top of page

คน 3 ประเภทที่มักจะต่อต้านไอเดียใหม่ๆ ของคุณ

ความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดียคือสิ่งที่เรามักคาดหวังจะให้เกิดขึ้นในที่ทำงานอยู่บ่อยๆ ในการประชุมหรือการแก้ปัญหาต่างๆ มักจะมองหาไอเดียใหม่ๆ เช่นเดียวกับการหาอะไรใหม่ๆ มาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่กำลังเจออยู่

แน่นอนว่าเราทุกคนล้วนอยากได้ไอเดีย แต่ก็ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นง่ายๆ และถ้าดูกันในความเป็นจริงแล้ว เรากลับพบว่าในองค์กรหรือทีมจำนวนมากนั้นกลับไม่ได้มีการเกิดไอเดียใหม่ๆ อย่างที่เราพร่ำบอกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญเสียเท่าไร

ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น? ผมว่านั่นคงเป็นคำถามที่หลายๆ คนคิดอยู่บ่อยๆ

จะว่าไปแล้ว อันที่จริงเราทุกคนก็ล้วนมีไอเดียและหลายๆ ทีมันก็ผุดขึ้นมาเมื่อเราต้องการจะแก้ปัญหาหรือสร้างอะไรใหม่ๆ และถ้าสังเกตแล้ว เราจะเห็นว่าถ้าเป็นการทำงานแบบ “คนเดียว” หรือทำกับ “คนที่เข้าขากัน” มักจะเห็นไอเดียอย่างมากมาย ผิดกับการทำงานในหลายๆ “ทีม” หรือการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นว่าไอเดียกลับไม่ได้เกิดขึ้น

เรื่องนี้ถ้าดูกันจริงๆ แล้วก็จะเห็นว่าเพราะการที่ไอเดียต้องทำงานร่วมกับคนอื่นนั้น มันมักจะถูกปฏิเสธไปอยู่บ่อยๆ (หรือที่เรามักเรียกกันว่า Kill Idea นั่นแหละ) ซึ่งตรงนี้มันก็คงเป็นธรรมชาติในการทำงานที่เราจะเห็นกันได้บ่อยๆ เพราะไอเดียอะไรที่ “ใหม่” ก็มักจะถูก “ต้าน” อยู่เสมอ

Jurgen Salenbacher ได้เขียนเรื่องนี้ในหนังสือ Creative Personal Branding โดยอธิบายไว้ว่าเรามักจะเจอคนสามประเภทที่จะต่อต้านไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ และถ้าเราจะเป็นคนที่ทำงานอยู่กับการสร้างสรรค์ไอเดียก็ต้องหาวิธีที่จะรับมือกับมัน

1. คนที่ปฏิเสธทุกอย่างโดยธรรมชาติ

ว่ากันง่ายๆ ก็คือคนประเภทไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง คนเหล่านี้มักจะมองว่าไอเดียหรือสิ่งอะไรที่ “ใหม่” และ “ต่างไปจากเดิม” เป็นเรื่องที่ไม่ถูก น่ากลัว เสี่ยง ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ถ้าเรามองกันลึกๆ ก็จะพบว่าสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้คิดอย่างนี้ก็คือความ “กลัว” นั่นแหละ แน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ยากมากในการจะเปลี่ยนแปลงความคิดหรือชักจูงให้เขาเห็นตามกับไอเดียของเราได้

2. คนที่ไม่เข้าใจไอเดีย

คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ถึงกับต่อต้านสุดตัว หากแต่เขายังมองไม่เห็นเป้าหมายหรือเข้าใจความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้เขาไม่ได้รู้สึกอินไปกับไอเดียนั้นๆ โดยปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดคนกลุ่มนี้ก็เพราะการสื่อสารที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ คนที่ขายไอเดียเองยังไม่สามารถอธิบายและทำให้คนกลุ่มนี้คล้อยตามได้ วิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อเจอคนกลุ่มนี้คือการปรับกระบวนการสื่อสารให้คนกลุ่มนี้รับสารและเข้าใจมากขึ้น

3. คนที่คิดคล้ายกันแต่ยังไม่คมพอหรือไม่กล้าพอจะพัฒนาและลงมือทำ

ถ้ามองเทียบกันแล้ว คนกลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่รับมือยากที่สุด เพราะส่วนใหญ่มักจะมีแรงของความ “ริษยา” มาเป็นแรงต้านสำคัญ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อันตรายมากเสียกว่าคนประเภทแรกอีก ปัญหาของคนกลุ่มนี้คือการไม่อยากให้ไอเดียอื่นนอกจากของตัวเองได้รับการยอมรับ บ้างก็อาจจะคิดทำนองว่าชั้นมีไอเดียแบบนี้เหมือนกันแต่ทำไมชั้นกลับไม่ได้เครดิต (ทั้งที่จริงๆ ก็เพราะตัวเองไม่ได้เสนอออกมากหรือลงมือทำ)

ผมเชื่อว่าในชีวิตของเรามักจะเจอคนสามประเภทข้างต้นอยู่บ่อยๆ และเราก็ต้องหาวิธีรับมือกับพวกเขาให้ได้ อย่าลืมว่าไอเดียใหม่ๆ นั้นคือการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ กับตัวเรา ให้กับงานและองค์กร ซึ่งถ้ามันถูกต้านและล้มเลิกไป เราก็คงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกันนั่นแหละครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page