top of page

[เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน] 20 – งานสำเร็จอาจจะไม่ใช่แค่ทำงานเสร็จ

ผมเคยเขียนบล็อกก่อนหน้านี้ว่าการทำงานที่ดี บางครั้งคือการทำงานที่มากกว่าหน้าที่ เพราะบางทีการที่เราไปคิดเรื่องว่าขอเพียงให้ทำงานครบตามที่ได้รับมอบหมายก็น่าจะเพียงพอกับการเป็นพนักงานบริษัทแล้วนั้น ก็อาจจะทำให้การทำงานของเราเพียงแค่ “ครบ” แต่ยังไม่เพียงพอจะสร้างคุณค่าบางอย่างให้โดดเด่นออกมาได้ นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมมักคิดควบคู่กันมากับความคิดนี้คือการตั้งคำถามให้ตัวเองว่า “ความสำเร็จ” คืออะไร

อย่างที่ได้เกริ่นไปตั้งแต่ชื่อของบล็อกแล้ว “ความสำเร็จ” ของงานที่เรากำลังทำอยู่อาจจะไม่ใช่การทำงานเสร็จและครบ เพราะเนื้องานที่เราทำอาจจะมีความหมายมากกว่านั้น การปรับวิธีคิดให้เห็นภาพรวมของงานมากกว่าสิ่งที่เราทำตรงหน้านั้นจะทำให้เราเห็นความสำเร็จของมันได้มากกว่าที่เรากำลังทำงานอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าการเป็นนักเขียนให้กับนิตยสารนั้น ถ้าผมมองว่าความสำเร็จคือการทำงานให้เสร็จแล้ว การปั่นต้นฉบับเสร็จตามกำหนดและได้รับตีพิมพ์ก็น่าจะเพียงพอแล้วกับการบอกว่าผมทำงานสำเร็จ แต่มันเป็นแค่นั้นจริงๆ หรือ? หากมองภาพให้กว้างขึ้นกว่าเดิมแล้ว ผมสามารถเลือกมองได้ว่าความสำเร็จที่แท้จริงของ “งานเขียน” ที่ผมได้รับมอบหมายมานั้นคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้อ่าน ทำให้พวกเขารู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น หรืออาจจะสามารถการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของเขาเลยก็ได้ ซึ่งถ้าผมทำได้แล้ว นั่นต่างหากที่อาจจะเรียกว่าผมประสบความสำเร็จในการทำงาน

จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าการมองแค่งานเสร็จกับการมองว่าอะไรคือการประสบความสำเร็จที่แท้จริงของงานนั้นอาจจะต่างกันมากพอสมควร ซึ่งการปรับมุมมองเหล่านี้จะยิ่งทำให้เราเข้าใจความหมายของงานที่เราทำอยู่ เช่นเดียวกับการมองเห็นได้ว่าเราจะต้องทำอย่างไรให้เราประสบความสำเร็จจริงๆ เพราะมุมมองใหม่นี้จะทำให้เราตระหนักได้ว่าขั้นตอนไหนสำคัญบ้างเพื่อให้เกิดความสำเร็จดังกล่าว หรือการปรับแต่งขั้นตอนไหนจะทำให้เกิดความสำเร็จเร็วขึ้น หรือมีความสำเร็จมากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานทุกวันนี้มักถูกครอบเอาไว้ด้วยระบบ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้คนสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง หรือทำให้คนต่างๆ สามารถมาทำงานทดแทนกันได้ง่าย เช่นเดียวกับการสร้างความรัดกุมของงาน ระบบเหล่านี้มีส่วนดีตรงที่ทำให้ทุกอย่างจับต้องและตรวจสอบได้ แต่ก็อีกนั่นแหละที่มันทำให้หลายๆ คนมองและสนใจกับระบบมากจนลืมมองเห็นอะไรที่อยู่นอกเหนือกรอบที่แบบแผนที่ส่งต่อกันมา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็คงต้องบอกว่าระบบของหลายๆ ที่ลืมมองและให้ความสำคัญกับการสร้างวิสัยทัศน์ให้กับคนระดับปฏิบัติงานเองด้วย ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ต้องไปปรับแก้กันต่อในระดับองค์กรเพื่อให้พนักงานสร้างวิสัยทัศน์ของตัวเองได้กว้างขึ้นกว่าแต่ก่อน ในขณะเดียวกันนั้น พนักงานก็ต้องรู้จักที่ปรับมุมมองของตัวเองให้ต่างไปจากเดิมด้วยเช่นกัน

การทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับบางคนที่รู้สึกว่ามันจำเจ แต่จริงๆ แล้วในสิ่งที่วนเวียนซ้ำซากก็อาจจะมีอะไรมากกว่านั้นได้ถ้าเราจะมอง แม้แต่คนทำอาหารในทุกๆ วันก็ยังสามารถมองหาความสำเร็จในทุกจานที่ถูกเสิร์ฟออกไปได้ นับประสาอะไรกับพวกเราที่มีอะไรมากมายให้ทำในแต่ละวันกัน (ถ้าสงสัยเรื่องนี้ผมแนะนำให้หาหนังเรื่อง Jiro Dream of Sushi มาลองดูนะครับ ^^)

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page