จากที่เมื่อวานผมเขียนบล็อกเรื่องของการซื้อ Boost Post เพื่อเพิ่มจำนวน Reach ให้กับโพสต์ต่างๆ แล้วมีการเล่าถึงเรื่องกฏ 1-9-90 นั้น ผมเชื่อว่าบางคนอาจจะคุ้นๆ มาบ้างแล้วว่ามันคืออะไรและบางคนก็ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร วันนี้ผมเลยของยกเอากฏนี้มาเล่าสู่กันฟังและชวนคุยกันว่ามันเกี่ยวอะไรกับ Facebook Page (หรือ Social Media อื่นๆ)
อันที่จริง กฏที่ว่าไม่ได้ชื่อ 1-9-90 เสียทีเดียว แต่มันคือกฏ 1% ที่ใช้อธิบายรูปแบบการมีส่วนร่วมของสังคมออนไลน์ โดยอธิบายไว้ว่ามีผู้ใช้งานเว็บไซต์เพียง 1% ที่จะทำการสร้างคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ 99% ที่เหลือนั้นเป็นเพียงแค่ผู้มาเสพคอนเทนต์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กฏดังกล่าวก็ขยายไปสู่รูปแบบ 90-9-1 โดยมองว่าเว็บไซต์หลายๆ แห่งนั้นจะมี 1% ที่จะคอยสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ในขณะที่ 9% จะคอยแก้ไขคอนเทนต์ ส่วนอีก 90% นั้นจะเป็นคนที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์อย่างเดียว
กฏดังกล่าวนี้มีการทดสอบและสำรวจจากหลายๆ เว็บไซต์ต่างๆ และก็พบว่าเว็บไซต์มากมายรวมทั้ง Social Network หลายแห่งก็มีพฤติกรรมดังกล่าวจนทำให้เรามักใช้กฏ 1-9-90 ในการอธิบาย / ตั้งสมมติฐานรูปแบบของกลุ่มสังคมออนไลน์ต่างๆ (แบบเดียวกับที่เรามักใช้กฏ 80/20 กับเรื่อง Sales / Project Management นั่นแหละครับ)
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ Facebook?
ด้วยที่ Facebook ก็เป็นชุมชนออนไลน์เช่นกัน จึงไม่แปลกที่เราจะพยายามเอากฏ 1-9-90 มาอธิบายรูปแบบพฤติกรรมของบรรดาแฟนๆ ที่เข้ามาไลค์เพจของเรา ซึ่งโดยทั่วไปเราก็จะใช้วิธีคิดว่า 1% คือ Superuser (บ้างก็คิดว่าคือพวก Advocates / Brand Lover) ในขณะที่ 9% คือ Active User และ 90% คือ Lurkers
เมื่อเทียบต่อๆ กันไปเรื่อยๆ และจับโยงกับรูปแบบ Interaction ของ Facebook แล้ว มันก็เลยเกิดการเทียบเคียงว่าโดยท่ัวๆ ไปแล้วพฤติกรรมของคนที่เห็นคอนเทนต์นั้น กลุ่ม 1% และ 9% คือกลุ่มที่จะมี Interaction (Like / Comment / Share) ในขณะที่ 90% จะอ่านเฉยๆ
นั่นเลยเป็นที่มาของสมมติฐานว่า Engagement (ส่วนตัวผมจะเรียกว่า Interaction) น่าจะอยู่ที่ 10%
ฟังดูไม่น่าจะยุ่งยากอะไรใช่ไหมครับ ผมเองก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่พอผมคลุกอยู่กับ Facebook มาพักใหญ่ๆ แล้ว ผมเริ่มจะเห็นจุดบอดหลายๆ อย่างกับวิธีคิดนี้ และทำให้ทุกวันนี้ผมคิดว่าเราไม่ควรเอากฏ 1-9-90 มาใช้อธิบาย Engagement / Interaction ของ Facebook Page
ที่เป็นอย่างนี้นั้น ต้องอธิบายกันก่อนว่า 1-9-90 (หรือกฏ 1%) เป็นการสรุปเชิงสถิติของพฤติกรรม “สังคมออนไลน์” โดยคิดประเมินว่าค่าเฉลี่ยทั่วๆ ไปของคนในสังคมนั้นจะมี 1% – 9% – 90% ที่มีพฤติกรรมและแนวโน้มที่จะปฏิสัมพันธ์แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยมั่นใจว่ารูปแบบพฤติกรรมนั้นจะเชื่อมโยงโดยตรงได้เลยกับพฤติกรรมของ Facebook Page เพราะทุกวันนี้เองเราก็เริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า Facebook Page อาจจะไม่ใช่ Community อย่างที่หลายคนบอกกัน (เมื่อก่อน) หากแต่เป็นเสมือน Brand Channel ที่ให้คนเข้ามากดติดตามและรอรับสารผ่านหน้า News Feed เป็นสำคัญเสียมากกว่า ฉะนั้นการมี “ปฏิสัมพันธ์” ตามวิธีคิดตั้งต้นของ 1-9-90 นั้นจึงต่างไปจากการปฏิสัมพันธ์บน Facebook อยู่แล้ว
นอกจากนี้แล้ว การจะคิดอัตรา Engagement โดยอิงกับสัดส่วน 1-9-90 ในกลุ่มคนที่เห็นคอนเทนต์ได้นั้น ก็ต้องเกิดจากการอนุมานเอาว่ากลุ่มคนที่เห็นมีรูปแบบพฤติกรรมกระจายในสัดส่วนแบบเดียวกัน (คือ 1-9-90) แต่ในความเป็นจริงแล้วคอนเทนต์ของเรากลับไม่ได้ถูกหยิบมากระจายแบบนั้น เนื่องจาก Facebook มีวิธีการคัดสรรคอนเทนต์ในแบบของพวกเขาเอง มันจึงมีความเป็นไปได้ว่า 100% ของ Reach นั้นอาจจะไปหวยออกตกอยู่ในกลุ่ม Lurker เสียหมด ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็คงเลือกอ่านเฉยๆ ไม่ได้กด Interaction อะไร
เพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ ผมลองทำการทดลองเรื่อง Promote Post อย่างที่ผมเล่าไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็แม้ว่าจะยังไม่มีบทสรุปชัดเจนนัก แต่ในความเห็นของผมแล้ว มันก็มีความเป็นไปได้ว่า Reach ที่เกิดขึ้นกับคอนเทนต์คุณนั้นอาจจะไปอยู่กับกลุ่ม Lurker ได้ แต่ถ้าคุณสามารถเพิ่ม Reach ให้ไปอยู่ในกลุ่มที่เป็น Superfan / Active User แล้ว ค่า Engagement / Interaction ก็จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าแล้วเราจะเอากฏ 1-9-90 มาใช้ไม่ได้เลยหรือ ผมว่าคำตอบก็คงจะไม่ถึงขั้นว่าใช้ไม่ได้เลย ผมคิดว่ารูปแบบพฤติกรรมต่างๆ นั้นอาจจะมีแนวโน้มหรือความคล้ายคลึงอยู่บ้าง ซึ่งคุณอาจจะเจอรูปแบบ 1-9-90 ใน Report หลายๆ อย่างของคุณได้ แต่มันอาจจะเป็นเรื่องอันตรายหากคุณจะตั้งกฏ 1-9-90 โดยไม่สามารถเทียบและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของกฏดังกล่าวกับสิ่งที่คุณพยายามอธิบายได้
ก็ถือว่าเอามาเล่าสู่กันฟังและชวนคิดกันต่อนะครับ ^^
ภาพ Feature จาก: http://heimatkunde.boell.de/