top of page

รู้จัก Digital Video และสิ่งที่แตกต่างจาก Traditional Video

คิดว่าหลายๆ คนคงทราบกันไปมากแล้วว่ายุคนี้เป็นยุคที่การทำ Video Content นั้นได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะมีการผลิตออกมามากขึ้นเรื่อยๆ อันมาจากปัจจัยหลายอย่างเช่นการมีโอกาสได้รับ Engagement ที่มากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น หรือการที่ Facebook จะให้คะแนนใน News Feed Algorithm สูงกว่า

แต่ถึงกระนั้นแล้ว สิ่งที่คนทำคอนเทนต์เองอาจจะต้องทำความเข้าใจกันเสียหน่อยคือการทำ Video Content ในปัจจุบันนั้นอาจจะยังลักษณะสำคัญเหมือนเดิม กล่าวคือเป็นภาพเคลื่อนไหว และมีเสียง แต่ก็ใช่ว่ามันจะ “เหมือนเดิม” กับ Video Content ที่เราทำกันมาช้านานแต่อย่างใด

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมมักจะนำไปบรรยายเรื่องการทำคอนเทนต์ในยุคดิจิทัล เพราะหลายๆ คนมักจะติดภาพว่าการทำ Video Content หมายถึงการทำวีดีโอแบบที่เรียกว่า Traditaional Video (หรือบางที่ก็จะเรียก Linear Video) นั่นเอง

อะไรคือ Traditional Video

แน่นอนว่าการทำ Video Cotnent ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการทำคอนเทนต์ เพราะเราก็ทำ Video กันมาช้านาน ซึ่งคาแรคเตอร์สำคัญๆ ที่เรามักจะเห็นในตัว Traditional Video คือ

  1. มีความยาวมากระดับหนึ่ง เช่น 15 / 30 / 60 วินาที สำหรับตัวหนังโฆษณา อาจจะยาวเลยไปถึง 5-10 นาทีในกรณีเป็นสกู๊ปข่าวต่างๆ หรืออาจจะไปถึง 30-60 นาทีในกรณีรายการโทรทัศน์หรือหนังสั้น

  2. มีกระบวนการผลิตที่ละเอียด เพื่อให้ได้งานคุณภาพ ทั้งเรื่องการถ่ายทำ การตัดต่อ การใส่ Effect ต่างๆ

  3. มีวิธีการเล่าเรื่องที่เป็นแบบแผน เช่น ต้น-กลาง-จบ หรือการ เกริ่นนำ-ลงรายละเอียด-ขยายความ-สรุป ซึ่งมักเป็นการเล่นเรื่องแบบที่ “ต้องใช้เวลา”

  4. ออกแบบมาสำหรับการดูในหน้าจอใหญ่ๆ อย่างโทรทัศน์

ถ้าจะว่ากันไปแล้วนั้น Traditional Video ก็คงเป็นเหมือนกับ “หนัง” ที่เราคุ้นเคยกันในสมัยก่อนซึ่งมักจะออกอากาศทางโทรทัศน์ หรือการดูในโรงภาพยนตร์เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่เราดูกันมาเป็นสิบๆ ปี คนทำงานเองก็ทำหนังแบบนี้กันมาเป็นสิบๆ ปี จนเรียกว่าเป็นภาพจำของ “Video” สำหรับหลายๆ คนเลย

แล้ว Digital Video ล่ะ?

ความน่าสนใจของ Video Content ยุคใหม่คือเป็น Video Content ที่ออกแบบมาสำหรับ Digital Content Platform อย่าง YouTube หรือการทำให้เหมาะกับ Social Media อย่าง Facebook Twitter Instagram แทน ซึ่งนั่นทำให้คาแรคเตอร์ของ Video Content ประเภทนี้จะเริ่มมีความแตกต่างออกไป

  1. ความยาวไม่มากนัก อาจะจมีความยาวแค่ 5-10 วินาที เพื่อให้เหมาะกับการดูบน Social Feed ที่คนไม่ต้องการดูอะไรนานๆ

  2. ออกแบบให้เหมาะกับการดูผ่านอุปกรณ์อย่าง Smartphone ไม่ว่าจะเป็นขนาดของวีดีโอที่อาจจะเป็น 1:1 หรือเป็นแนวตั้งแทนที่จะเป็น 16:9 เหมือนการดูผ่านโทรทัศน์

  3. ให้ความสำคัญกับโหมดการดูคอนเทนต์ที่อาจจะไม่ได้เปิดเสียง ทำให้ Video Content หลายตัวสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องเปิดเสียงเลย

  4. การเล่าเรื่องที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเวลาที่จำกัด ทำให้ไม่ได้ใช้สูตรของการเล่าเรื่องแบบ “ต้น-กลาง-จบ” หรือ “ค่อยๆ เล่า” แบบที่มักเดิมเคยใช้กัน แต่กลับเลือกจะให้เปิดหัวได้อย่างน่าสนใจเพื่อให้คนอยากดูต่อแต่เนิ่นๆ

  5. มุมมองของคุณภาพที่เปลี่ยนไป โดยอาจจะไม่ได้เป็นงานที่มีความละเอียดและคุณภาพสูงมากเหมือนรายการทีวี แต่ปรับให้อยู่ในจุดที่ “รับได้” แถมบางชิ้นงานอาจจะ “ดิบ” เลยก็ได้

ความเหมาะสมของแต่ละแบบ

แน่นอนว่าด้วยลักษณะที่แตกต่างกันของ Traditional Video กับ Digital Video ทำให้การใช้งานก็ย่อมแตกต่างกัน ซึ่งก็มีผลดีผลเสียแตกต่างกันไป อย่างที่พอจะเห็นชัดคือการนำ Traditional Video มาใช้กับ Social Media อย่าง Facebook / Instagram นั้นก็อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพสูงมากนัก ถ้าจะดูใกล้เคียงหน่อยก็คือการนำไปเผยแพร่ทาง YouTube แต่ก็แน่นอนว่า Digital Video ก็คงจะดูไม่เข้าท่าเมื่อนำไปแสดงผลบนหน้าจออย่าง TV ด้วยเช่นกัน

นี่คงเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้เรามักเห็นว่าหลายๆ คอนเทนต์ที่อาจจะ “ดูดี” เมื่ออยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือเปิดไฟล์หนังดูกันในที่ทำงานกลับไม่ได้ดีอย่างที่คิดเวลาไปอยู่บนหน้า News Feed จริงๆ (เพราะโหมดในการดูก็ต่างกันแล้ว) และมันก็เลยทำให้หลายงานที่ให้ครีเอทีฟคิดโดยใช้วิธีแบบ Traditional Video มันได้ประสิทธิภาพอย่างที่ควรเมื่อเป็นงานออนไลน์ เช่นเดียวกับที่เราก็จะเห็นว่ารายการทีวีมากมายเอารายการตัวเองมาลงบนออนไลน์แล้วกลับไม่ได้รับความนิยมแต่อย่างใด

ซึ่งนั่นคงเป็นโจทย์ที่คนทำคอนเทนต์จะต้องทำการบ้านกันเยอะๆ แล้วล่ะ ว่าตัวเองควรจะทำ Video Content ออกมาโดยใช้แนวทางไหนกันดี

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page