top of page

ให้คอมเมนต์งานอย่างไรถึงจะ “เวิร์ค”

การให้คอมเมนต์งานนั้นเป็นสิ่งที่ถ้าว่ากันตามจริงแล้วก็มักจะสร้างความปวดหัวในทุกๆ ออฟฟิศตามที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “คอมเมนต์แบบนี้จะทำงานได้ยังไง” หรือไม่ก็ “คอมเมนต์แบบนี้อย่าคอมเมนต์ดีกว่า” และถ้าพิจารณากันดีๆ ก็จะพบว่างานจำนวนมากที่ไม่ได้เดินต่อก็เพราะมัวแต่ต้องปรับตามคอมเมนต์ที่ไม่รู้จักจบสิ้นนั่นแหละ

ในประสบการณ์ของผมนั้น ผมก็เจอมาหมดทั้งเป็นคนแก้งานตามคอมเมนต์และเป็นคนคอมเมนต์เอง สิ่งที่ผมมักจะเจอคือการคอมเมนต์ที่ดีจะทำให้งานเดินและดีขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่การคอมเมนต์ที่ไม่ได้เรื่อง (ซึ่งมักเป็นส่วนมาก) จะทำให้งานช้า มีปัญหา และเสียเวลาโดยใช่เหตุ

พอเป็นอย่างนี้ บล็อกวันนี้เลยขอสรุปแนวทางบางอย่างที่อาจจะเป็นตัวช่วย คำถามควรคิด หรือแนวทางในการคอมเมนต์งานเสียหน่อย เผื่อใครจะเอาไปลองปรับใช้กันดูนะครับ

1. คิดเสมอสิ่งที่คุณจะคอมเมนต์นั้นสำคัญขนาดไหน?

อย่าลืมว่าทุกอย่างที่คอมเมนต์นั้นมักจะเป็นสิ่งที่ต้องนำไปปรับแก้หรือทำงานต่อ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะต้องมีคนมาทำงานเพิ่มขึ้นหลังจากที่เราให้คอมเมนต์ไป คำถามคือสิ่งที่เรากำลังจะให้เขาไปปรับแก้นั้น “คุ้มค่า” กับเวลาที่เสียไป แรงงานที่ต้องใช้ และอื่นๆ ที่ตามมาหรือไม่ และควรคิดด้วยว่าคอมเมนต์ที่จะให้แก้นั้นสำคัญขนาดไหน

เวลาเราพูดคำว่าสำคัญนั้น ก็ต้องมองให้เห็นด้วยว่าถ้ามีการแก้ไขแล้ว มันจะสร้างผลกระทบมากน้อยอย่างไร งานจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นอาร์ตเวิร์คนั้นก็ต้องถามว่าการแก้ดังกล่าวจะทำให้งานดูดีขึ้นจริงหรือเปล่า หรือที่แก้นั้นเพียงแค่เพื่อพอใจคนคอมเมนต์แต่จริงๆ กลับไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่ควรจะแก้หรือเปล่า

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมมักจะแนะนำกับหลายๆ คนเสมอรวมทั้งตัวผมเองด้วย เพราะแม้ว่าเราจะมีความ Perfectionist แค่ไหน แต่เราก็ต้องมองภาพรวมต่างๆ ไปด้วย หลายงานที่ผ่านตาผมนั้นก็ไม่ได้ดั่งใจ 100% หากแต่ผมประเมินแล้วว่าการให้คอมเมนต์ไปปรับแก้แล้วก็อาจจะไม่คุ้มเท่ากับปล่อยงานนี้แล้วเอาแรงไปทำงานชิ้นอื่นที่สำคัญกว่า เพราะถ้ามัวแต่มานั่งแก้งานเดียวแล้วไม่ได้สร้าง Impact อะไรเยอะและทำให้งานอื่นๆ ที่รออยู่ต้องพังไปด้วย ก็เท่ากับว่าเราเองนั่นแหละที่ทำให้เสียงาน

2. คิดด้วยว่าคุณรู้เรื่องนั้นๆ แค่ไหน

เรื่องที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ เวลามีการคอมเมนต์งาน “ศิลปะ” คือทุกๆ คนล้วนมีความเห็นและรสนิยมส่วนตัว บางคนไม่ชอบสีนั้น บางคนไม่ชอบ Copy แบบนี้ บางคนถูกใจรูปแบบนั้น จนสุดท้ายกลายเป็นคอมเมนต์เยอะไปหมดจากคนที่จริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ

สำหรับผมเอง การจะคอมเมนต์งานอะไรสักชิ้น ผมก็ต้องหันมาสำรวจตัวเองในระดับหนึ่งเหมือนกันว่าเรารู้เรื่องดีแค่ไหน เพราะถ้าการให้คอมเมนต์ของเราอาจจะทำให้เรื่องเขวหรือสร้างภาระหนักกว่าเดิมจาก “ความเห็น” ของเรา ซึ่งจริงๆ อาจจะดีอยู่แล้วแต่เพราะเราไม่ได้เข้าใจหรือรู้เรื่องนี้

ด้วยเหตุนี้เอง ถ้าเราจะคอมเมนต์งานอะไร อย่าได้คอมเมนต์เพียงเพราะ “ตำแหน่ง” หรือ “บทบาท” เช่นการเป็นหัวหน้า การเป็นแผนกที่สูงกว่า หรือการเป็นลูกค้า แต่ควรเป็นเพราะเรามีความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะคอมเมนต์ต่างหาก

3. คอมเมนต์ให้เห็นปัญหาและบอกวิธีแก้ไข

“การบ่นว่าไม่ชอบไม่ใช่การคอมเมนต์” นี่คือหลักการของผม เพราะแม้ว่าเราอาจจะไม่ชอบ ไม่ถูกใจ แต่เราก็ต้องอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไม ทำไมการไม่ชอบของเราถึงจำเป็นและสำคัญ ตลอดจนการชี้ให้เห็นว่าเราควรจะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้คนที่รับงานต่อสามารถแก้ไขได้ถูกจุดโดยใช้เวลาไม่เยอะ ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของคนที่คอมเมนต์งานเก่งๆ และคนอื่นๆ จะอยากทำงานด้วย

3 อย่างข้างต้นคือสิ่งที่เป็นเหมือน Checklist ของผมเวลาจะให้คอมเมนต์งาน ก็ถือเป็นการเอามาแลกเปลี่ยนนะครับ ถ้าใครมีวิธีอื่นๆ ก็มาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ :)

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page