top of page

ทำไม “ความกลัว” ถึงจูงใจกว่า “ความสุข” ?

เวลาทำคอนเทนต์แบบ “บันดาลใจ” (Inspire) นั้น ผมมักจะเสริมให้ผู้เรียนอยู่บ่อย ๆ ว่าการบันดาลใจนั้นไม่ได้แปลว่าต้องให้รู้สึกดีเสมอไป เพราะแม้ว่าเราอาจจะคุ้น ๆ กับการบันดาลใจกับสิ่งที่เราต้องการอย่าง “5 ที่เที่ยวที่ต้องไป” หรือ “เทคนิคทำให้โต๊ะทำงานสวยหรู” แต่การบันดาลใจนั้นอาจจะสามารถบิดไปบันดาลให้เกิดความกลัวได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ก็เช่นการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการเตือนภัย หยิบสิ่งที่กังวลมาแก้ปัญหา “แนวทางรับมือกับความเศร้า” “สิ่งที่เราต้องระวังจากความเครียด” ฯลฯ

แถมเผลอ ๆ มันอาจจะได้ผลดีกว่าการนำเสนอเรื่องด้าน “ความสุข” เสียด้วยซ้ำ

ที่เป็นแบบนี้เพราะถ้าว่ากันด้วยแรงจูงใจของมนุษย์นั้น แม้ว่าเราปรารถนาจะมองเรื่องความสุขเป็นสำคัญอยู่ แต่ลึก ๆ แล้วเราก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญการขจัดทุกข์ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้เราไม่เจอกับสิ่งที่มาทำให้เรามีปัญหาเสียมากกว่า เหมือนที่หลายคนจะสนใจ “วิธีลดหนี้” มากกว่า “วิธีทำเงิน” โดยไม่รู้ตัว

แนวคิดเรื่องการใช้แรงจูงใจ “ความกลัว” นี้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ อย่างการเตือนภัย การกระตุ้นให้คนเห็นปัญหาและรีบหาวิธีแก้ หาวิธีเลี่ยงปัญหานั้น ๆ เพราะคงไม่มีใครอยากเจอปัญหาเหล่านั้น ซึ่งผิดกับความสุขที่บางคนอาจจะไม่ต้องการเนื่องจากตัวเองโอเคอยู่แล้ว หรือบางทีก็ไม่ได้คิดว่าประโยชน์ที่ได้มานั้นสำคัญอย่างไรนัก

นั่นเลยเป็นที่มาว่าเวลาทำคอนเทนต์เอง เราก็มักจะให้คนได้คิดกันทั้งสองขั้วว่าอะไรเป็นแรงจูงใจด้าน “ความกลัว” ควบคู่ไปกับ “ความสุข” ของกลุ่มเป้าหมายในการใช้สินค้าต่าง ๆ นั่นเองล่ะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page