top of page

4 เรื่องที่คุณควรจะถามตัวเองว่า “รู้” หรือ “ไม่รู้”

ช่วงสองสามเดือนนี้ผมมีโอกาสไปบรรยายเรื่อง Digital Transformation หรือ Digital Marketing ให้ผู้บริหารบ่อยๆ (ไม่เว้นแต่กับบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่) หลายๆ ครั้งที่ก่อนเริ่มบรรยายผมเห็นผู้บริหารดูจะชิวๆ หรือคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเท่าไร แต่พอผมเริ่มบรรยายและโชว์ของ “บางอย่าง” ผมก็เริ่มพบว่าสีหน้าของหลายๆ คนเปลี่ยนไป

ส่วนหนึ่งก็คงเพราะผมไปกระทุ้งในส่วนที่เขา “ไม่รู้”

พอเล่าถึงเรื่องนี้ ผมก็มักจะนึกถึงเรื่องที่อาจารย์ของผมสอนอยู่บ่อยๆ นั่นคือการสำรวจตัวเองอยู่เสมอและทำอย่างไรไม่ให้เราชะล่าใจกับการ “รู้” ของเรา

คนทุกคนมีประสบการณ์มากมาย หลายคนก็เรียนจากหลักสูตรต่างๆ สถาบันดังๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างภาวะ “รู้” ให้กับเรา

แต่เอาจริงๆ ไอ้ภาวะ “รู้” นี่แหละที่หลายๆ ครั้งก็ทำให้เรา “ไม่รู้” เหมือนกัน เพราะมันทำให้เราเคยตัวหรือไม่ก็คุ้นเคยว่ารู้แล้วทั้งที่จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น

ผมถึงมักจะพูดถึงเรื่องของการ “รู้” และ “ไม่รู้” 4 ประเภทที่ต้องหัดสำรวจตัวเองอยู่เสมอ

1. เรื่องที่เรารู้ตัวว่ารู้

เรื่องพวกนี้คือการเฝ้าสำรวจความรู้ของเราเองว่าเรารู้อะไรมาก เรื่องที่เรารู้นั้นเรารู้ขนาดไหน รู้จริงขนาดไหน เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะหยิบมาใช้ในการดำรงชีวิตและทำงานของเราเป็นอย่างแรกๆ หรือพูดง่ายๆ คือมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตและทำงานได้นั่นแหละ ยิ่งเรารู้เยอะ เราก็สามารถมีวัตถุดิบในชีวิตมากขึ้นและสามารถสร้างโอกาสมากมายได้

2. เรื่องที่เราไม่รู้ตัวว่ารู้

ข้อนี้อาจจะฟังงงๆ แต่ว่ากันจริงๆ แล้ว หลายๆ อย่างที่เป็นทักษะหรือความสามารถของเรานั้นเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้สนใจ ใส่ใจ หรือบางทีก็ไม่ได้คิดว่าสลักสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของพรสวรรค์บางอย่างที่เราไม่รู้ตัวว่าเรามี เรื่องนี้จึงจำเป็นมากที่ต้องอาศัยคนภายนอกมาสะกิดหรือแนะนำเราให้เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ พัฒนา และลับคมจนให้กลายเป็นกลุ่มความรู้ในข้อแรก ซึ่งเผลอๆ มันก็อาจจะกลายเป็นตัวพลิกชีวิตของเราเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่าพอเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ตัว ฉะนั้นมันจึงค่อนข้างจำเป็นมากที่เราต้องอาศัยครู อาจารย์ Mentor หรือหัวหน้างานชี้แนะเรื่องเหล่านี้ให้เรานั่นเอง

3. เรื่องที่เรารู้ตัวว่าไม่รู้

ฝั่งนี้คือตัวที่ทำให้เรารู้ว่าโลกนี้ยังกว้างใหญ่และเรายังต้องขวนขวายอีกมากแค่ไหน คนที่มีข้อนี้เยอะไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องแย่ เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เขารู้ตัวว่าจะต้องทำอะไรต่อไป ยิ่งถ้าเป็นคนที่ขยันและเพียรหาความรู้ด้วยแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนฝั่งนี้ให้กลายเป็นข้อแรกได้ไม่ยากเพราะเราต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนจาก “ไม่รู้” เป็น “รู้” นั้นก็คือการเติมความรู้และประสบการณ์ให้ตัวเองนั่นแหละ

4. เรื่องที่เราไม่รู้ตัวว่าไม่รู้

เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมากๆ เพราะด้วยประสบการณ์ชีวิตของเรานั้นทำให้เราชะล่าใจในหลายๆ ที บางทีก็คิดเอาเองว่ารู้แล้วทั้งที่จริงๆ ไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจ ซึ่งก็ทำให้ใช้สิ่งที่เราคิดว่ารู้ทั้งที่เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดปัญหาตามมาอยู่บ่อยๆ

ปัญหาที่ทำให้เราไม่ค่อยรู้ตัวว่าไม่รู้นี้ก็เกิดจาก Ego ของเราเองเนี่ยแหละ บ้างก็เกิดจากภาวะหรือหน้าที่การงานของเราที่ทำให้เราคิดเอาเสียว่าเราเชี่ยวชาญหรือชำนาญเรื่องนี้ดีแล้ว การได้ทำงานตำแหน่งการตลาดก็ทึกทักเอาว่าเรารู้จักการตลาดดีแล้วเป็นต้น ซึ่งนั่นเป็นปัญหาใหญ่มากๆ เพราะจะกลายเป็นว่าเราไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ออกไปเติมสิ่งที่ไม่รู้

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันก็คือการที่เราไม่รู้ว่ามีสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่เราควรจะรู้ ซึ่งก็อาจจะไม่ได้เกิดจาก Ego ของเรา หากแต่เป็นการไม่รู้จริงๆ เพราะไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความเข้าใจ ซึ่งตรงนี้ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยคนที่เป็นที่ปรึกษามาคอยช่วยชี้แนะอีกเช่นกัน

เอาล่ะ ผมพูดมาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นว่าแต่ละคนนั้นมี 4 ข้อนี้ต่างกัน ยิ่งถ้าเรามีข้อ 1 เยอะ เราก็ยิ่งเก่ง มีความสามารถ

แต่เชื่ออะไรไหมฮะ จากประสบการณ์ที่ผมเจอมานั้น คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าตัวเองมี 1 เยอะมาก แต่เอาจริงๆ ที่พวกเขามีคือข้อ 4 ต่างหาก แถมพยายามทำให้เหมือนว่าตัวเองไม่มีข้อ 2

ผมคงไม่พูดอะไรต่อมากนัก แต่เอาเป็นว่าขอให้ลองไปถามตัวเองกันเยอะๆ แล้วกันนะครับ ว่า 4 ข้อนี้คุณมีอะไรมากน้อยขนาดไหนกัน

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page