top of page

ทำความเข้าใจสักนิดกับ Technology Adoption

หลังจากที่วันก่อนผมเขียนบล็อกอธิบายเรื่องกระแสไปแล้ว มันก็เลยทำให้ผมคิดต่อเรื่องของการเปิดรับเทคโนโลยี (ตลอดไปจนถึงเทรนด์ต่างๆ) ของคนในสังคมด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีการสร้างโมเดลอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นระบบพอสมควร

Technology Adoption สำคัญอย่างไร?

แม้ว่าจริงๆ โมเดลนี้จะอธิบายเรื่องของการเปิดรับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของคนในสังคม แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วมันก็สามารถอธิบายพฤติกรรมของคนในสังคมเมื่อเกิดเทรนด์หรือกระแสบางอย่างได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะไม่มีเทคโนโลยีหรือกระแสอะไรที่จะพลิกพฤติกรรมของคนทั้งสังคมในพริบตาเดียวได้ เราจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละขั้นๆ ต่อเนื่องกันไปนั่นเอง

ลำดับขั้นของ Technology Adoption ยังอธิบายและแบ่งประเภของกลุ่มคนในแต่ลำดับไว้ดังนี้


orr7

1. Innovators คือกลุ่มที่เรียกว่านักนวัตกรรม คิดเป็นเพียงแค่ 2.5% เท่านั้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเปิดรับนวัตกรรมหรือเทรนด์ใหม่ๆ ทันทีโดยไม่มีความกลัวที่จะลองของใหม่ มักเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา มีแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ยินดีรับความเสี่ยง แรงจูงใจสำคัญคือการที่คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการจุดประกายการเปลี่ยนแปลง คนกลุ่มนี้จะยินดีอดทนกับปัญหาในระยะแรกๆ ที่อาจจะต้องพบในผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ

2. Early Adopters คือกลุ่มคนหัวก้าวหน้า เปิดรับนวัตกรรมและเทรนด์ใหม่ๆ ได้เร็ว คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 13.5% ซึ่งคนเหล่านี้มักเป็นผู้นำ มีหน้ามีตาในสังคม มองหาความได้เปรียบและเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิดกับคนอื่นๆ โดยส่วนมาก คนเหล่านี้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องราคาเนื่องจากพวกเขาจะสามารถมองเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีหรือเทรนด์ต่างๆ ได้อยู่เสมอ (ถ้านึกง่ายๆ คือคนหัวใสที่รีบเอาเฟอร์บี้มาขายก่อนใครๆ)

3. Early Majority คือคนส่วนใหญ่กลุ่มแรกๆ คิดเป็นประมาณ 34% ซึ่งถ้ามาถึงคนกลุ่มนี้ได้ก็แสดงว่าเกิดเป็นกระแสหลักแล้วเนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีความระมัดระวังและใช้เหตุผลในการตัดสินใจพอสมควรเพราะต้องการความมั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้จะประสบความสำเร็จ

4. Late Majority คือคนส่วนใหญ่กลุ่มมาทีหลัง คิดเป็นอีก 34% โดยที่มาทีหลังเพราะมีความระแวง หัวเก่า และฐานะทางการเงินด้อยกว่า จะเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับราคาค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะไม่ตกกระแสหลักไปซึ่งมากกว่าการคิดถึงประโยชน์ของนวัตกรรมหรือบริการเสียอีก

5. Laggards คือกลุ่มที่ล้าหลัง คิดเป็น 16% ซึ่งมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและด้อยการศึกษา คนกลุ่มนี้มักพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วและไม่เชื่อในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ แถมบางทีอาจจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ

ใน 5 ลำดับขั้นดังกล่าวนั้น มีการอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่าจากหลายๆ นวัตกรรมและเทรนด์นั้นตกเหว (Chasm) ระหว่างช่วง Innovator ไปสู่ Early Adopter และจาก Early Adopter ไปสู่ Early Majority ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้หลายๆ เทรนด์ตายก่อนเวลาอันควร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากจะคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดไปจนถึงแคมเปญการตลาดต่างๆ จึงต้องพยายามอุดรอยรั่วและสร้างทางเชื่อมที่มั่นคงเพื่อพากระแสไปสู่ขั้นของ Early Majority ให้ได้ ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นแล้ว ก็ย่อมหมายความว่าคุณสามารถครอบครองคนในสังคมได้มากกว่า 50% แล้ว

เครดิตภาพ http://wikibon.org/

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page