Passive Learning – เรื่องน่าห่วงของคนทำงาน
ในยุคที่เรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ นั้น หนึ่งในทักษะที่สำคัญมากๆ และถูกยกมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของทักษะในอนาคตก็คือเรื่องของ Active Learning หรือการที่คนเราหมั่นที่จะเรียนรู้และอัพเดทตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ในความจริงแล้ว เรากลับพบว่าคนจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่ในโหมดของ Active Learning หากแต่เป็น Passive Learning เสียมากกว่า? และนั่นอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนใหญ่มากของแรงงานต่อจากนี้เลยก็ว่าได้
Passive Learning: รอที่จะเรียนรู้
ถ้าเราบอกว่า Active Learning คือทักษะว่าด้วยคนที่พยายามขวนขวายหาความรู้ พยายามปรับตัวและดูว่ามีศักยภาพอะไรที่ตัวเองยังไม่มีแล้วหาวิธีเพิ่มความรู้เหล่านั้นแล้ว Passive Learning ก็เหมือนขั้วตรงข้ามประเภทที่รอความรู้ให้มาอยู่ตรงหน้า ไม่ได้ขวนขวายดูว่าตอนนี้ต้องรู้อะไร อาจจะไม่ได้เดือดร้อนด้วยซ้ำกับการที่ตัวเองไม่ได้รู้หรือขาดทักษะอะไรบางอย่าง
คำถามที่ผมมักจะถามบ่อยๆ เวลาเช็คเรื่อง Passive Learning / Active Learning คือการถามว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา (หรือรอบปีที่ผ่านมา) นั้น มีการเข้าไปฝึกอบรม เรียนรู้ เทคคอร์สต่างๆ โดยที่ไม่ได้เป็นการจัดหามาให้โดยแผนกบุคคลประเภทโดนบังคับให้เข้าไปเช็คชื่อ หรือไม่ก็ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นได้ซื้อหนังสืออะไรมาอ่านบ้าง แล้วได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่?
ที่น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อยคือทุกครั้งที่ผมถามคำถามนี้ไปในกลุ่มพนักงานขององค์กรนั้น มีน้อยคนมากที่จะยกมือบอกว่าตัวเองไปหาคลาสเรียนข้างนอกเพื่อฝึกฝนตัวเอง หรือหาหนังสือพัฒนาความรู้มาอ่าน ซึ่งนั่นจะค่อนข้างตรงข้ามกับเวลาไปอบรมกับผู้ประกอบการที่ลงทุนควักเงินตัวเองมาเรียนคอร์สต่างๆ กันแทบทุกสุดสัปดาห์
และนั่นก็เป็นสัญญาณที่อดห่วงไม่ได้ว่าพนักงานในองค์กรอยู่ในโหมด Passive Learning กันเยอะพอสมควรเลยทีเดียว
ทำไมคนถึงไม่ Active?
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หลายองค์กรก็คงจะคิดว่าทำไมพนักงานจำนวนไม่น้อยถึงอยู่ใน Passive Mode กัน ซึ่งอันนี้ก็อาจจะเกิดจากรูปแบบการทำงานและวิถีของการเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ก็ได้ เช่น
ทำงานปัจจุบันก็เยอะพออยู่แล้ว ไม่มีเวลาว่างไปพัฒนาเพิ่มหรอก
ฝึกฝนไปก็ทำงานแบบเดิม ได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม ตำแหน่งก็ไม่ได้ขึ้น
งานที่ทำทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องพัฒนาอะไรเพิ่ม
ต่อให้มีเรื่องที่จำเป็น เดี๋ยวองค์กรก็ต้องเตรียมให้ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปเรียนเพิ่ม
งานเรามั่นคงดีอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลอะไร
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นทัศนคติที่น่าห่วงอันเกิดจากวัฒนธรรมของการทำงานที่อยู่ในแบบ Routine ซึ่งทำให้คนอยู่ใน Safe Zone กันได้ง่ายๆ จนไม่เห็นเหตุจำเป็นว่าทำไมต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น โดยนั่นต่างจากกรณีของผู้ประกอบการเจ้าของกิจการที่ต้องพยายามดิ้นรนและเอาธุรกิจให้รอดในสถานการณ์ต่างๆ
ทำอย่างไรให้คน Active
หากจะหาวิธีแก้ให้คนออกจากการเป็น Passive Learning ให้ไปสู่ Active Learning ได้นั้น ก็คงจำเป็นจะต้องจัดการเรื่องบรรยายกาศการทำงาน การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างจริงจัง บางแห่งอาจจะถึงขั้นกำหนดเป็น KPI ประจำปีเลยว่าต้องหาเวลาเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม เช่นเดียวกับองค์กรก็ต้องพร้อมสนับสนุนให้พนักงานออกไปหาความรู้ข้างนอก เช่นการสนับสนุนเงินทุน การให้สิทธิ์วันลาเพื่อไปอบรมต่างๆ เป็นต้น
แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือการสร้างภาวะให้พนักงานเข้าใจว่าตัวเองจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้มีความสามารถมากขึ้น บางองค์กรก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติมด้วยสภาพแวดล้อมที่กดดัน บางองค์กรก็ทำให้คนรู้สึกว่าต้องรีบปรับตัวเพื่อให้มีงานทำ (ประเภทว่าถ้าไม่ปรับก็อาจจะไม่ก้าวหน้าหรือต้องลาออกกันเลยก็ว่าได้) ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นวิธีแกมบังคับให้พนักงานต้องออกมาขวนขวายพัฒนาตัวเอง
อย่างไรก็ตาม หากองค์กรสามารถหาบุคลากรที่มีทัศนคติเรื่องการพัฒนาตัวเองที่ดี เป็นคนประเภท Active Learning เข้ามาให้ทีมเยอะๆ แล้ว ก็จะมีส่วนอย่างมากในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และทำให้คนอื่นๆ รู้สึกว่าต้องขยันพัฒนาตัวเองไปด้วยนั่นเอง
Comments