top of page

เหลียวมองการปรับตัวร้านอาหารในญี่ปุ่นโดยใช้เทคโนโลยี

ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งประเทศที่ผมมักจะเดินทางไปบ่อยๆ และหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจที่อยู่รอบตัว เพราะแม้ว่าเรื่องการตลาดของญี่ปุ่นอาจจะไม่ได้แตกต่างหรือมีอะไรหวือหวา (หากไม่นับความครีเอทีฟแบบสุดขอบเวลาคิดคอนเทนต์ต่างๆ) แต่ถ้าว่าด้วยเรื่องประยุกต์เทคโนโลยีเข้ามาในธุรกิจนั้นเรียกว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย

อย่างล่าสุดที่ผมกำลังอยู่ที่ญี่ปุ่น (ตอนที่เขียนบล็อกนี้) ก็เพิ่งไปกินร้านอาหารซูชิจานหมุนแบบที่เราคุ้นเคยกัน แต่จากการสอบถามกับเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่นเช่นเดียวกับที่สังเกตและลองเป็นลูกค้าเองแล้ว ก็เริ่มเห็นว่าหลายๆ ร้านเริ่มเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริการมากขึ้น อย่างร้านที่ผมกินนั้นก็เรียกว่าสามารถให้บริการลูกค้า 26 คน (ตามความจุของร้าน) โดยที่มีพนักงานบริการหน้าร้านเพียงไม่กี่คน (ตอนที่ผมไปนั้นมีเพียงคนเดียว)

ทีนี้เรามาดูกันว่าเขาทำกันอย่างไรบ้าง (เท่าที่ผมสังเกตเร็วๆ นะครับ)

1. ให้ลูกค้าสั่งอาหารจาก Tablet โดยตรง

หลายๆ ร้านในญี่ปุ่นตอนนี้เริ่มที่จะมี Tablet ตามโต๊ะหรือที่นั่งต่างๆ ไว้เพื่อให้ลูกค้าสามารถดูเมนูแล้วก็ทำการกดสั่งอาหารได้ด้วยตัวเอง เรียกว่าลดปัญหาการที่พนักงานจะต้องวิ่งไปวิ่งมารับออร์เดอร์ หรือบางทีจดผิดจดถูก ถ้าลูกค้าชอบอะไรก็กดสั่งได้ตามที่ตัวเองต้องการและจะกดสั่งกี่ครั้งก็ได้ แถมเมื่อต้องการเช็คบิลต่างๆ ก็กดสรุปยอดแล้วเดินไปจ่ายเงินที่หน้าร้านได้เลย

ถ้าจะว่าไปแล้ว วิธีนี้เรียกว่าอาจจะแปลกๆ สำหรับลูกค้าที่เคยชินกับการที่ต้องรอพนักงานมารับออร์เดอร์ แต่ถ้ามองในแง่ระยะยาวหากคนมีปรับพฤติกรรมและเรียนรู้การใช้งานได้แล้ว ก็จะพบว่าสะดวกกับทางร้านมาก แถมเป็นการเก็บข้อมูลต่างๆ ไปในตัวว่าลูกค้าแต่ละคนสั่งอะไร สั่งบ่อยขนาดไหน สามารถทำวิเคราะห์ข้อมูลต่อหลังบ้านได้ทันที การทำระบบรายรับรายจ่ายก็แม่นยำ ขณะเดียวกันพนักงานที่จำเป็นก็จะใช้ไม่กี่คนเพื่อคอยอธิบายลูกค้าที่อาจจะใหม่กับระบบ แล้วก็ทำหน้าที่ตอนจ่ายเงินกันไป

นอกจากนี้แล้ว ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีแบบนี้คือเมนูต่างๆ ก็อัพเดทได้อยู่ตลอด ชอบอะไรไม่ชอบอะไรก็ดึงเข้าออกได้ ทำเมนูภาษาอื่นๆ ก็เพิ่มได้ทันที ไม่ต้องพิมพ์ใหม่

ถ้าเรามองอย่างนี้แล้ว จะเห็นว่าเทคโนโลยีทำให้เราใช้คนน้อยลง อาจจะเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น แต่มันก็เป็นการลงทุนระยะยาวแถมเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ในการทำงานหลังบ้านได้ดีกว่าเดิมด้วย

2. การเสิร์ฟอาหารแบบใช้เครื่องจักร

ร้านที่ผมไปกินเป็นซูชิจานหมุน ตอนแรกผมก็สงสัยเหมือนกันว่าถ้าสั่งอาหารของตัวเองโดยไม่ใช้วิธีการหยิบจากตัวจานที่หมุนไปตามรางนั้นจะเป็นอย่างไร จะมีพนักงานหยิบมาไหม ปรากฎว่าพออาหารพร้อม มันก็มีถาดพิเศษ (ทำเป็นรูปรถไฟ) แล่นมาจอดตรงหน้าผมเพื่อส่งอาหารของผมโดยเฉพาะ (มาตรงที่นั่งของผม) แล้วจากนั้นก็วิ่งกลับไป

วิธีการนี้อาจจะดูไม่ซับซ้อนอะไรมากแต่ถ้าว่ากันจริงๆ มันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ฉลาดอยู่เหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่าไม่ต้องให้พนักงานเสิร์ฟวิ่งไปวิ่งมา แล้วอาจจะมีหยิบผิดหยิบถูกอะไร พ่อครัวก็ดูออร์เดอร์ตามที่สั่งแล้วก็เลือกว่าจะส่งไปที่โต๊ะไหนถาดก็เลื่อนไปตามที่ระบุไว้ เรียกว่าประหยัดเวลา ประหยัดคนไปมากเลยทีเดียว

2. การชำระเงินที่หลากหลายและสะดวกกว่าเดิม

เรื่องการชำระเงินที่ญี่ปุ่นนี่เรียกว่ามีหลายทางเลือกมากและก็สะดวกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายด้วยเงินสดแบบดั้งเดิม หรือจะใช้เครดิตการ์ดก็ได้ แต่ด้วยการที่ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นนั้นเริ่มใช้ Mobile Payment กันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างพวก Apple Pay หรือการใช้การ์ดอย่างพวก Suica ก็ยิ่งทำให้การชำระเงินต่างๆ ทำได้รวดเร็ว การใช้เวลาต่อลูกค้าก็น้อยลง ทำให้ภาะการทำงานของพนักงานก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างตัวผมเองมาที่ญี่ปุ่นรอบนี้ก็ใช้ Apple Pay ที่เชื่อมกับบัตร Suica จ่ายเงินตลอด จนแทบไม่ได้หยิบเงินสดหรือเอาบัตรเครดิตมาใช้เลย ซึ่งสอบถามกับเพื่อนทีอยู่ญี่ปุ่นเองนั้นก็พบว่าพฤติกรรมหลังๆ คือพกโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องพกบัตรหลายๆ ใบให้ยุ่งยากอีกต่อไป

บล็อกนี้อาจจะเป็นเหมือนเรื่องราวที่ผมมาเที่ยวในต่างแดนแล้วเห็นเรื่องน่าสนใจ เลยหยิบมาเล่าสู่กันฟัง แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ แล้วจะเห็นว่านี่เป็น Digital Transformation แบบหนึ่งของร้านอาหารที่พยายามปรับตัวให้ตัวเองมีประสิทธิภาพในการให้บริการที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั่นเองล่ะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page