top of page

ข้อคิดเรื่องนวัตกรรมจากงาน #Innov8rs ที่ #SEAC

หนึ่งในงานสัมมนาด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่น้อยคืองาน Innov8rs ซึ่งโฟกัสไปยังกลุ่มคนที่อยู่ในบริษัทระดับ Corporate ที่ต้องทำงานด้านนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งในปีนี้ก็ได้มีการจัดขึ้นที่กรุงเทพด้วยความร่วมมือจากทาง SEAC

แน่นอนว่าพอเป็นเรื่องนวัตกรรมในระดับ Corporate นั้นก็จะมีมุมมองบางอย่างที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ผมเลยถือโอกาสสรุปประเด็นบางอย่างที่น่าคิดไว้ในบทความนี้ครับ

หมายเหตุ: ผู้เขียนเข้าร่วมงานนี้ในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากทางผู้จัดงาน ทั้งนี้การเขียนและโปรโมตบทความนี้ไม่ได้มีการว่าจ้างหรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งผู้จัดงานไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความนี้

นวัตกรรม 3 อย่างที่กำลังจะมา

Charlie Ang จาก Everthing40.com ได้พูดเปิดในหัวข้อแรกได้อย่างน่าสนใจว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่น AI / Blockchain ต่างๆ นั้นจะทำให้เราเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เช่นเดียวกับ Disruption ในแบบที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเขาได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ Reality Disruption / Cognitive Disruption / Trust Disruption ซึ่งเกิดขึ้นจากนวัตกรรมหลัก 3 อย่าง กล่าวคือ

  1. Hybrid Experience: การสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆ จากเทคโนโลยี เช่น VR AR หรือการพูดคุยกับคนผ่าน Robot ที่เป็นสื่อกลางจนทำให้ “ความจริง” ที่เราสัมผัสประสบการณ์นั้นอาจจะไม่ใช่แค่ความจริงที่เราสัมผัสได้เฉยๆ และนั่นทำให้เกิดมิติใหม่ของข้อมูลซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งอันนี้เองจะนำไปสู่ Reality Disruption

  2. Autonomous Environment: เมื่อเทคโนโลยีในการทำ Automation นั้นจะทำให้การประมวลผลข้อมูลต่างๆ นั้นรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถสร้างอะไรใหม่ๆ ได้อีกมาก เช่นเดียวกับการรับข้อมูลข่าวสารของมนุษย์เองก็จะสามารถก้าวไปสู่ขั้นใหม่ๆ ได้ เช่นการมีระบบในการคัดกรอง คัดสรร ให้โดยไม่ต้องคิดเองหรือดำเนินการเอง และนั่นทำให้เกิด Congnitive Disruption

  3. Distributed Economy: เราจะเห็นตัวอย่างจาก Blockchain Technology ว่ามันทำให้โครงสร้างของการบริหารจัดการเปลี่ยนไป จากการเป็นศูนย์กลางสู่การกระจายให้กับเครือข่าย และเทคโนโลยีแบบนั้นจะทำให้เราเห็นรูปแบบเครือข่ายใหม่ๆ เกิดขึ้นเหมือนอย่างที่เราได้เห็น Sharing Economy เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจกันไประลอกหนึ่งแล้ว ซึ่งนั่นคือที่มาของ Trust Disruption

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น Charlie Ang ได้สรุปไว้ว่าในปี 2020 จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า The Fusion Era ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กรต่างๆ ที่จะต้องรับมือกับ Disruption เหล่านี้ ซึ่งนั่นจะไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว หากแต่จะต้องไปถึงการคิด Business Model ใหม่ขึ้นมารอบรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้

ข้อได้เปรียบ / เสียเปรียบขององค์กรกับนวัตกรรม

Scott Anthony จาก Innosight ได้พูดถึงเรื่องการที่องค์กรใหญ่ๆ สร้างนวัตกรรมนั้นก็มีทั้งข้อได้เปรียบ / เสียเปรียบเมื่อเทียบกับ Startup เช่นถ้าเราดูโอกาสสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ นั้น จะเห็นว่ากับบริษัทใหญ่ๆ ที่มีโอกาสสำเร็จอยู่ที่ 1 ใน 8 ในขณะที่ Startup อาจจะมีเพียง 1 ใน 500 เท่านั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะองค์กรนั้นมีความพร้อมในด้านทรัพยกรรวมทั้งศักยภาพในการขยายตลาดเพื่อรองรับให้เกิดธุรกิจจริงๆ จากนวัตกรรมนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์กรต่างๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องระบบการบริหารจัดการเดิมๆ ที่กลายเป็นอุปสรรคอยู่ไม่น้อย นั่นยังไม่นับกับเรื่องความกลัวของคนในองค์กรต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือการที่ “เอาแต่พูด” แต่ไม่สามารถดำเนินการได้จริง

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าตัวองค์กรใหญ่ๆ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ และนั่นทำให้การที่องค์กรจะรอดจากกระแส Disruption นั้นก็ต้องทำงานควบคู่กัน คือ

  1. การสร้างภูมิคุ้มกัน และทำให้ธุรกิจปัจจุบันสามารถอยู่รอดได้ใน “วันนี้” เพื่อให้องค์กรยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เปลี่ยนวิธีการทำตลาด

  2. การสร้างอนาคตระยะยาวให้กับองค์กร กล่าวคือการสร้างนวัตกรรมที่จะกลายเป็นขุมกำลังสำคัญให้กับธุรกิจในอนาคตระยะยาวต่อไป (หรือบางคนอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้าง S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจก็ได้)

มุมมองที่ต้องเข้าใจ / ปรับในองค์กรเพื่อรับนวัตกรรม

Dan Toma จาก The Corporate Startup ได้ให้ความเห็นน่าสนใจว่าในขณะที่คนด้านนวัตกรรมอาจจะตื่นเต้นกับการคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้กับองค์กรนั้น เราก็ต้องเข้าใจการบริหารธุรกิจแบบเดิมๆ ที่อาจจะมีมุมมองที่ไม่ได้เห็นไปแบบเดียวกัน

ตัวอย่างเช่นการประเมินมูลค่าของฝ่าย Finance ที่อาจจะตีมูลค่าของโปรเจคนวัตกรรมต่างไปจากที่คนสายนวัตกรรมมอง แน่นอนว่าสำหรับหลายๆ คนนั้นก็มองว่าไม่แฟร์เนื่องจากนวัตกรรมต่างๆ นั้นยังไม่ได้พัฒนาให้กลายเป็นธุรกิจจริงๆ ณ เวลานั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ในองค์กรจึงจำเป็นที่จะต้องปรับความเข้าใจ และสร้างมาตราฐานการวัดผล การประเมินประสิทธิภาพให้ต่างไปจากการทำงานและบริหารธุรกิจแบบเดิมๆ ซึ่งคนที่ทำงานในด้านนี้ก็ต้องมีการประสานงานกับแผนกอื่นๆ ให้เข้าใจไปในทางเดียวกันด้วย

ผู้บริหารองค์กรกับนวัตกรรม

Stefan Lindegaard จาก Silicon Valley Fast Track นำเสนอว่าคนที่มีส่วนสำคัญมากจะทำให้โปรเจคนวัตกรรมเกิด / ไม่เกิดในองค์กรก็คือเหล่าผู้บริหาร ซึ่งข้อเท็จจริงที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อยคือผู้บริหารจำนวนมากไม่ได้ “อิน” กับเรื่องนวัตกรรมมากนักอันมาจากหลายๆ ปัจจัย เช่นไม่รู้สึกถึงความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับตัวเขา หรือการที่วันๆ ยุ่งกับงานประจำอยู่แล้วเป็นต้น

พอเป็นเช่นนี้แล้ว ข้อเท็จจริงหนึ่งที่คนทำงานนวัตกรรมต้องยอมรับเสียก่อนว่าการจะให้เกิดความสำเร็จในเรื่องนี้ก็ต้องเป็น Top-Down และผู้บริหารก็เป็นกลุ่มที่คนทำงานต้องพยายามสร้างการ Buy-In ให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงนั้น เราจะพบว่าการจะโน้มน้าวผู้บริหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก (คือทำ Bottom-Up ยากนั่นเอง) พอเป็นเช่นนั้นก็ต้องให้คนอื่นจากภายนอก หรือคนที่ผู้บริหารให้ความเคารพยอมรับเข้ามาเป็นตัวช่วยนั่นเอง

คน คน คน

แม้ว่าพอพูดเรื่องนวัตกรรมแล้ว คนจำนวนมากก็จะนึกถึงเรื่องเทคโนโลยีเป็นสำคัญ แต่สุดท้าย Stefan ก็ย้ำกับผู้ร่วมงานว่าสุดท้ายคือเรื่องของคนทำงานที่เราต้องบริหารความคาดหวัง ความเครียดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะเราก็ย่อมรู้ดีว่าคนทำงานในโปรเจคนวัตกรรมนั้นจะเจอความเครียดในรูปแบบที่แตกต่างไป ซึ่งหากสุดท้ายไม่มีคนทำงานที่ใช่ หรือไปไม่รอดแล้ว โปรเจคที่พัฒนามันก็ย่อมไม่รอดด้วยเช่นกัน

เรื่องที่ผมสรุปมาในบทความนี้อาจจะดูเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีในบริษัทใหญ่ๆ อยู่พอสมควร แต่แท้จริงแล้วหากเราถอยออกมามองดีๆ นั้นจะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้โยงเข้ากับเรื่องการบริหารองค์กร การสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจที่ไม่ช้าก็เร็วจะต้องเจอ ฉะนั้นก็อยากเอามาเล่าสู่กันฟังสำหรับคนทำงานต่างๆ เพื่อเพิ่มมุมมองไว้ในวันที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ไม่มากก็น้อยนั่นเองล่ะครับ

ภาพประกอบบางรูปมาจาก Innov8rs

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page