Adobe ชี้ 3 เทคโนโลยีสำคัญสำหรับ Retail ในยุคดิจิทัล
สำหรับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกนั้น ธุรกิจ Retail เป็นหนึ่งในห้าธุรกิจที่มีการเติบโตเร็วที่สุดตามความคาดการณ์ของ Adobe เช่นเดียวกับเทคโนโลยีต่างๆ จะมีบทบาทในการเร่งอัตราการเติบโตนี้ให้สูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งบรรดาผู้เล่นต่างๆ จะสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างความน่าสนใจและความแตกต่างให้กับตัวเอง
ทั้งนี้ ในรายงานของ Adobe เรื่องเทรนด์ดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) นั้นมีการระบุว่าผู้ให้บริการค้าปลีกจำเป็นจะต้องยกระดับในการสร้าง Customer Expereince (ประสบการณ์ของลูกค้า) ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้เทรนด์ของ IoT เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวคือ
Beacon – ทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
อุปกรณ์ Bluetooth ขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ระบุตำแหน่งและส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์อย่าง Smartphone ของผู้บริโภคนั้นมีการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2556 และถูกนำมาใช้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการประมาณการว่ามูลค่าของเทคโนโลยีนี้จะสูงถึง 9 พันล้านเหรียญในปี 2567 โดยมีการเติบโตมากกว่า 100% ต่อปีอันมาจากปัจจัยเรื่องจำนวนการใช้งาน Mobile Device ที่เพิ่มขึ้น
ในการใช้งาน Beacon สำหรับธุรกิจค้าปลีกนั้น ก็สามารถประยุกต์เพื่อใช้แจ้งเตือนลูกค้าที่อยู่ในรัศมีของร้านค้าและแจ้งเตือนลูกค้าว่าของที่สั่งไว้ได้รับการเตรียมพร้อมแล้ว เช่นเดียวกับระบบแจ้งเตือนมายังพนักงานว่าลูกค้าของออร์เดอร์ไหนกำลังอยู่ใกล้บริเวณร้าน เป็นต้น
(ดูตัวอย่างเคสน่าสนใจของร้าน Dan Murphy ที่ออสเตรเลียได้)
RFID – ความสะดวกในการชำระสินค้า
โซลูชั่นในการชำระเงินอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี RFID นั้นมีการพัฒนาและเปิดให้ใช้แล้วในต่างประเทศ โดยลูกค้าสามารถทำการชำระเงินได้ด้วยการแค่เดินผ่านจุดชำระเงิน
ทั้งนี้ ระบบอัจฉริยะนั้นมีการเชื่อมข้อมูลต่างๆ ระหว่างตัวฉลาก RFID ที่มาแทนตัว Barcord แบบเดิม กับระบบเครือข่ายเพื่อติดตามสินค้าทุกชิ้นที่ใส่ไว้ในรถเข็นและทำให้สามารถชำระเงินได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีการผนวก RFID เข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างการจดจำใบหน้า จดจำรูปภาพเพื่อบันทึกและติดตามประวัติการใช้บริการร้านค้า ทำให้การจัดการสินค้าต่างๆ ในร้านทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ERP – เชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ได้ราบรื่นกว่าเดิม
ระบบ ERP ที่มีประสิทธิภาพเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำ Omichannel ของหลายๆ ร้านค้าปลีก เพราะมันคือระบบการจัดการและวางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ ขององค์กรโดยรวมขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ เอาไว้และสามารถบริหารจัดการแบบ Real-Time ได้
แน่นอนว่าหากการบริหารจัดการนั้นไม่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและแม่นยำแล้ว ย่อมเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเช่นสินค้าขาด ไม่อัพเดทเมื่อเวลาคนเช็คทางออนไลน์แล้วไปหน้าร้าน ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นที่มาของประสบการณ์ที่ไม่ดีของลูกค้าในหลายๆ สถานการณ์ เช่นนั้นนแล้วธุรกิจควรจะหาระบบ ERP ที่มีประสิทธิภาพมาเป็นตัวช่วยเพื่อให้การบริหารต่างๆ ของร้านค้าปลีกไม่ว่าจะตัวร้านจริงและหน้าร้านออนไลน์นั้นเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
Opmerkingen