top of page

3 สิ่งที่ช่วยทำให้คุณเกิด Creativity ในการแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Creative Problem Solving) เป็นสิ่งที่หลายๆ คนเริ่มพูดถึงเยอะขึ้นในยุคที่เราเริ่มต้องพยายามมองหาวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ แทนที่จะใช้สูตรหรือเทคนิคแบบเดิมๆ อย่างไรก็ตาม มันก็ใช่ว่าเราจะเกิด “ความคิดสร้างสรรค์” กันได้ง่ายๆ เสียเมื่อไร

Brian Tracy ได้หยิบเรื่องดังกล่าวและมาอธิบายในหนังสือ Creativity & Problem Solving ของเขาว่าปัจจัยที่จะช่วยเร้าให้เรามองหาวิธีแก้ปัญหาแบบ “สร้างสรรค์” ได้นั้น มีอยู่สามอย่างด้วยกัน และมันเกิดขึ้นจากการ “คิด” ของเราเองเนี่ยแหละ

1. การมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากๆ

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีได้ก็ต้องเริ่มต้นจากการที่เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในใจเสียก่อน เรื่องนี้ Brian Tracy บอกไว้ว่าเราจำเป็นต้องมีภาพที่ชัดเจนเพื่อให้โฟกัสได้ว่าเรากำลังแก้ปัญหาอะไร “จริงๆ” โดยไม่ว่อกแว่กจะไปดูเรื่องอื่นๆ และทำให้ความคิดที่วนอยู่รอบๆ นั้นอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายที่สำคัญแทนที่จะไปคิดเลยเถิดหรือไปแตะประเด็นอื่นที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่เป็นพื้นฐานสำคัญมากของการคิดและแก้ปัญหาต่างๆ เลยก็ว่าได้

2. การกดดันตัวปัญหาให้ถึงที่สุด

แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากับปัญหาเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและทำให้รู้สึกหมดแรงเอาได้ง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การมองให้ออกว่าอะไรคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด อุปสรรคที่สำคัญที่สุด ทำให้เรารู้ว่าเราจะแก้ไขอะไร เราต้องต่อสู้กับอะไร และระดมความคิดต่างๆ มาเพื่อสู้กับมันให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีนี้ก็จะสอดคล้องกับข้อแรกที่ทำให้เราโฟกัสกับปัญหาได้ดีขึ้นไปอีก

3. การกล้าที่ตั้งคำถามที่ “ใช่”

หนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาคือการตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบางทีเรามักจะพยายามเลี่ยงไปใช้การตั้งคำถามแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย บ้างก็ผ่อนหนักเป็นเบา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Brain Tracy แนะนำคือการตั้งคำถามที่บางครั้งอาจจะมองว่าเป็นคำถามที่แรง หรือคำถามที่ทำให้คนทำงานหน้าชาเอาได้ง่ายๆ เพราะมันคือการกระตุ้นให้เรารู้ตัวถึงสถานการณ์ที่แท้จริง รวมถึงกล้าที่จะถามคำถามอื่นๆ ตามมาซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำเราไปสู่ความคิดต่อยอดที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สำคัญ แทนที่จะเอาเรื่องอื่นที่ไม่ใช่มาเป็นฐานความคิด

ถ้าสังเกตดูแล้ว 3 ข้อดังกล่าวไม่ได้พูดถึงเรื่องทักษะการคิดแบบจินตนาการเป็นตัวตั้งต้น แต่เป็นการโฟกัสให้คนคิดได้รู้ว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร เผชิญหน้ากับข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งกล้าที่จะกดดันตัวเองด้วย แน่นอนว่านี่อาจจะไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็น่าจะเป็นแนวทางที่สามารถเอาไปปรับใช้ได้ในหลายๆ กรณีนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page