top of page

4 เรื่องควรรู้จากผลทดสอบ #3GDriveTest ของกสทช.

อาทิตย์ก่อนหน้านั้น ผมได้มีโอกาสร่วมขบวนทดสอบ 3G ที่จัดขึ้นโดยทางกสทช. เพื่อพาบรรดาบล็อกเกอร์กว่า 40 คนนั่งรถตามรถที่ใช้ทดสอบจริงของทางกสทช. บนเส้นทางแบบสุ่มที่เกิดจากการโหวตกันภายในรถเพิื่อให้เห็นผลการทดสอบจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีจากกสทช.เพื่อให้บรรดาบล็อกเกอร์สายไอทีซึ่งเป็นประหนึ่งสื่อออนไลน์ในปัจจุบันได้เข้าใจวิธีการทำงานของกสทช. และรู้ขั้นตอนการทดสอบจริงๆ


CAM00130

หลังจากการทดสอบนั้น ก็ได้มีบล็อกมากมายเล่าเรื่องของการทดสอบดังกล่าว (บล็อกที่ผมแนะนำคือของ beartai ที่เขียนโดย @ripmilla) โดยสามารถโหลดดูผลทดสอบของวันนั้นได้ที่ลิงค์ Dropbox เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ในส่วนของผลทดสอบนั้น ผมคงไม่พูดอะไรมากเท่าไร ไม่ใช่เพราะผมจะเอนเอียงเอาใจค่ายไหนเป็นพิเศษหรอกนะครับ แต่ผมอยากอธิบายอะไรบางอย่างเพราะเห็นว่ามีหลายคนนำผลการทดสอบไปตีความกัน “เกินจริง” ซึ่งผมจะขออธิบายดังต่อไปนี้ให้เป็นข้อควรรู้ก่อนตัดสินนะครับ

  1. ผลการทดสอบดังกล่าวนั้น เป็นผลการทดสอบที่เกิดขึ้นจากการสุ่มทดสอบในระยะเวลาครึ่งวัน บนเส้นทางจำกัด และพื้นที่จำกัดเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นชุดข้อมูลที่ยังน้อยมากเมื่อต้องเทียบกับขนาดพื้นที่ครอบคลุมระดับประเทศ ถ้าถามว่ามันทำให้เห็นว่าของค่ายไหนเป็นอย่างไรบ้าง ก็อาจจะพอ “อนุมานได้ระดับหนึ่ง” เท่านั้น เพราะเป็นการทดสอบในพื้นที่ที่ยังไม่สามารถบอกว่าครอบคลุมแค่เฉพาะในกรุงเทพได้เลยด้วยซ้ำ

  2. ผมมองจุดประสงค์ของการทดสอบ #3GDriveTest นี้เพื่อให้เห็นขั้นตอนการตรวจสอบของทางกสทช. ว่าไม่ได้นิ่งนอนใจในการดูแลคุณภาพของการให้บริการจากโอเปอร์เรเตอร์ทั้งสามค่าย ว่ามีขั้นตอนอย่างไร มีมาตรฐานอย่างไร ซึ่งน่าจะคลายข้อสงสัยว่ากสทช. ทำงานอย่างไรกับเรื่องกรณี 3G ของค่ายต่างๆ

  3. ในการอธิบายจากทางกสทช. เมื่อมีการตรวจสอบว่าจุดไหนมีสัญญาณขาดหาย หรือมีปัญหา ก็จะมีการแจ้งกลับไปทางโอเปอร์เรเตอร์ให้ทำการแก้ไข ฉะนั้น รายงานการทดสอบที่ระบุว่ามีปัญหานั้นก็จะถูกส่งไปให้ทางเครือข่ายที่มีปัญหาทราบเพื่อทำการปรับปรุงต่อไป ฉะนั้นต้องเข้าใจก่อนว่ารายงานฉบับนี้ไม่ใช่ “ถือเป็นสิ้นสุด” แต่อย่างใด

  4. ปัจจัยที่ผลกับการทดสอบมีอีกมาก ฉะนั้นการทดสอบเพียงครั้งเดียวคงจะหวังผล 100% คงจะลำบาก ควรเป็นการดูผลการทดสอบที่เก็บข้อมูลหลายครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยที่แน่นอน หรือมีข้อมูลประกอบมากกว่านี้

จาก 4 ข้อดังกล่าวนั้น ผมเลยไม่ขอสรุปว่าโอเปอร์เรเตอร์ไหนดีกว่ากัน เพราะมันเป็นการทดสอบแค่ครั้งเดียวในข้อจำกัดที่มากพอสมควรด้วย

อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราเห็นว่ากสทช.และค่ายมือถือเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทางกสทช.เองก็มีการตรวจสอบอยู่เสมอ เช่นเดียวกับค่ายมือถือเองที่ต้องคอยดูแลโครงข่ายให้ “สอบผ่าน” อยู่เรื่อยๆ (เพราะถ้าหากทดสอบแล้วมีปัญหาอยู่ต่อเนื่องก็จะโดนทางกสทช.ปรับได้เช่นกัน)

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page