top of page

หางานที่ “ใช่” กับตัวเองได้อย่างไร?

เรามักพูดกันเสมอๆ ว่าให้หางานที่เหมาะกับตัวเองแล้วจะมีโอกาสประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข แต่ในความเป็นจริงนั้นมีคนไม่เยอะนักที่จะสามารถได้ทำงานที่ใช่

พูดกันง่ายๆ คือคนจำนวนมากทำงานไปโดยที่ก็ไม่รู้หรอกว่านี่คืองานที่ใช่พร้อมกับเสียงบ่นบ่อยๆ ว่านี่าอจจะไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ

ทีนี้คำถามที่มักจะตามมาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่างานที่ใช่กับตัวเองนั้นคืองานอะไร? งานอะไรคืองานที่เหมาะกับเรา? บล็อกวันนี้ผมเลยลองรวบรวมแนวคิดที่มักจะพูดๆ กันถึงวิธีที่ทำให้เราหาคำตอบนี้ได้มาเล่าสู่กันฟังแล้วกัน

1. สำรวจตัวเองจริงๆ จังๆ

เรื่องแรกๆ ที่นักคิดต่างๆ มักจะพูดกันเสมอคือการที่แต่ละคนล้วนต้องใช้เวลาในการคิดทบทวนว่าตัวเองชั้นมีอะไรดีไม่ดี อะไรคือทักษะที่ตัวเองชื่นชอบ อะไรคือความสามารถที่ตัวเองมีอย่างโดดเด่น และเรื่องนี้อย่าหวังว่าจะรอให้คนอื่นมาบอกเราเพราะต้องเป็นเราที่ต้องเริ่มเองเท่านั้น การคิดทบทวนตัวเองนี้ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรและไม่ควรจะคิดลอยๆ ในหัวเพราะสุดท้ายมันมักจะกลับมาเป็นคำตอบว่า “ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร”

ลองเอากระดาษและปากกาและคิดดูว่าปรกติเพื่อนของคุณมักถามอะไรกับคุณ คุณทำงานอะไรที่มีความสุขหรือรู้สึกว่าทำงานได้ดี อะไรคือสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นทักษะที่คล่องแคล่ว เรื่องเหล่านี้คือคุณลักษณะที่สะท้อนว่าเราเก่งอะไร ชำนาญเรื่องอะไร นั่นก็เช่นเดียวกับถามว่าตัวเองนั้นชื่นชอบอะไร รู้เรื่องอะไรมากเป็นพิเศษ ฯลฯ เมื่อหาคำตอบเหล่านี้ได้มากขึ้นๆ มันก็จะเริ่มสร้างภาพให้เห็นว่าเรานั้นน่าจะเหมาะกับอะไร หรืออย่างน้อยๆ คือการชี้ให้เราเห็นว่าเราควรทำงานประเภทไหนที่สามารถใช้ทักษะเหล่านี้ได้

2. ใช้เครื่องมือช่วย

ในกรณีที่ถามตัวเองเยอะๆ แล้วนึกไม่ออก หรืออาจจะลอยๆ ไม่รู้ว่าจะสรุปอย่างไร การใช้เครื่องมืออย่างพวกแบบสอบถามหรือหนังสือสำรวจตัวเองก็เป็นทางเลือกที่ดีอยู่เหมือนกัน ตัวอย่างหนังสือที่คนมักแนะนำคือ Strength Finder 2.0 (มีแปลไทยแล้วคือ “เจาะจุดแข็ง” ของ Nation Books) ซึ่งจะมีข้อมูลและแบบทดสอบออนไลน์ให้คุณได้ทำเพื่อวิเคราะห์ว่าคุณเก่งเรื่องไหน ชำนาญเรื่องไหน เหมาะกับอาชีพอะไร

3. ถาม Mentor

สำหรับคนที่มี Mentor ในชีวิต เขาก็จะเป็นเหมือนคนไกด์ชีวิตและวิธีคิดที่ดี แน่นอนว่า Mentor หลายๆ คนสามารถมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของเราในบทบาทของคนภายนอกและใช้ความรู้บวกกับประสบการณ์ของเขาในการบอกว่าเราน่าจะเหมาะกับอะไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดไว้ด้วยคือ Mentor นั้นต่างจากคนทั่วๆ ไปและอาจจะไม่ใช่คนที่ประกอบอาชีพ “ครู” เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะ Mentor คือคนที่เป็นเหมือนครูชีวิตซึ่งรู้จักเราในระดับที่ลึกซึ้ง เป็นเสมือนที่ปรึกษาที่ดี ซึ่งนั่นต่างจากการเป็นครูหรือติวเตอร์ที่อาจจะแค่ทำหน้าที่ให้ความรู้เราเป็นหลัก

4. เอาตัวเองไปอยู่กับคนที่มี Passion เยอะๆ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันเยอะคือคนจำนวนมากไม่ได้ลุกขึ้นมาแสวงหาตัวเองก็เพราะสังคมรอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราไปดูบรรดากลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จนั้น พวกเขาก็มักจะอยู่ในวงสังคมคนประเภทเดียวกัน เป็นคนที่มุ่งแสวงหาความสำเร็จและค้นหาตัวเองอยู่เสมอ การเอาตัวเองไปอยู่ในสังคมเหล่านั้นเป็นขั้นตอนในการได้ซึมซับความคิดรวมทั้ง “พลังชีวิต” จากคนเหล่านี้ซึ่งพลักดันให้ตัวเองพยายามจะโตขึ้นให้ได้ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้มีส่วนโดยตรงในการบอกว่าเราควรทำอะไร แต่ในทางอ้อมแล้ว พวกเขาคือคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าการอยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำไปวันๆ นั่นแหละ

5. เปิดโลกตัวเอง ลองในสิ่งที่ยังไม่ได้ลอง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราค้นพบตัวเองไม่ค่อยจะได้ก็เพราะเรายังไม่ได้เห็นโลกที่กว้างใหญ่ตรงหน้าและจำกัดทางเลือกอยู่กับสิ่งที่มี (ซึ่งก็ยังไม่ใช่ตัวเองนั่นแหละ) การมองเห็นว่าโลกข้างนอกนั้นกว้างใหญ่ มีอะไรให้ทำ มีอะไรที่สามารถเหมาะกับเราได้มากกว่าที่เราเป็นอยู่คือการเปิดทางเดินชีวิตเราให้มีทางเลือกมากกว่าเดิม เห็นว่าทางเดินใหม่ๆ อาจจะเหมาะกับเรามากกว่าแค่รูปแบบงานที่เรารู้จัก นอกจากนี้แล้ว การได้ลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างน้อยๆ ก็ได้ประสบการณ์มาเป็นตัวเสริมชีวิตแถมบางทีก็อาจจะทำให้เราได้พบตัวตนบางอย่างที่เราไม่เคยรู้ตัวว่ามีด้วยเหมือนกัน

5 ข้อข้างต้นเป็นสิ่งที่ผมมักจะบอกเป็นไกด์ให้กับคนที่มาถามว่าเราจะหาตัวตนและงานที่เราชอบได้อย่างไร มันอาจจะฟังดูไม่มีอะไรสลับซับซ้อนแต่เอาจริงๆ ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นตามมาซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากๆ คือการไม่ลงมือทำอะไรเสียที ฉะนั้นถ้าคุณคิดจะจริงจังกับการหาตัวเองและงานที่ใช่ ขอให้ลงมือทำอย่างน้อยสักข้อข้างต้นแล้วกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page