top of page

2 ปัจจัยสำคัญในการสร้าง “องค์กรที่สร้างสรรค์”

ตอนที่ผมไปเรียนหลักสูตรผู้บริหารที่ Disney Institute นั้น มีคำถามหนึ่งที่หลายๆ คนก็ถามกัน คือเรื่องการสร้างองค์กรให้กลายเป็น Creative Company หรือองค์กรที่มีวัฒนธรรมในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะเรื่องของการ “สร้างสรรค์” กลายเป็นโจทย์สำคัญในปัจจุบันไปแล้ว

สำหรับหลายๆ คนแล้ว สิ่งที่เราอาจจะนึกถึงคือเรื่องการสร้างบรรยากาศต่างๆ ในการทำงาน เช่นบรรยากาศออฟฟิศ การออกแบบ การตกแต่ง เพื่อให้พนักงานรู้สึกครีเอทีฟมากขึ้น บ้างก็อาจจะนึกไปถึงเรื่องวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อให้เกิดไอเดียที่แตกต่างขึ้นมา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Disney สรุปมาเป็นหลักในการบริหารองค์กรนั้น เขาได้วาดโมเดลง่ายๆ ว่าปัจจัยสำคัญเพื่อให้เกิด “ความสร้างสรรค์” ที่เราพูดกันนั้น เกิดจากสองปัจจัยสำคัญ

  1. ตัวพนักงานนั้นมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ “เปิด” เพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ หรือไม่

  2. ตัวองค์กรนั้นมีวิธีคิด วิธีการทำงานที่ “เปิด” เพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ หรือไม่

และเมื่อนำสองปัจจัยนี้มาสร้างให้กลายเป็นตารางดังรูปข้างล่างแล้ว เราก็จะเห็นสภาวะขององค์กรต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่

เมื่อดูจากรูป จะเห็นว่าสถานการณ์ที่เราคงไม่อยากเกิดขึ้นเลยคือการอยู่ในช่อง “จมดิ่ง” ที่ทั้งองค์กรก็ไม่คิดจะเปิดกว้างในการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เช่นเดียวกับพนักงานก็ไม่คิดจะทำด้วย และนั่นทำให้องค์กรยากจะเกิดพัฒนาแม้ว่าในความคิดของหลายๆ คนอาจจะคิดว่าองค์กรกำลังเคลื่อนไปในแบบปรกติเหมือนทุกๆ วัน

ส่วนในฝั่ง “กระอักกระอ่วน” นั้นคือพนักงานมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง อยากท้าทายและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่ตัวองค์กรเองที่ไม่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงาน กระบวนการให้ความสำคัญกับ Feedback ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งผลที่ตามมาคือพนักงานซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็จะรู้สึกว่าเหนื่อย ท้อ และคิดว่าองค์กรไม่เห็นความสำคัญของตัวเอง ไร้ค่า และสุดท้ายก็ลาออกไปในที่สุด

ในทางกลับกัน ถ้าพนักงานยังไม่ได้รู้สึกอยากสร้างสรรค์อะไร อาจจะด้วยการไม่เคยทำมาก่อน หรือไม่มีประสบการณ์ แต่ตัวองค์กรนั้นพยายามจะผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เช่นการสนับสนุนวิธีการทำงานที่ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ เสมอ ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่องค์กรนั้นจะ “กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาบ้างเนื่องจากพนักงานจะยังไม่เคยชิน ไม่กล้า หรือกลัว ซึ่งก็ต้องไปแก้ปัญาตรงนี้เพื่อให้พนักงานมีความมั่นใจที่จะกล้าคิด กล้าทำมากขึ้นกว่าเดิม

ส่วนกลุ่มที่อยู่ในกล่อง “พุ่งทะยาน” อยู่แล้วนั้นคงไม่ต้องบรรยายเยอะ เพราะเรียกได้ว่าจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอแล้วนั่นเอง

แม้ว่าหลักการนี้อาจจะไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ผมว่าแนวคิดนี้ทำให้เรากลับมาสำรวจตัวองค์กรของเราเองได้ดีมาก เพราะหลายๆ องค์กรนั้นเร้าแต่อยากให้ตัวองค์กร “สร้างสรรค์” แต่ลืมสำรวจตัวเองว่าปัจจัยพื้นฐานของเราพร้อมหรือไม่ ทั้งเรื่องตัวพนักงานและวิธีการทำงานต่างๆ ด้วย

ก็ลองเอาไปคิดกันนะครับ ว่าของใครอยู่ตรงไหน และจะเคลื่อนที่ไปสู่กล่องไหนหลังจากนี้ :)

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page