top of page

คิดต่างอย่างไรให้สร้างสรรค์?

ทุกวันนี้เราคงได้ยินกันบ่อยๆ กับคำว่า “คิดต่าง” ที่ดูจะกลายเป็นเทรนด์ของแนวคิดที่ควบคู่มากับประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน เราถูกแนะนำให้รู้จักทัศนคติที่มนุษย์ทุกคนสามารถมีความแตกต่างได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะคิดในแบบของตัวเอง ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ศิลปะ เทคโนโลยี ฯลฯ และนั่นก็นำไปสู่การสร้างคำใหม่ๆ เกิดขึ้นเช่น “การคิดนอกกรอบ”

จะว่าไปแล้ว กระบวนการคิดที่แตกต่างไปจากเดิมย่อมนำไปสู่การได้ไอเดียใหม่ๆ แม้แต่ Edward de Bono ก็อธิบายแนวคิดเรื่อง Lateral Thinking จนกลายเป็นที่พูดถึงและยอมรับในปัจจุบัน มันเลยไม่แปลกในยุคที่ผู้คนพยายามหาความแตกต่างและตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ให้ตัวเองจะชื่นชอบจนพยายามค้นหา “วิถีของการคิด” ในแบบตัวของตัวเอง ประกอบกับยุคดิจิตอลที่เรามีสื่อให้คนมากมายได้แสดงความเห็น แสดงทัศนคติของตัวเองสู่สาธารณะได้มากขึ้น การได้ค้นพบ ได้เรียนรู้แนวคิดต่างๆ เหล่านี้ก็ย่อมเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ดีอยู่ไม่น้อย

แต่เราก็ไม่ต้องลืมเหมือนกันว่าทุกๆ วันนี้ความคิดหรือทัศนคติมากมายที่ออกสู่สาธารณะทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ใช้ตรรกะอะไรคิด หลายความคิดเหล่าก็ไม่ได้รู้สึกน่าชื่นชมเลยแม้แต่น้อย แถมอาจจะให้รู้สึกสวนทางกันไปมากเสียอีก

มันเลยอาจจะแสดงให้เห็นว่าการคิดต่างไม่ได้แปลว่าจะทำให้ผู้คิดดูดีเสมอไป หากความคิดดังกล่าวนั้นไม่สามารถนำไปสู่การยอมรับหรือประเมินค่าที่ดีได้แล้ว ความคิดเหล่านั้นก็จะกลายเป็นศรย้อนทำลายตัวผู้คิดเองเสียมากกว่า ถ้าจะบอกกันง่ายๆ ก็คือการโชว์โง่ โชว์ความเสร่อของผู้คิด / โพสต์นั่นเอง

ทีนี้เราลองมาคิดกันดูว่าคิดต่างหรือคิดนอกกรอบแบบไหนจะทำให้มันดูสร้างสรรค์และกลายเป็นที่ยอมรับได้ล่ะ? ผมลองคิดเป็นหัวข้อต่างๆ สรุปตามความคิดของผมตามนี้ครับ

1. ต้องมีเหตุผลและตรรกะที่ถูกต้อง ยอมรับได้

วิชาตรรกะและการใช้เหตุผลเป็นวิชาที่เด็กอักษรฯ เอือมอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับผมแล้ว มันคือวิชาที่ปูพื้นที่สำคัญมากกับการเรียนวิชามนุษย์ศาสตร์เพื่อที่จะทำความเข้าใจปรัชญาและความคิด ทั้งนี้เพราะความคิดใดๆ หากไม่สามารถก่อร่างสร้างด้วยความเป็นเหตุเป็นผลแล้ว ก็ย่อมจะไม่สามารถนำไปสู่การยอมรับหรือความน่าเชื่อถือได้ แม้ว่ามนุษย์เราจะมี “ความรู้สึก” นำทางในหลายๆ ครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว การใช้หลักปัญญาตัดสินนั้นก็จะต้องอิงอยู่บนหลักการและเหตุผลทั้งสิ้น ถ้าใครเรียนปริญญาโทก็จะพบว่าการศึกษาหรือเขียนวิทยานิพนธ์ใดๆ นั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลจนน่าเชื่อถือได้

ความคิดใดๆ ก็ไม่ต่างกัน ถ้าหากความคิดเหล่านั้นอ้างอิงอยู่บนหลักความคิดและตรรกะที่น่าเชื่อถือแล้ว ความคิดเหล่านั้นก็ฟังขึ้น น่าเชื่อถือ เช่นกัน

2. ต้องมีศีลธรรม

ครูนพเคยพูดกับผมตั้งแต่สมัยเรียน และยังพูดเสมอในทุกเวทีที่ครูได้รับเชิญว่า “ศิลปะที่ดี คือศิลปะที่นำเสนอศีลธรรม” ทั้งนี้เพราะมนุษย์เราแม้ว่าจะมีอิสระเสรีภาพอย่างไร หากเราจะไปสู่ความเจริญแล้ว เราก็ยังต้องอยู่ในกรอบของศีลธรรมเป็นที่ตั้งอยู่ดี ฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์ใดๆ นั้น หากปราศจากศีลธรรมแล้ว มันก็จะกลายเป็นงานที่ต่ำไปเลยแทบจะทันที ลองนึกถึงเคสที่ค่ายรถยนต์หนึ่งทำคลิปแนะนำวิธีการหนีใบสั่งจากตำรวจสิครับ แม้ว่าคลิปนั้นจะมีไอเดียดีอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยการนำเสนอให้คนทำสิ่งที่ผิดกฏหมาย ทำสิ่งที่ละเมิดกฏระเบียบสังคม ซึ่งนั่นก็เป็นการขัดกับหลักศีลธรรม คลิปนั้นก็เลยถูกโจมตีจนเจ้าของลบคลิปแทบจะไม่ทันกันเลยทีเดียว

3.  มีคุณค่า

ผมเคยคิดเลยว่าคิดต่างไปทำไมถ้ามันไม่สามารถสร้างคุณค่าอะไรบางอย่างขึ้นมา คุณค่าที่ว่านั้นอาจะจะเป็นในแง่ประโยชน์ทางด้านปัญญา เช่นการได้ความรู้ใหม่ๆ การได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ หรือแม้แต่คุณค่าทางด้านอารมณ์เช่นได้ความบันเทิง (ซึ่งกรณีนี้ก็จะเห็นได้จากตลกคาเฟ่ หรือหนังตลกหลายๆ เรื่องที่มีโครงเรื่องเพี้ยนหลุดโลกไปเลย)

หลักสามข้อข้างต้นเป็นหลักคร่าวๆ ที่ผมลองคิดขึ้นมาว่าถ้าเราคิดต่างหรือคิดนอกกรอบแล้ว อะไรคือสิ่งที่เราควรยึดจับเป็นแกนแทนที่จะบอกว่าไร้กรอบแล้วไร้ทิศทางประเภทอะไรก็ได้ กรอบความคิดสมัยก่อนรวมทั้งที่เรายังมีในปัจจุบันนั้นถูกพัฒนาขึ้นมาทางแนวคิดที่ถูกยอมรับร่วมกันในทางใดทางหนึ่ง (เช่นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ขัดศีลธรรม) การคิดออกนอกกรอบนั้นอาจจะเป็นการทลายวิธีคิดเดิมๆ ได้อยุ่ แต่มันก็ไม่ควรจะทำลายคุณค่าดีดั้งเดิมที่แนวคิดเก่านั้นรักษาเอาไว้

เพราะหากความคิดใหม่ของเราสร้างอะไรใหม่ๆ แต่ทำลายสิ่งดีๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อ “ความเป็นมนุษย” ของเราแล้ว การคิดต่างนั้นอาจจะไม่นำไปพาให้เราสูงขึ้น หากแต่จะทำให้เราต่ำลงเสียต่างหาก

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page