Diffuse Thinking: ทักษะการคิดที่เหมือนจะไม่ดี แต่จริงๆ ก็สำคัญ
จากที่เราคุยเรื่อง Focused Thinking ไปก่อนหน้านี้ว่ามีความสำคัญ ก็อาจจะทำให้หลายคนคิดว่าเราควรจะเพ่งสมาธิไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่าวอกแวก เพื่อให้ได้การคิดที่มีประสิทธิภาพ
แต่หลายคนก็อาจจะคิดแย้งว่าในบางครั้งเราก็ควรจะปล่อยสมองให้คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย และเปิดกว้างในความเป็นไปได้หลายๆ อย่างแทนที่จะจดจ่อกับอะไรบางอย่างจนทำให้เรามองบางอย่างแคบเกินไป
นั่นก็คือที่มาของ Diffuse Thinking ที่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันนั่นแหละ
การคิดแบบกระจาย
ถ้าจะแปล Diffuse Thinking แล้ว การบอกว่าเป็นการคิดแบบ “กระจาย” น่าจะเป็นความหมายที่อธิบายได้ดี (แทนที่จะเราบอกว่าเป็นการคิดเรื่อยเปื่อย) โดยเราก็มักจะมอง Diffuse Thinking เป็นการมองภาพกว้าง และเปิดให้การคิดต่อไปยังประเด็นอื่นๆ ได้เรื่อยๆ โดยไม่ได้จำเป็นจะต้องบังคับ ตีกรอบ หรือเกิดเหตุการณ์ประเภท “เรายังไม่คิดเรื่องนี้”
ถ้ามองภาพของการคิดแบบ Diffuse Thinking แล้ว มันก็จะเป็นการคิดโดยใช้สมองในทุกๆ ส่วน (ที่จะใช้ในการคิดเรื่องนั้น) ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสเน่ห์ของการคิดแบบกระจายด้วย เนื่องจากเราสามารถคิดได้ทั้งแบบเอาหลักการ เหตุผล หรือจะใช้อารมณ์จินตนาการอะไรก็ทำได้ และนั่นทำให้การคิดแบบ Diffuse Thinking มักจะถูกโยงไปในเรื่องการคิดแบบสร้างสรรค์อยู่บ่อยๆ นั่นเอง
นอกจากนี้แล้ว Diffuse Thinking ก็จะถูกใช้อยู่บ่อยในการคิดในเชิงกลยุทธ์ที่ต้องการมองเห็นภาพรวม เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ว่าอะไรเป็นที่มาอย่างไร นำไปสู่อะไร จะเกี่ยวเนื่องกับอะไรได้บ้าง เป็นต้น
ทำไม Diffuse Thinking ถึงไม่ดี? (ในสายตาบางคน)
ทีนี้หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไม Diffuse Thinking ถึงถูกมองว่าไม่ดีเท่าไรนัก? นั่นก็เพราะหลายๆ ครั้งที่เราใช้ Diffuse Thinking กันโดยไม่ได้บริหารให้ดีก็จะเกิดการ “เตลิด” หรือ “ฟุ้ง” เอาได้ง่ายๆ และยิ่งถ้าเป็นการคุยงานกับคนอื่นๆ ด้วยแล้วก็จะถูกมองว่าพาออกทะเล บ้างก็มองว่าไม่อยู่ในประเด็น เสียบรรยากาศการพูดคุยเอาเปล่าๆ และนั่นทำให้หลายคนมักจะมองว่าการคิดแบบกระจายนี้ดูไม่ดีเท่าไรนักทั้งที่จริงๆ แล้วมันก็สำคัญไม่แพ้กับการโฟกัสหากแต่ต้องใช้ให้เหมาะสม เช่นเดียวกับคนที่มี Diffuse Thinking นั้นมักจะคิดไปไกลกว่าที่กำลังพูดคุยอยู่ เช่นอาจะจเห็นภาพใหญ่ที่สำคัญกว่าแล้วนั่นเอง
โฟกัส หรือ กระจาย?
คำถามที่จะตามมาคือเราควรจะคิดแบบโฟกัสหรือจะแบบกระจายดี? ซึ่งมันก็ไม่ได้มีคำตอบให้เลือกซ้าย-ขวาหรอกนะครับ หากแต่เราจะเห็นข้อดีของแต่ละแบบแล้วนำมาใช้ตามสถานการณ์ อย่างเช่นบางเรื่องเราควรจะโฟกัสเพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ในเชิงลึก เก็บรายละเอียดต่างๆ ให้หมด แล้วในบางจังหวะก็ต้องถอยออกมาเพื่อดูการเชื่อมโยงของแต่ละประเด็นที่เพิ่งเจาะรายละเอียดไปว่ามันเชื่อมต่อกันอย่างไร
และแน่นอนว่านั่นทำให้เราต้องหมั่นฝึกทั้งสองแบบอยู่เรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน เช่นเราอาจจะมีการฝึกคิดแบบจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนทำให้เข้าใจกลไกและรายละเอียดต่างๆ จนคล่อง จากนั้นก็ออกมามองภาพรวมสลับกันไป
ถ้าจะคิดกันแบบซื่อๆ แล้วก็เหมือนกับนักฟุตบอลที่อาจจะมีการฝึกเจาะลงไปในแต่ละทักษะ เช่นการฝึกยิงลูกโทษ ยิงฟรีคิกที่เก็บรายละเอียดต่างๆ ให้แม่นยำ แต่แล้วก็ต้องมาฝึกเตะทั้งเกมเพื่อเห็นภาพการเล่นแบบทั้งสนามไปด้วยนั่นเองล่ะครับ
บทความอื่นที่น่าสนใจ
Komentar