top of page

3 พื้นฐานที่คุณต้องรู้ในการทำ Digital Marketing Analytics

วันก่อนผมมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง Digital Marketing Analytics และ Digital Marketing ROI เลยต้องเตรียมเนื้อหาอยู่พอสมควร ซึ่งทำให้ผมได้ทบทวนหลายๆ เรื่องที่เราควรจะรู้เป็นพื้นฐานสำหรับการทำ Digital Marketing Analytics กัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่หลายคนให้ความสนใจมากเพราะมันจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการ “วัดผล” และ “วัดประสิทธิภาพ” ในการทำ Digital Marketing (ที่เป็นประเด็นถกเถียงจนน่าปวดหัวอยู่จนทุกวันนี้)

ถ้าจะเริ่มจากเบสิคว่า Digital Marketing Analytics คืออะไรนั้น ก็คงเล่าแบบง่ายๆ ว่าเป็นการวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพของการทำ Digital Marketing ที่ได้ลงมือลงแรงไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มักจะเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับคนทำงานในสายนี้อยู่พอสมควร เช่น

  1. ไม่แน่ใจว่าที่กำลังวัดผลนั้นถูกต้องหรือไม่

  2. ตัวเลขของการตลาดดิจิทัลนั้นมีมากมายจนไม่แน่ใจว่าเอาตัวเลขที่ถูกต้องมาใช้หรือเปล่า

  3. การวัดผลนั้นตอบโจทย์การตลาดหรือเปล่า?

ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น ปัญหาใหญ่ๆ คือการที่การตลาดดิจิทัลมีตัวเลขเยอะมากมาย และหลายๆ คนก็มักจะเหมาตัวเลขเหล่านั้นเป็นมาตรวันต่างๆ นานาจนสร้างความปวดหัวสำหรับคนทำงาน เพราะไม่ใช่แค่ต้องมาคอยเก็บข้อมูล แต่ยังต้องวิเคราะห์และตีความ ซึ่งพอตัวเลขมากๆ เข้าก็อธิบายไม่ถูกอีกว่าตัวเลขเหล่านี้สัมพันธ์กันอย่างไร

ฉะนั้นเพื่อให้เราเริ่มต้นการวิเคราะห์กันแบบเป็นเรื่องเป็นราว ผมขอแนะให้เอาหลัก 3 อย่างของหนังสือ Digital Marketing Analytics มาใช้เป็นพิ้นฐานก่อนจะเริ่มคิดตั้งวิธีการวัดค่าต่างๆ โดยหลัก 3 พื้นฐานที่ว่านั้น คือการตั้งต้นว่าการวิเคราะห์ใดๆ จะประกอบด้วย 3 อย่างสำคัญ

1. พฤติกรรม

การที่คุณทำการตลาดใดๆ ไปนั้น คุณล้วนมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ที่ได้รับสาร หรือผู้ที่ได้รับประสบการณ์ เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดพฤติกรรมอะไรบางอย่างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเห็นหรือกระทำอะไรบางอย่าง ซึ่งจะว่าไปแล้ว นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณอยากจะรู้เลยก็ว่าได้

2. ปริมาณของการเปลี่ยนแปลง

หลังจากที่คุณทราบแล้วว่าคุณต้องการอยากสร้าง / เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไรของกลุ่มเป้าหมาย สิ่งที่ตามมาคือการดูว่าปริมาณของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นมีมากเท่าใด ซึ่งปริมาณดังกล่าวนั้นอาจจะมาในรูปปริมาณทั้งหมด หรือจะเป็นแบบค่าเฉลี่ยก็ได้

3. ระยะเวลา

การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ นั้น ก็จำเป็นที่คุณจะต้องรู้ระยะเวลาของช่วงข้อมูลที่ต้องการจะวิเคราะห์ด้วย เพื่อให้สามารถกำหนดขอบเขตของการวัด / วิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง

Screen Shot 2557-06-09 at 8.08.24 PM

ทั้งนี้ ผมจะพูดเสมอว่า 3 อย่างนี้คือหัวใจของการวิเคราะห์การตลาด ซึ่งไม่ใช่แค่การตลาดดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการตลาดอื่นๆ (หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่การตลาดด้วยก็ตาม) ซึ่งคนจะทำการวิเคราะห์ใดๆ นั้นต้องรู้และเข้าใจอย่างชัดเจนว่า 3 อย่างที่ว่าของตัวเองคืออะไร (แม้ว่าในความเป็นจริงนั้นหลายๆ คนอาจจะไม่รู้เลยก็ตามน่ะนะ ^^”)

บล็อกวันนี้ ผมขอเริ่มเล่าที่พื้นฐานสุดๆ ของการวิเคราะห์การตลาดก่อน และในบล็อกถัดๆ ไปนั้นจะมาเจาะลึกเรื่องการวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลกันต่อนะครับ

ภาพจาก: Shutterstock

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page