top of page

Future of Content: คอนเทนต์แบบต่างๆ ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

ด้วยบริบทของสื่อแบบใหม่ เช่นเดียวกับโครงสร้างของสังคมปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและความรวดเร็วที่ต่างจากเดิมเยอะ ทำให้การออกแบบคอนเทนต์ในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายมิติมากกว่าเดิมจนเกิดประเภทคอนเทนต์ใหม่ๆ ขึ้นในปัจจุบันและจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

เวลาที่ผมพูดถึงคอนเทนต์ในบริบทนี้ ผมมักไม่พูดในแค่เรื่องของ Format ว่าจะเป็นคอนเทนต์ภาพ วีดีโอ บทความ แต่มันยังมีบริบทอื่นๆ ที่น่าสนใจและเห็นโอกาสในการต่อยอดทำคอนเทนต์ได้อีกมากมาย ซึ่งขอรวบรวมบางส่วนมาเล่าให้บล็อกวันนี้ครับ

1. Personalized / Contextual / Customized Content

ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีทำให้ผู้ลงโฆษณา คนเผยแพร่คอนเทนต์มีโอกาสได้รู้ว่าคนฟังเป็นใคร มีพฤติกรรมหรือมีความสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ และทำให้เราเปลี่ยนจากการทำคอนเทนต์ประเภท Broadcast ที่ให้ทุกคนได้รับข้อความเหมือนกันๆ เปลี่ยนไปเป็นการที่แต่ละคนได้รับคอนเทนต์ที่แตกต่างกันอิงจากความสนใจหรือพฤติกรรมของคนๆ นั้น หรือบางครั้งก็อิงจากบริบทรอบข้างเช่นสถานที่ เวลา ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้ได้นั้นจะเกิดขึ้นจากอานิสงส์ของเทคโนโลยีในตัวแพลตฟอร์มอย่าง Facebook / Google / YouTube ที่นำข้อมูลต่างๆ มาประมวลผลเพื่อคัดสรรคอนเทนต์ได้ดีขึ้น แม่นยำขึ้น และตรงความต้องการมากขึ้นนั่นเอง

2. Responsive Content

ความท้าทายของการเผยแพร่คอนเทนต์ในปัจจุบันคือแต่ละสื่อนั้นมีรูปแบบในการแสดงผลคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน วาระที่คนจะดูคอนเทนต์จากแต่ละช่องทางก็ไม่เหมือนกัน เช่นดูผ่านมือถือระหว่างเดินทาง เปิดคอมดูระหว่างที่ทำงาน ดูผ่านทีวี ฯลฯ และนั่นทำให้แม้ว่าจะเป็นคอนเทนต์เดิม แต่ก็ต้องพร้อมจะสามารถปรับให้เข้ากับหน้าจอหลายๆ แบบได้เหมือนกับที่เว็บไซต์ในปัจจุบันก็จะมีการออกแบบที่เรียกว่า Responsive Design คือดูและใช้งานได้ดีไม่ว่าจะผ่าน Device แบบไหน ซึ่งในแง่ของคอนเทนต์นั้นอาจจะต้องมีการปรับและทำออกมาในหลายเวอร์ชั่นเพื่อให้เหมาะกับแต่ละสื่อ (เหมือนกับที่วีดีโอบน Facebook / YT แม้ว่าจะมีจากหนังตัวเดียวกัน แต่ก็มีการตัดต่อและปรับขนาดให้เหมาะกับหน้าจอของแต่ละแพลตฟอร์ม)

3. Liquid Content

ในอีกมุมหนึ่งที่คล้ายๆ กับ Responsive Content นั้น ก็คือการมองว่าคอนเทนต์สมัยก่อนจะมีกรอบที่ชัดเจนจนทำให้คอนเทนต์นี้ไม่สามารถไปลงกับสื่ออื่นได้ง่ายๆ (เลยเรียกว่า Fluid Content) เช่นเป็นหนังสำหรับฉายทีวีเท่านั้น เป็นบทความสำหรับลงในหนังสือ ฯลฯ ทำให้ตัวคอนเทนต์ค่อนข้างจำกัดและ “นิ่ง” ซึ่งต่างจากตัว Liquid Content ซึ่งคนออกแบบจะสามารถนำตัวคอนเทนต์ / Artwork ไปใช้กับสื่อต่างๆ ได้หลากหลายโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก แต่ทั้งนี้ก็เกิดจากการคิดมาแต่ต้นแล้วว่าตัวคอนเทนต์นั้นจะสามารถไปอยู่ที่ไหน อย่างไร

4. Niche Content

ด้วยสภาพสังคมออนไลน์ปัจจุบันที่มีการเกาะกลุ่มและสร้างเครือข่ายย่อยๆ อยู่บนความสนใจร่วมกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าคอนเทนต์ที่จับความสนใจเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นอาจจะไม่ได้ “ดัง” ในระดับ Mass แต่กลับเป็นที่พูดถึงหรือแชร์ต่อกันอย่างหนักในวงสังคมนั้นๆ และนั่นทำให้หลายๆ Publisher เองก็เริ่มคิดว่าบางทีการอยู่รอดในการแข่งขันคอนเทนต์ปัจจุบันไม่ใช่การพยายามจะเป็น Mass Publisher แต่เป็นการโฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นสำคัญแต่สามารถจับกลุ่มคนดูได้อยู่หมัด ตัวอย่างเช่นสังคมของกลุ่ม Game Caster เป็นต้น

5. Trending / Real-Time Content / News

จากการที่โลกออนไลน์นั้นเป็นโลกที่มีข่าวสารวิ่งผ่านไปมาเร็วมากๆ ในปัจจุบัน ทำให้เรามีกระแสหรือมีเรื่องพูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ แทบทุกวัน ซึ่งการพยายาม “เกาะกระแส” เรื่องเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทของคอนเทนต์ที่มักจะเห็นบ่อยๆ เพราะมันทำให้ตัวคอนเทนต์นั้นอาศัยกระแสในการสร้างความสนใจ ทำให้คนเห็น หรือทำให้ตัวเองอยู่ในบทสนทนาของคนออนไลน์ที่กำลังเสพข่าวนั้นๆ อยู่

6. Evergreen Content

สิ่งที่กึ่งๆ ตรงกันข้ามกับข้อที่แล้วที่อาศัยการเกาะกระแส และหายไปเมื่อกระแสหมดก็คือตัว Evergreen Content ที่เป็นคอนเทนต์ที่สามารถหยิบมาใช้ได้อยู่เรื่อยๆ นำมาโพสต์ได้อีกหลายๆ ครั้ง กล่าวคือมีความเป็น Universal of Time สูง ตัว Publisher สามารถนำคอนเทนต์เหล่านี้มาเผยแพร่ได้อีก แถมตัว Evergreen Content หลายๆ ชิ้นก็สามารถช่วยในเรื่องการทำ SEO เพื่อดึง Traffic มาอ่านคอนเทนต์ได้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง (เพราะเป็นเรื่องที่คน Search หาอ่านอยู่เรื่อยๆ)

7. Conversational Content

ด้วยสังคมออนไลน์เป็นสังคมของการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยน หรือวิจารณ์ต่างๆ (โดยเฉพาะสังคมไทยน่ะนะ) ทำให้คอนเทนต์ที่สามารถจุดการพูดคุย นำคอนเทนต์นั้นเป็นเชื้อไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็เป็นคอนเทนต์อีกประเภทที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางทีก็เป็นการทำ Meme ล้อเลียนก็ได้ ซึ่งคอนเทนต์ในกลุ่มนี้มักจะกลายเป็นกระแส การเป็น Trending Topic (ตัวอย่างเช่นกรณีของ #ประเทศกูมี เป็นต้น)

8. Extendable Content

อันนี้จะคล้ายๆ กับข้อที่แล้ว แต่จะต่างตรงที่ตัวคอนเทนต์เริ่มต้นนั้นทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่ประเด็นอื่นๆ ได้อีกเรื่อยๆ เรียกว่าเป็นการสร้างกระแสใหม่โดยใช้แนวคิดจากกระแสเดิม เช่นสมัยที่เรามี มั่นใจคนไทย10ล้านคนไม่เอา….. แล้วก็มีการเปิดเพจในทำนองเดียวกันแต่บิดประเด็นหลังไปเรื่อยๆ

นี่เป็นตัวอย่างของประเภทคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่เราอาจจะคุ้นเคยกันมาบ้าง ผ่านตากันมาบ้าง แต่อาจจะไม่เคยเรียกกันเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไร อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าคอนเทนต์เหล่านี้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างสังคมและรูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ อย่าง Social Media / Digital Channels ทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายและจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

จึงเป็นสิ่งที่คนทำงานคอนเทนต์และด้านการสื่อสารควรจะรู้เอาไว้เสียหน่อยนั่นเองล่ะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page