top of page

8 เครื่องมือช่วยให้บรรยาย / สอนออนไลน์ดูโปรขึ้นกว่าเดิม

การประชุม การสัมมนา การบรรยาย หรือการสอนผ่านออนไลน์นั้นกลายเป็นตัวเลือกจำเป็นสำหรับในช่วงสถานการณ์นี้ ซึ่งหลายๆ คนก็ต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเริ่มมองหาจากบริการต่างๆ เช่น Zoom, Microsoft Team, Google Hangout เป็นต้น โดยบริการออนไลน์เหล่านี้ก็ทำให้เราสะดวกในการประชุมพร้อมกับคนจำนวนมากพ่วงกับการแสดงไฟล์เอกสารต่างๆ การแชร์หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมฟังตามเนื้อหาไปได้

แต่นอกเหนือจากเรื่องของตัวบริการหรือซอฟท์แวร์เองแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันเพื่อให้การบรรยายหรือการสอนผ่านออนไลน์นั้นไหลลื่น หรือสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นการฟังบรรยายผ่านทางออนไลน์แล้วนั้น ก็จะมีผลกับประสิทธิการสื่อสารที่ต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ผมเองซึ่งเป็นผู้ที่สอนก็ยอมรับว่าการสอนในห้องเรียนปรกติกับการสอนออนไลน์นั้นให้ผลแตกต่างกันค่อนข้างมาก และนั่นทำให้การบรรยายออนไลน์จำเป็นต้อง “อุด” หรือ “เติม” บางอย่างเข้าไปให้ได้มากที่สุดเพื่อลดปัญหาต่างๆ หรือสิ่งที่จะกลายเป็นอุปสรรคติดขัดของการบรรยายได้

ปัญหามักเกิดขึ้นในการบรรยาย

ทีนี้เราลองมาดูก่อนว่าในการบรรยาย / สอนทางออนไลน์นั้นเรามักจะเจอปัญหาอะไรกันบ้าง

  1. ภาพ / เสียงกระตุก

  2. ภาพไม่ชัด คุณภาพไม่ดี

  3. การไม่ต่อเนื่องของการบรรยายเวลาเปิดไฟล์ต่างๆ เพื่อประกอบ

  4. การขาดหายไปของ Flip Chart / Whiteboard สำหรับการประชุม / ระดมไอเดีย

ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ เราก็ลองมาดูว่าเราควรจะใช้เครื่องมืออะไรกันบ้าง

กล้อง

จากประสบการณ์ของผมแล้ว การใช้กล้องจากตัว Notebook หรือตัวที่ติดมากับ Desktop นั้นเป็นแค่ “ใช้ได้” แต่อาจจะไม่ได้ “ใช้ได้ดี” เท่าไร แน่นอนว่าถ้าเราเป็นแค่ผู้เข้าสัมมนาก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องสนใจอะไร เผลอๆ เราก็อาจจะปิดตัววีดีโอก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นผู้บรรยายแล้ว การให้ความสำคัญกับภาพตัวเรากับคนฟังก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องทนนั่งดูคนพูดแล้วตัวคุณภาพของภาพแย่ ภาพแตก หน้ามืด ฯลฯ มันก็คงไม่ได้น่าดูเท่าไรนัก แล้วก็จะเบือนหน้าไปดูอย่างอื่นแทนเอาได้

ฉะนั้นแล้วการหากล้องคุณภาพดีมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ควรจะลงทุนอยู่ไม่น้อย ลองหา Webcam คุณภาพดีๆ มาใช้ จะเป็นความละเอียดระดับ Full HD / 4K ก็ได้ (ส่วนตัวผมใช้ Logitech Brio 4K) ซึ่งเท่านี้ก็จะทำให้เราหมดกังวลเรื่องคุณภาพของภาพตัวเราไปได้

ไมค์โครโฟน / หูฟัง

สิ่งที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ คือการใช้ไมค์โครโฟนและหูงฟังจาก Small Talk ปรกติที่เอาไว้คุยโทรศัพท์กัน ซึ่งนั่นก็เป็นลักษณะของการ “ใช้ได้” เหมือนกัน แต่ถ้าเอาคุณภาพเสียงที่ดี เสียงไม่ก้องหรือเพี้ยนก็ควรจะหาไมค์ดีๆ มาใช้แทนดีกว่า ไม่อย่างนั้นแล้วการฟังเสียงเหมือนคุยโทรศัพท์ไป 2-3 ชั่วโมงก็คงไม่ได้น่าฟังเสียเท่าไร

สำหรับไมค์โครโฟนนั้น ก็สามารถหาแบบ USB Mic ง่ายๆ มาใช้กันได้ หรือจะทำเป็นระบบจริงจังเหมือนกับการอัด Podcast ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ตัวระบบกล้องบางรุ่นก็จะมีไมค์คุณภาพดีอยู่ในตัว ซึ่งนั่นทำให้เสียงของการบรรยาย / ประชุมอยู่ในคุณภาพที่ดี ชัด ฟังแล้วสบายหูนั่นเอง

จอเสริม

เวลาที่ต้องบรรยายหรือต้องพรีเซนต์งานผ่านออนไลน์นั้น เราไม่ได้ต้องดูแค่ไฟล์พรีเซนต์เราอย่างเดียว แต่ต้องดูอย่างอื่นประกอบไปด้วยเช่นหน้าจอของคนอื่นว่ามีใครยกมือถามหรือมีอะไรอยากแลกเปลี่ยนไหม? บางคนก็อาจจะมีการพิมพ์ในห้อง Chat ซึ่งนั่นทำให้เราควรมีพื้นที่หน้าจอที่มากพอในการเปิดหน้าจอต่างๆ และเห็นไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้บางคนอาจจะต้องมีการใช้หลายๆ ไฟล์ในการบรรยาย ซึ่งก็ต้องเปิดไฟล์เหล่านั้นรอไว้ด้วยเพื่อสลับไฟล์ / สลับโปรแกรมไปมา

ด้วยเหตุนี้ การมีหน้าจอเสริมนอกจากหน้าจอ Notebook / Desktop เพียงหน้าจอเดียวก็จะเป็นตัวช่วยได้เยอะมาก อย่างผมเองตอนที่มี Macbook เพียงเครื่องเดียวก็จะวุ่นมากในการสลับหน้าจอไปมา หรือต้องคอยมาดูว่าตอนนี้มีคนถามอะไรไหมเนื่องจากหน้าจอไม่ได้ใหญ่ แต่พอใช้หน้าจอเสริมก็จะทำให้ทำงานง่ายขึ้น มีการเปิดหลายๆ หน้าจอรอไว้ ยิ่งถ้าเป็นหน้าจอแบบ Ultrawide Screen แล้วก็จะยิ่งทำงานง่ายขึ้นไปอีก (ตอนนี้มีรุ่นที่ไม่แพงแล้วด้วย)

อันนี้ถ่ายจากที่ผมจัดคอร์สออนไลน์เลยครับ

หน้าจอคนดู

อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ คือการดูว่าคนอื่นในห้องประชุม / ร่วมฟังนั้นเห็นหน้าจออะไรอยู่ ซึ่งก็ควรจะมีการหามือถือ / แท็บเล็ตอีกเครื่องมาเปิดไปควบคู่กัน (แต่ปิดไมค์ปิดวีดีโอ) มาตั้งไว้ข้างๆ เพื่อให้เราชำเลืองดูได้ว่าตอนนี้หน้าจอของคนอื่นจะเห็นอะไร เรากดอะไรผิดหรือเปล่า? ถ้ามีอะไรผิดปรกติจะได้หยุดเพื่อแก้ไขเสียก่อน

iPad + Pencil

อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวของผมเพราะเวลาบรรยายต่างๆ นั้น หลายครั้งเราก็อยากขีดๆ เขียนๆ เหมือนกับที่เราเขียน Flip Chart / Whiteboard ซึ่งถ้าใช้วิธีลากเม้าส์นั้นก็คงไม่เข้าท่าหรือถนัดมือเท่าไร ซึ่งผมจะใช้วิธีการเอาหน้าจอของ iPad ขึ้นให้ผู้เข้าฟังเห็น แล้วเขียนข้อความต่างๆ ผ่านโปรแกรมอย่าง Explain Everything / Notability แทน ซึ่งนั่นก็เป็นอีกลูกเล่นที่สร้างสีสันให้การเรียนการสอนได้เหมือนกัน

ใช้ LAN และเลี่ยงการใช้ WiFi

จริงอยู่ว่าเนตวันนี้แรงพอสมควร แต่การใช้เนตแบบ WiFi นั้นก็มีความเสี่ยงเรื่องความเสถียรของสัญญาณอยู่เหมือนกัน ผมเองก็เคยเจอปัญหาอยู่หลายครั้ง เลยเลือกจะใช้การต่อผ่าน LAN ตรงกับตัวโมเด็มที่บ้านเพื่อให้เกิดความเสถียรที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาการกระตุก หรือบางทีก็ขาดหายไปเลยก็มี

หาเครื่องมืออื่นๆมาช่วยสร้างกิจกรรม

ผมเข้าใจว่าพอสอนออนไลน์ปุ๊ปมันก็จะน่าเบื่อแถมคนฟังก็มีโอกาสจะหลุดหรือเสียสมาธิได้ง่าย ฉะนั้นการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างฟังบรรยายก็เป็นทริคที่มักจะทำกันบ่อยๆ แต่การจะเรียกถาม เรียกตอบนั้นก็อาจจะเป็นวิธีที่ทำได้ไม่กี่ครั้งแล้วก็เบื่อ ฉะนั้นการหาเครื่องมือไปทำกิจกรรมออนไลน์อย่างเช่น Poll / Brainstorm ก็ช่วยเป็นตัวเลือกในการสร้างกิจกรรมกับผู้ฟังได้เหมือนกัน (ลองดูอย่าง Sli.do / Milanote ก็ได้)

เก้าอี้ผู้บรรยาย

ฟังแล้วอาจจะเหมือนขำ แต่การนั่งบรรยายอยู่ 2-3 ชั่วโมงไม่ใช่เรื่องขำแน่นอน (เช่นเดียวกับการนั่งฟัง) ฉะนั้นการเลือกเก้าอี้ดีๆ มานั่งก็ส่วนช่วยให้เราลดอาการปวดเมื่อยที่ดึงพลังการบรรยายออกไป เช่นเดียวกับช่วยรักษาร่างกายของผู้บรรยายไม่ให้พังมากนัก

นอกจากเรื่องเก้าอี้แล้ว การจัดท่านั่ง การวางจอคอมพิวเตอร์ ต่างๆ ก็ต้องทำให้ดีด้วย การวางคอมให้ผู้พูด / ฟังอยู่ในลักษณะก้มหน้าดูตลอดนั้นเป็นท่าที่ไม่ถูกต้องและจะสร้างอาการปวดเมื่อยได้อย่างรวดเร็ว

เทคนิคเล็กๆน้อยๆอื่นๆที่ช่วยเสริมการบรรยาย

  1. พยายาม “มองกล้อง” ไม่ใช่มองจอ เพราะคนที่ดูจะเห็นว่าคุณไม่ได้มองพวกเขา ซึ่งก็จะทำให้ความสนใจต่างๆ ลดลง

  2. ลองซักซ้อมต่างๆ ว่าจะมีเปิดไฟล์อะไรบ้าง ยิ่งถ้ามีการเปิดไฟล์วีดีโอแล้วก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าถ้าเล่นผ่านออนไลน์แล้วภาพกระตุกมากน้อยแค่ไหน ได้ยินเสียงขนาดไหน เพราะมันไม่เหมือนกับการเปิดวีดีโอปรกติ ซึ่งนั่นก็เช่นเดียวกับบรรดา Animation ต่างๆ (ส่วนตัวผมจะบอกว่าให้ใช้ Animation ให้น้อยที่สุด หรือไม่ก็เป็น Animation ง่ายๆ ประเภท Appear ไปเลยเพื่อความไหลลื่น)

  3. อย่าบรรยายนานเกินไป เพราะการนั่งฟังปรกติกับการนั่งดูหน้าจอและฟังเสียงจากคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมงนั้นต่างกันพอสมควร ยิ่งถ้าเป็นการนั่งในท่าที่ไม่สบายแล้วจะทรมานมากๆ อย่างผมเองก็จะบรรยายไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวันเพราะผู้เรียนก็คงหมดแรง เมื่อยแล้ว ควรจะพักแล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทนดีกว่า

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page