร้านต่างๆ จึงควรวางแผนทำคอนเทนต์ไว้อย่างสม่ำเสมอ ขยันอัพเดทและโปรโมทอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ร้านของคุณมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
6 ขั้นตอนที่ว่าน่าจะเป็น “โคตรพื้นฐาน” ของการเปิดร้านขายของออนไลน์แบบง่ายๆ ในวันนี้ ซึ่งจริงๆ ในแต่ละขั้นตอนก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปซึ่งไว้ผมจะลองเขียนอธิบายเพิ่มเป็นจุดๆ ไปนะครับ
Hozzászólások