top of page

ทำไมองค์กรถึงเก็บ Toxic Superstar ไว้?

จากโพสต์ก่อนหน้าที่ผมพูดเรื่อง Toxic Superstar ไปแล้วก็มีคนเข้ามาแชร์ / แลกเปลี่ยนความเห็นกันเยอะมากนั้น มีประเด็นหนึ่งที่คนรู้จักผมได้ชวนคุยว่าเอาจริง ๆ แล้วเรื่องของ Toxic Superstar นั้นเป็นเรื่องที่หลายองค์กรมี เจอกันอยู่ แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะแก้ไข แถมปล่อยให้เกิดขึ้นกันไปเรื่อย ๆ อีกต่างหาก (เหมือนอย่างที่หลายคนมาแสดงความเห็นหรือแชร์ออกไป) มันก็เลยเป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมองค์กรถึงปล่อยให้เกิดเช่นนั้น ซึ่งเราก็อาจจะมองเห็นได้หลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

🔥 1. เพราะ Toxic Superstar ทำเงินให้กับองค์กร

อันนี้คือประเด็นที่สะท้อนจากการเป็น Superstar ของตัวบุคคลนั่นเอง ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเนื่องจาก Toxic Superstar ก็มักจะเป็นกลุ่มที่ High Performance อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยความสามารถตัวเองจริง ๆ หรือจะเป็นการตุกติก เหยียบคนอื่น หรือฉกฉวยเครดิตต่าง ๆ แต่ในท้ายที่สุดก็จะพบว่าคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ “ทำเงิน” และ “ทำงาน” ในสายตาผู้บริหาร และหากองค์กรแคร์เรื่องของสิ่งเหล่านี้เป็นสำคัญก็ย่อมจะเก็บ Toxic Superstar เอาไว้อย่างไม่ต้องสงสัย และในขณะเดียวกันก็กลัวว่าถ้าเสีย Toxic Superstar ไปจะทำให้เกิดผลกับองค์กร ยอดขายหาย ไม่มีคนทำงาน ฯลฯ ก็เลยเลือกจะทนให้มี Toxic Superstar ไว้ในองค์กรนั่นเอง

🔥 2. เพราะผู้บริหารไม่เห็นว่าเป็น Toxic

นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าคิดเพราะแม้ว่าคนในองค์กรจะรู้กันดีแค่ไหนว่าใครเป็น Toxic People (แทบจะชี้ตัวกันได้แบบพร้อมเพรียง) แต่ผู้บริหารหลายคนก็อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่คนเหล่านี้ทำเพื่อให้มาซึ่งผลงานนั้นเป็น Toxic Behavior แต่อย่างใด โดยนั่นก็อาจจะต่อเนื่องมาจากหลายอย่างเช่นผู้บริหารมีแนวคิดและแนวพฤติกรรมแบบเดียวกัน (ประเภท Toxic เหมือนกัน) หรือบางทีผู้บริหารก็มองไม่เห็นจริง ๆ เพราะอคติ เลือกที่รักมักที่ชัง การโดนรายงานเพียงเรื่องบางเรื่องแล้วไม่รู้ว่าคนอื่นในองค์กรรู้สึกกันอย่างไร ซึ่งจะเป็นแบบไหนนั้นก็จะเห็นว่าตัวผู้บริหารเองเนี่ยแหละที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหาเลยก็ว่าได้

🔥 3. เพราะผู้บริหารก็เป็น Toxic People เสียเอง

อันนี้ก็ต่อเนื่องจากข้อเมื่อกี้คือเพราะผู้บริหารก็เป็น Toxic People อยู่แล้ว ก็เลยไม่คิดว่าสิ่งที่ Toxic Superstar เป็นเรื่องไม่ดีตรงไหน (ไม่งั้นก็วกกลับเข้ามาตัวเอง) ก็จะเข้าทำนองผีเน่ากับโลงผุอยู่ด้วยกันไป มีแต่ให้คนอื่น ๆ ในองค์กรมองด้วยความระอาแต่ไม่กล้าพูดอะไรออกมา

🔥 4. เพราะองค์กรไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังมี Toxic Culture

อันนี้ก็เป็นเหมือนตลกร้ายของวงการธุรกิจเหมือนกันเพราะทุกองค์กรก็จะพูดกันเสมอว่าองค์กรตัวเองเป็นองค์กรที่ดี มีบรรยากาศการทำงานแบบ “พี่น้อง” “ครอบครัว” “เกื้อหนุน” กัน แล้วใครจะกล้าออกมายอมรับกันว่าองค์กรตัวเองกำลังมี Toxic Culture แล้วต้องลงมือแก้ไข แถมการจะแก้ Toxic Culture ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยเพราะต้องไปจัดการกับ Toxic Superstar ที่มักจะเป็นคนมีบทบาทสำคัญ มีอิทธิพลในองค์กร / ทีม ก็เลยเข้าโหมดทน ๆ กันไป แล้วก็เก็บเรื่องราวไว้ใต้พรม ให้คนที่ทนไม่ไหวต้องเดินจากไปเรื่อย ๆ นั่นเอง ส่วนที่ทำ Exit Interview ก็ไม่เอามาพูดกันหรือรู้กันในวงผู้บริหารแต่ก็ทำเป็นไม่เห็นไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ HR ไปหาคนใหม่มาเติมตำแหน่งว่าง เพราะดูจะเป็นการแก้ที่หลุดออกจากหน้าที่ตัวเอง

🔥5. เพราะการบริหารองค์กรไม่ป้องกันแถมยังเกื้อหนุนให้เกิด Toxic Superstar เสียอีก

ข้อนี้เป็นเรื่องที่ผมนึกถึงการบรรยายของ Simon Sinek ที่บอกว่าด้วยการบริหารธุรกิจในปัจจุบันนั้น เราจะมี KPI / OKR มากมายที่พูดถึงผลงานในเชิงผลลัพธ์ของตำแหน่งหน้าที่ การทำงานที่ได้รับมอบหมาย และบรรดาตัววัดเหล่านี้ก็จะสะท้อนกลับมายังการประเมินรายบุคคลในช่วงท้ายปี เช่นปรับตำแหน่ง ให้โบนัส แต่ที่น่าคิดคือเราแทบไม่ค่อยเจอการวัดผลเชิงพฤติกรรม / ความรู้สึกจากเพื่อนร่วมงานเพื่อช่วยประเมินว่าคน ๆ นี้เป็นพนักงานที่ดีหรือเปล่า มันก็เลยทำให้คนที่ทำงานเน้นได้ผลโดยไม่สนใจคนอื่น ๆ ก็ย่อมได้รับรางวัลแม้ว่าพฤติกรรมจะไปกระทบคนอื่นขนาดไหนก็ตาม

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดาเหตุผลว่าทำไมหลายองค์กรยังมี Toxic Superstar กันอยู่ในองค์กร จนกลายเป็นปัญหาด้านการบริหารองค์กรตามมามากมายเช่นการทำงานร่วมกันภายในองค์กร การประสานงาน ความรู้สึกร่วมกันในองค์กร ฯลฯ ซึ่งก็มีการประเมินกันว่าเป็นความเสียหายจำนวนมาก จนก็ไม่แน่ใจว่า Performance ของทาง Toxic Superstar จะคุ้มกับความเสียหายนั้นหรือไม่

ก็คงฝากเอาไว้ให้คิดสำหรับคนที่คิดจะสร้างองค์กร สร้างทีม หรือบริหารทีมที่ตัวเองอยู่ว่าจะรับมือกับสถานการณ์อย่างไรกัน เพราะเอาจริง ๆ แล้วผมคิดว่ามันก็มีหลายองค์กรแหละที่โอเคกับการมี Toxic Superstar เพราะสนเรื่อง Performance เป็นสำคัญ หรือบางองค์กรก็ชอบคนแบบนี้เพราะมีค่านิยม / พฤติกรรมแบบเดียวกัน ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไรน่ะนะ

เพราะทุกองค์กรก็เลือกกันเองแหละครับว่าจะมีองค์กรแบบไหน และมีคนอย่างไรเข้ามาในองค์กร

หมายเหตุ (Edit เพิ่ม) : มีคนทักว่ามีหลายเหตุผลอี่นอีก เช่นกุมความลับบางอย่างไว้ หรือเพราะมีดีลสำคัญอะไรไว้ อันนั้นก็เป็นไปใด้เหมีอนกันครับ เพราะอย่างที่บอกคือที่เอามาเล่านี่เป็นตัวอย่างน่ะนะ แต่เอาเข้าจริงแต่ละบริษัทย่อมมีเหตุผลทั้งแบบที่ “รู้ๆ กัน” และ “ไม่บอกให้รู้” ซึ่งก็แล้วแต่บริษัทจะไปจัดการกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page