7 แนวโน้มของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยและภูมิภาค SEA ในปี 2020 หลัง COVID-19 จาก Google
ในทุกๆ ปีก็จะมีการคาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจากทาง Google ที่ทำการวิจัยร่วมกับ Temasek และ Bain & Comapny ซึ่งในปีนี้ (2020) ก็จะมีการปรับการคาดการณ์ซึ่งก็มาจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นและมีส่วนสำคัญในการปรับพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนจำนวนมากอันเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวกเหมือนแต่ก่อน โดยภาพรวมแล้วพบว่าประเทศไทยเองนั้นก็เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (2019) โดยคาดการณ์ว่าจะแตะ 1.8 หมื่นล้านเหรียญในปี 2020 และนับเป็นตลาดที่มูลค่าเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค SEA เลยทีเดียว (รองจากอินโดนีเซีย)
ในรายงานฉบันนี้นั้น ทาง Google ได้ฉายภาพรวมของสถานการณ์เป็น 7 อย่างด้วยกัน กล่าวคือ
1. การพุ่งทะยานของดิจิทัล
ในเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นถึง 40 ล้านคน (โตจากปี 2019) ทำให้จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใน SEA นั้นมีมากถึง 400 ล้านคนด้วยกัน
มีการพบว่า 30% ของผู้ใช้งาน Digital Service ในไทยนั้นเป็นผู้ใช้งานใหม่ (New User)
เมื่อดูผู้ใช้งานใหม่ที่เพิ่มขึ้นมานั้น เป็นกลุ่ม Non-Metro (ไม่ใช่กลุ่มคนเมือง) ถึง 57% ด้วยกัน
การเติบโตของผู้ใช้งานดังกล่าวนั้น ทำให้อุตสาหกรรมอย่างการศึกษา การเงิน และการส่งอาหาร ได้รับประโยชน์ (ส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจากช่วงสถานการณ์ COVID-19)
95% ของผู้ใช้งานไทยที่ใช้ Digital Services นั้นบอกว่าจะมีการใช้งานต่อไปแม้ว่าจะผ่านสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้ว
2. การใช้งานดิจิทัลอย่างมีเป้าหมาย
แน่นอนว่าสถานการณ์ COVID-19 นั้นทำให้คนจำนวนมากจำเป็นต้องใช้งานดิจิทัลมากขึ้น เช่นเดียวกับมีกรใช้เวลามากขึ้น โดยพบว่าในช่วงสถานการณ์ COVID-19 นั้นมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเฉลี่ยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และยังมีแนวโน้มที่จะคงการใช้งานที่มากขึ้นต่อไปแม้ว่าจะจบสถานการณ์แล้ว ซึ่งก็เป็นระยะเวลาที่มากกว่าช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 โดยก็น่าจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ค่าเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยก่อนช่วง COVID-19 คือ 3.7 ชั่วโมง ก่อนจะเพิ่มเป็น 4.6 ชั่วโมงในช่วง COVID-19 และเหลือ 4.3 ชั่วโมงหลังสถานการณ์
การใช้งานดิจิทัลนั้นมีวัตถุประสงค์ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานบริการทั่วไป การสั่งซื้อสินค้า การเสพคอนเทนต์ต่างๆ และยังเพิ่มไปยังบริการใหม่ๆ อย่างเช่นการศึกษาทางออนไลน์ เรื่องของด้านสุขภาพต่างๆ
3. การปรับตัวช่วงวิกฤต
แน่นอนว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจ แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังเห็นว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลยังมีการเติบโตอยู่ โดยแม้ว่าบางธุรกิจอาจจะมีการหดตัว อย่างเช่นกลุ่มท่องเที่ยวและการเดินทาง แต่บางกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีการเติบโตที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้วทำให้ดันมูลค่ารวมของเศรษฐกิจให้สูงขึ้นกว่าเดิม
eCommerce: ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในกลุ่มธุรกิจ eCommerce และถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด กล่าวคือ
อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 81% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าแตะ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025
การขยายตัวของอีคอมเมิร์ซช่วยชดเชยการชะลอตัวของการท่องเที่ยวและการขนส่งออนไลน์
สื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการวิดีโอออนดีมานด์ และบริการเพลงออนดีมานด์) ในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเติบโตขึ้น 20% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 กล่าวคือ
คนไทยใช้เวลาออนไลน์ 3.7 ชั่วโมง (ใช้งานส่วนตัว) ในช่วงก่อนโควิด และพุ่งขึ้นถึง 4.6 ชั่วโมงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ และปัจจุบันคงที่อยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน
ผู้ใช้จาก 8 ใน 10 ราย เห็นว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงโควิด-19 จึงทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกต่อไป
นอกจากนี้ ในรายงานฯ ยังระบุว่าในช่วงล็อกดาวน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ผู้ใช้จํานวนมากเริ่มลองใช้บริการดิจิทัลใหม่ๆ โดย 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดคือผู้ใช้รายใหม่ และ 95% ของพวกเขาเหล่านี้ตั้งใจที่จะใช้ต่อไปหลังช่วงระบาด
การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์: ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้เฉลี่ยต่อปีลดลง 12% เหลือ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 แม้ว่าจะมีการเติบโตของบริการส่งอาหารออนไลน์ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 45% ในปี 2025 ทั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีการลดการใช้บริการด้านเดินทางลดลงในช่วงระหว่างปี
การท่องเที่ยวออนไลน์ (ธุรกิจจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน) ในประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีมูลค่าตลาด (Gross Bookings Value) ในปี 2020 อยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 47% และคาดว่าจะมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025
4. การเริ่มทำกำไรของธุรกิจดิจิทัล
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานั้น มีบริษัทแบบ Unicorn เพิ่มมากขึ้น 1 บริษัทในภูมิภาค SEA (VNPay) โดยพบว่าแนวโน้มการลงทุนนั้นลดลงซึ่งก็มาจากการที่นักลงทุนนั้นชะลอการลงทุน แต่ในขณะเดียวกันก็จะพบว่าธุรกิจในกลุ่ม Unicorn นี้เริ่มทำกำไรมากขึ้น
5. กลุ่มธุรกิจใหม่ในเศรษฐกิจดิจิทัล
จากเดิมที่ธุรกิจดิจิทัลนั้นจะโฟกัสในกลุ่ม eComemrce Online Media Food Delivery และ Online Travel แล้วนั้น สถานการณ์ COVID-19 ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม HealthTech และ EdTech นั้นมีการเติบโตที่มากขึ้นและกลายเป็นกลุ่มที่ธุรกิจที่ต้องจับตามองในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล
6. นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นแต่ก็ระมัดระวังในการลงทุน
แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนก็ยังมีแนวโน้มเติบโตอยู่โดยบรรดาดีลธุรกิจดิจิทัลต่างๆ ก็ยังมีการเพิ่มขึ้น โดยนักลงุทนนั้นมีการตัดสินใจลงทุนที่รอบคอบ แม้ว่าจำนวนดีลอาจจะไม่เยอะแต่ก็ยังมีมูลค่าที่สูงอยู่ ทั้งนี้นักลงทุนจะเน้นการลงที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว
7. ก้าวต่อไป
จากผลการวิจัยในปีนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอินเทอร์เน็ตเติบโตมาสู่จุดที่แข็งแร็งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นการพัฒนาข้อจำกัดสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจํากัดด้านบุคลากรที่มีความสามารถ
Comments