top of page

ทำ Facebook Targeting อย่างไรให้เข้าท่า

หนึ่งในเทคนิคพื้นฐานที่หลายๆ คนก็จะพูดกันทุกครั้งเวลาทำ Facebook Ad คือการเรื่องเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ (หรือที่หลายๆ คนมักเรียกว่า Targeting ) เพื่อให้โฆษณาเรามีประสิทธิภาพสูงที่สุดแทนที่จะหว่านในการเข้าถึงคนทุกคนซึ่งบางทีอาจจะไม่ได้จำเป็นเท่าไรนัก

ทีนี้หลายๆ คนก็จะถามว่าการทำ Targeting ให้แม่นยำนั้นทำอย่างไรได้บ้าง ผมเลยขอมาสรุปเป็นไกด์แบบง่ายๆ ตามนี้

1. เข้าใจเสียก่อนว่าเราเลือก Target อย่างไรได้บ้าง

ถ้าคนที่ชำนาญในการลง Facebook อยู่แล้วก็คงไม่ยากลำบากอะไรนัก แต่ถ้าคนที่ไม่เคยลงโฆษณาบน Facebook ก็อาจจะไม่คุ้นสักเท่าไรว่ามันสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้ขนาดไหน

สิ่งที่เราต้องเข้าใจกันเป็นพื้นฐานเลยว่าการเลือกกลุ่มเป้าหมายนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Demographic เช่นเพศ อายุ การใช้ Geographic อย่างอยู่ที่พื้นที่ไหน จังหวัดไหน และ Psychogrphic อย่างเช่นความสนใจ การไปกดไลค์เพจไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันทำให้มีการตีวงกลุ่มเป้าหมายได้แคบลงและแม่นยำขึ้น

การตีวงกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงนี้อาจจะเป็นอะไรที่ลำบากใจสำหรับหลายๆ คนอยู่เสียหน่อยเพราะบางทีเราก็คิดว่ามันน่าจะมีกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ด้วย หรือบ้างก็อยากได้คนที่เยอะกว่าเดิม แต่ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว การจะทำให้โฆษณามีประสิทธิภาพนั้นควรเริ่มจากกลุ่มเป้าหมาย “หลัก” ให้แม่นยำเสียก่อน

ทีนี้ถ้าใครอยากได้ข้อมูลว่าเราสามารถเลือก Targeting แบบไหนได้บ้างโดยละเอียด ลองดูลิสต์ที่ถูกรวบรวมโดย Advertisemint ดูครับ ซึ่งทำเอาไว้ค่อนข้างละเอียดทีเดียว (ตัวอย่างตามรูปด้านล่าง)


2. ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้หลายๆ กลุ่ม

แน่นอนว่ามันไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องมีกลุ่มเป้าหมายเดียวสำหรับการทำโฆษณาเสมอไป การที่ Facebook สามารถให้คุณเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดแล้ว มันก็ยังเอื้อให้คุณสามารถตั้งกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ โดยใช้ Targeting แบบอื่นเข้ามาด้วย และนั่นทำให้คุณมีลูกเล่นในการลงโฆษณาเยอะมากกว่าเดิม

วิธีคิดนี้จะว่าไปก็มีความยุ่งยากอยู่แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องสนุกอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่นถ้าผมเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการจะขายเฟอร์นิเจอร์นั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนผมอาจจะเลือกตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นแค่กลุ่มกว้างๆ ดังรูปข้างล่าง

แต่ถ้าผมอยากจะลองทำ Targeting ให้ละเอียดกว่าเดิมและสร้างลูกเล่นมากขึ้น ผมก็อาจจะเพิ่ม Target ให้มีความสลับซับซ้อนและหลากหลายขึ้นกว่าเดิมตามรูปด้านล่างนี้

3. การเลือกใช้ Artwork กับเฉพาะกลุ่ม

จากโครงสร้างที่กล่าวในขั้นตอนที่แล้ว เราก็จะเห็นว่าการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอาจจะสามารถดัดแปลงและทำชิ้นงานโฆษณาอย่างรูปภาพและคำพูดที่ใช้สำหรับแต่ละกลุ่มได้ไม่ต้องเหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อให้โฆษณาและชิ้นงานนั้นสร้างโอกาสที่จะ “โดนใจ” กลุ่มเป้าหมายมากขึ้นตามมาด้วย ทั้งนี้ก็ไม่ได้จำเป็นว่าไม่ต้องเหมือนกันทุกชิ้นไปเสียกทุกครั้ง เพราะคุณก็สามารถเลือกใช้ซ้ำได้อยู่เหมือนกัน

จาก 3 วิธีเบื้องต้นดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการทำงานของ Targeting นั้นอยู่บนพื้นฐานของการเลือกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดควบคู่กับการนำเสนอโฆษณาที่ตรงกับความสนใจของพวกเขา จริงๆ นี่เป็นหลักเบื้องต้นซึ่งสามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดได้อีกมากมาย ยังไงก็ลองเอาไปฝึกและทำกันดูนะครับ

หมายเหตุ: ตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพ ซึ่งการทำงานจริงต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้เยอะมากนะครับ ^^”

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page