top of page

10 วิธีวิจารณ์เพื่อนร่วมงานและลูกน้องให้มีประสิทธิภาพและไม่ทำลายกำลังใจ

เราทุกคนล้วนชอบเวลาที่มีคนมาชื่นชมเรา และรู้สึกแย่เวลาที่มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์เรา แน่นอนว่าเมื่อเราต้องเป็นผู้ที่ต้องวิจารณ์คนอื่นด้วยแล้วนั้น การคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราก็คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่พึงกระทำ เพราะการวิจารณ์นั้นย่อมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทำร้ายจิตใจกันได้ง่ายๆ 

ยิ่งกับในการทำงานซึ่งต้องมีการติดต่อคุยงานกันต่อแล้ว การที่ต้องรู้สึกไม่ดีกับอีกฝ่ายที่มาวิจารณ์คงไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากให้เกิดขึ้น หรือแม้แต่กรณีที่ลูกน้องจะหมดกำลังใจและยอมแพ้กับการทำงานหลังได้รับคำวิจารณ์ไป

ทำอย่างไรที่เราจะลดความเสี่ยงดังกล่าว และเปลี่ยนการวิจารณ์ที่ถูกมองว่าเป็นการเสี่ยงต่อการสูญเสีย ให้กลายเป็นโอกาสที่สร้างงานให้มีประสิทธิภาพได้? หนังสือ Executive Power ของ David J Lieberman ได้มีบทหนึ่งที่พูดเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังรวบรวมเทคนิคสำคัญ 10 ข้อที่คนทำงานในออฟฟิศควรรู้ดังต่อไปนี้

  1. บอกให้เขารู้ว่าที่คุณพูดเรื่องนี้ ก็เพราะคุณใส่ใจในตัวเขาและความสัมพันธ์ระหว่างตัวคุณกับตัวเขา

  2. กล่าวคำวิจารณ์เป็นการส่วนตัวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ไม่ควรให้ใครคนอื่นได้ยิน

  3. เน้นย้ำข้อดีและจุดเด่นของเขาก่อนเพื่อให้เกิดการเปิดใจรับฟังและลดการใช้ศักดิ์ศรีมาเป็นอคติ

  4. วิจารณ์ที่ “การกระทำ” ไม่ใช่ “ตัวบุคคล” ชี้ให้เห็นว่าที่กำลังพูดนั้นคือสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป เช่น “คุณเป็นคนที่ดี แต่สิ่งที่คุณได้ทำลงไปนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนัก” ไม่ใช่ “คุณเป็นคนไม่ดีเอาเสียเลย”

  5. อย่าทึกทัก หรือพูดเป็นนัยว่าสิ่งที่เขาได้ทำลงไปอันนำมาสู่การวิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่เขารู้แก่ใจหรือตั้งใจทำ แต่ให้ตั้งต้นว่าสิ่งที่เขาทำลงไปนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

  6. ถ้าเป็นไปได้ ให้คุณร่วมรับผิดชอบบางส่วนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้โยนภาระทุกอย่างให้เขาเพียงอย่างเดียว

  7. ให้ทางออกกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่ถ้าคุณเองก็ยังหาทางออกไม่ได้ คุณก็ไม่ควรจะพูดถึงมัน เช่นเดียวกับถ้าคุณรู้ว่าคุณเสนอไปเขาก็จะไม่ทำตาม ก็อย่าได้เสนอมันเช่นกัน

  8. ชี้ให้เห็นว่าเขาไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหานี้ การทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้จะช่วยลดความกดดัน เช่นเดียวกับลดการใช้ศักดิ์ศรีของตัวเองมาเป็นอคติจนไม่ยอมปรับแก้

  9. พูดจาอย่างสุภาพ งดใช้คำที่นำไปสู่การเข้าใจผิดหรือเร้าอารมณ์โดยไม่จำเป็น

  10. ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการวิจารณ์ คือเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้ว

เทคนิค 10 ข้อนี้ ถ้าพิจารณาดีๆ แล้ว ก็จะเห็นว่าเกี่ยวโยงกับความคิดเรื่องใจเขาใจเราอยู่พอสมควร ถ้าเราถอดหมวกของการเป็นผู้พูดแล้วสลับบทไปเป็นผู้ฟัง เราก็คงรู้สึกและอยากได้รับการวิจารณ์ในลักษณะข้างต้นเช่นเดียวกัน

ก็ลองเอาไปปรับใช้กันนะครับ

หมายเหตุ หนังสือ Executive Power มีแปลเป็นไทยแล้ว ชื่อ “คิดจะเป็นนายคน ต้องเก่งคน”

ภาพประกอบซื้อและดาว์นโหลดจาก Bigstock

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page