Music Streaming เทรนด์อนาคตของอุตสาหกรรมเพลง
สำหรับธุรกิจเพลงในปัจจุบันนั้น เรามักนึกถึงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลไม่ว่าจะเป็น MP3 สำหรับไฟล์เสียงหรือ MP4 สำหรับไฟล์วีดีโอซึ่งก็สะดวกสำหรับผู้บริโภคในการเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์พกพา สามารถเลือกจัดการสร้างชุดรายการเพลง (Playlist) ของตัวเองได้ ตลอดจนสามารถส่งต่อให้กับเพื่อนๆ ได้ ซึ่งก็ถือเป็นช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลงนับตั้งแต่การสร้าง MP3 Player อย่าง iPod ขึ้นมาเลยก็ว่าได้
การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลงที่เกิดขึ้นที่เปลี่ยนจากรูปแบบเพลงจากเทปคลาสเซ็ตหรือแผ่นซีดีกลายเป็นไฟล์เพลงดิจิตอลนั้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเพลงเลยก็ว่าได้ เพราะสิ่งที่ต่อเนื่องมาคือการเปิดร้านขายเพลงออนไลน์ที่สามารถเลือกซื้อขายเป็นรายเพลงแทนที่จะต้องซื้อหมดทั้งอัลบั้มแบบที่ผ่านมา ความนิยมและยอดขายอย่างถล่มทลายของ iTunes Store น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่นเดียวกับร้านขายเพลงเดิมๆ ประสบปัญหายอดขายที่ลดลงจนบางร้านถึงขั้นต้องปิดสาขาเช่นกรณีของ HMV สาขาชิบูย่า
แม้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลงดังกล่าวนั้นจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคอย่างมากก็ตาม แต่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจกลับประสบปัญหามาก ดังจะเห็นได้ว่ายอดจำหน่ายเพลงที่ได้รับผลกระทบ รวมไปทั้งการเกิดรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ที่หลากหลายและง่ายดายจนทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงินเพื่อซื้อเพลงอีกต่อไปเพราะสามารถหาดาว์นโหลดได้จากเว็บไซต์ใหญ่ๆ อย่าง 4Shared.com ไม่ก็ดู/ฟังจากเว็บอย่าง YouTube.com ก็ได้ ซึ่งกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจแม้ว่าเพลงจะโด่งดังและถูกฟังมากแค่ไหนก็ตาม
คำถามที่นักการตลาดดิจิตอลมักตั้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพลงปัญหาอยู่ที่ผลิตภัณฑ์หรืออยู่ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคกันแน่?
สำหรับในประเทศที่อุตสาหกรรมเพลงแข็งแรงอย่างในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีนั้น มีการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับตลาดเพลงดิจิตอล อีกทั้งยังมีการบังคับกฏหมายอย่างเข้มงวด ทำให้ตลาดเพลงดิจิตอลทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำขึ้นมาทดแทนยอดจำหน่ายของเทปและซีดีที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง
แต่ถึงกระนั้นเอง รูปแบบธุรกิจของอุตสาหกรรมเพลงก็ยังพบว่าการขายไฟล์ดิจิตอลแบบรายเพลงอาจจะยังไม่ใช่ทางออกสุดท้ายในการสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนนัก นักการตลาดบางคนอาจจะบอกว่าอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปโดยศิลปินต้องหันไปหารายได้จากการแสดงสดหรือรับงานอื่นๆ แทนที่จะอยู่แค่การร้องเพลงเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ศิลปินที่จะอยู่รอดก็อาจจะมีเพียงรายที่มีชื่อเสียงและโด่งดังเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เนตที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น เสถียรขึ้น และครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นนี้ย่อมกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเพลงที่จะหาทางรอดจากวิกฤตนี้
ถ้าเราจะมองให้สอดรับกับพฤติกรรมด้านดิจิตอลที่เปลี่ยนไปแล้ว การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้คนทั่วไปสามารถรับส่งข้อมูลดิจิตอลได้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะแบบสมัยก่อนกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของพฤติกรรมการเสพเนื้อหา (Content) แบบดิจิตอลอีกครั้ง กล่าวคือสมัยก่อนนั้น อุปกรณ์พกพาต่างๆ ต้องอาศัยการจัดการจากเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหลักเช่นทำการโอนไฟล์ ย้ายไฟล์ จัดหมวดหมู่ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเราเคยติดล็อคกับการที่คอนเทนต์ดิจิตอลสมัยก่อนยังต้องพึ่งการดาว์นโหลดผ่านอินเตอร์เนตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเท่านั้น (หรือไม่ก็เป็นคอมพิวเตอร์พกพาที่ต้องไปหาจุดเชื่อมต่ออย่างสายโทรศัพท์หรือ Lan เป็นต้น) จึงไม่แปลกที่เครื่องเล่นเพลงสมัยก่อนอย่าง iPod หรือ MP3 Player จำเป็นต้องใช้การจัดการผ่านโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการโอนไฟล์ข้อมูลมาเก็บ อุปกรณ์พกพาในสมัยก่อนจึงทำหน้าที่เป็นเหมือน Storage (เก็บข้อมูล) และ Player (เล่น) เป็นหลัก
แต่เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้สามารถรับส่งข้อมูลด้วย Mobile Internet ได้แล้ว ความสามารถในการเป็น Reciever จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเข้ามาทดแทนหรือเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน Storage ได้ ผู้ใช้งานอาจจะไม่จำเป็นต้องทำการเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในอุปกรณ์หรือมีความจำเป็นต้อง “ครอบครอง” ไฟล์ต่างๆ อีกต่อไป เพราะแม้จะอยู่นอกบ้านหรือออฟฟิศที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ผู้ใช้งานก็ยังสามารถเรียกและดึงข้อมูลดิจิตอลต่างๆ ผ่านอุปกรณ์พกพาของตัวเองได้อย่างง่ายดาย และยิ่งถ้ามีบริการพื้นที่เก็บข้อมูลแบบ Cloud Computing รองรับด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บไฟล์ข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์อีกต่อไป
ด้วยรูปแบบโมเดลแบบนี้ จึงน่าสนใจที่อุตสาหกรรมเพลงจะมาใช้ประโยชน์ เพราะต่อไปย่อมหมายความผู้ฟังเพลงต่างๆ นั้นไม่จำเป็นต้องครอบครองตัวเพลงอีกต่อไป หากแต่สามารถใช้บริการที่สามารถเข้าถึงเพลงผ่าน Mobile Internet ได้ทุกที่และทุกเมื่อ แม้ว่าธุรกิจเพลงจะไม่สามารถหารายได้ในรูปแบบเดิมที่ได้จากการ “ซื้อขาด” ของผู้บริโภค แต่ในธุรกิจระยะยาวแล้ว บริการแบบนี้ดูจะเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเจ้าของคอนเทนต์มากกว่า เพราะหากเพลงเป็นเสมือนไลฟ์สไตล์ของคนที่มีการเสพอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมหมายความผู้ฟังจำนวนมากก็ยินดีที่จะเลือกใช้บริการแบบสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึงเพลงเหล่านี้อยู่ตลอด ค่ายเพลงก็ยังสามารถทำเงินได้อย่างต่อเนื่องบนทรัพยากรเดิมของตัวเอง
กรณีนี้ต่างจากการขายแพ็คเกจ “เหมา” แบบที่คนไทยคุ้นเคย เพราะโมเดลเดิมนั้น ในความเป็นจริงกลับเป็นเหมือนการคว้าเงินก้อนแต่ทำลายตัวเองเสียมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะหากผู้ฟังสามารถทำการดาว์นโหลดเพลงได้มากมายด้วยโหมด “บุฟเฟต์” แล้วนั้น การโหลดย่อมจบลงเมื่อเขาครอบครองไฟล์เป็นที่สิ้นสุดและไม่จำเป็นต้องทำการโหลดครั้งที่สองอีกต่อไป (ยกเว้นเสียแต่ไฟล์เก่าทำการลบไป) นั่นย่อมหมายความว่าผู้ใช้สามารถเลิกบริการได้ทันทีที่เขาได้ครอบครองไฟล์ที่ต้องการแล้ว ผิดกับรูปแบบธุรกิจ Streaming Subscription ที่ผู้ใช้ยังจำเป็นต้องสมัครบริการอยู่เรื่อยๆ หากต้องการจะเข้าถึงเพลงดังกล่าว
ด้วยลักษณะโมเดลธุรกิจแบบนี้ จึงเสมือนเป็นทางรอดที่ค่ายเพลงต่างๆ ดูจะพอใจกับเส้นรายได้แบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนการต้องต่อสู้กับยอดขายแผ่นซีดีที่ลดลงหรือแม้แต่กับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางดิจิตอลที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ด้วย
ในมุมมองที่ต่อเนื่องนั้น บางคนอาจจะแย้งว่าคนบางกลุ่มจะยังเลือกการหาคอนเทนต์แบบละเมิดลิขสิทธิ์อยู่เช่นการดาว์นโหลดแบบผิดกฏหมาย แต่ถึงกระนั้นก็ดี รูปแบบโมเดล Streaming Subscription นั้นก็กำลังชี้ให้เห็นการทลายข้อจำกัดเดิมๆ ในสมัยก่อน เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ถ้าเราจำเป็นต้องครอบครองไฟล์ต่างๆ นั้น ก็ย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ต้องคอยเพิ่มปริมาณเนื้อที่จัดเก็บ หรือโอกาสที่จะเกิดการเสียหายและสูญหายจากการเสื่อมสภาพของแหล่งเก็บข้อมูลอีกด้วย ทางออกโดยการใช้บริการ Streaming จึงจะช่วยให้ผู้บริโภคทั่วไปแก้ปัญหาดังกล่าวได้
เมื่อมองภาพรวมคร่าวๆ เช่นนี้แล้ว บริการ Streaming จึงเป็นอีกหนึ่งบริการที่น่าสนใจในอนาคตอันใกล้ ในต่างประเทศก็เริ่มมีบริการเช่นนี้และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเช่น Spotify หรือ Netflix (ภาพยนตร์) ซึ่งก็คงต้องมาติดตามกันต่อว่าในประเทศไทยนั้น เราจะได้มีโอกาสใช้บริการเช่นนี้กันเมื่อไร โดยก็ต้องดูความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศควบคู่ไปด้วย
เพราะบริการ Streaming คงไม่มีทางเกิดเป็นรูปเป็นร่างได้ ตราบใดที่ 3G เมืองไทยยังกระจุกตัวเพียงบางพื้นที่และเอาแน่เอานอนกับความเสถียรไม่ได้เหมือนเช่นทุกวันนี้
Comments