top of page

ทำไมเราควรใช้ฟีเจอร์ Branded Content แทนที่จะให้เพจ Boost Post ให้แบบที่ทำๆ กัน

ถ้าว่าด้วยเรื่องการทำ Advertorial หรือจ้าง Influencer ทำคอนเทนต์นั้น สิ่งที่ผมคิดว่าหลายๆ คนก็คงเห็นกันบ่อยๆ คือการที่แบรนด์จ้างเพจต่างๆ ทำคอนเทนต์แล้วก็ Boost Post ไป ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเป็น “ท่ามาตรฐาน” ที่ทำกันในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ถ้าถามผมแล้ว บางทีวิธีการนี้อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะเอาจริงๆ มันก็มีฟีเจอร์ดีๆ ของ Facebook อย่างตัว Branded Content ซึ่งเอื้อประโยชน์หลายๆ ให้กับตัวแบรนด์ที่ต้องการทำคอนเทนต์ผ่านทาง Influencer ซึ่งเป็นบรรดาเพจต่างๆ โดยจะว่าไปแล้วนี่เป็นวิธีการที่มีประโยชน์หลายๆ อย่างเลยทีเดียว

1. การสั่ง Boost Post ผ่านทางแบรนด์โดยตรง

วิธีปรกติที่เรามักจะใช้กันคือพอเพจทำคอนเทนต์เสร็จแล้ว ทางแบรนด์ก็จะมีการจ่ายเงินเพิ่มให้กับตัวเพจเพื่อใช้ไปในการบูสต์โพสต์โดยหวังว่าจะมีคนเห็นคอนเทนต์นั้นๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูวิธีการนี้แล้ว จะเห็นว่ามักนำมาซึ่งปัญหาค่อนข้างจุกจิก เช่นตัวเพจเองก็ตั้งค่าโฆษณาต่างๆ ที่อาจจะไม่ตรงกับความต้องการของแบรนด์เสียทีเดียว (คือตั้งไม่ถูก) โดยหากถ้าเป็นการ Boost Post แค่เน้นให้ฐานคนตามเพจเห็นก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเอาแบบตั้ง Target ละเอียด รวมทั้งมีการระบุ Frequency Cap (จำกัดคนเห็น) ก็ยิ่งกลายเป็นการลงโฆษณาแบบซับซ้อนซึ่งหลายๆ เพจก็อาจจะไม่คุ้นก็ได้

ขณะเดียวกันการจ่ายเงินนั้นก็ดูจะเป็นว่าเพจก็เสียเปรียบอยู่ระดับหนึ่งเพราะรายได้ที่เข้ามาซึ่งจะกลายเป็นฐานภาษีรายได้ก็จะถูกใช้ไปเยอะกับการ Boost โดยตัวเพจเองอาจจะเหลือเงินเพียงหยิบมือเดียว

ตัวอย่างง่ายๆ เช่นถ้าเพจรับ Boost Post โดยคิดค่าธรรมเนียม 10% แล้ว หากแบรนด์อัดเงิน Boost Post 10,000 บาท ก็จะกลายเป็นว่าเพจได้ค่าธรรมเนียมแค่ 1,000 บาทเท่านั้น แถมตรงนี้ก็ต้องเอาไปจ่ายภาษีอีกจนบางทีก็มีการแซวๆ กันว่าเหมือนจะไม่ได้อะไรเลยแถมต้องโดนภาษีอีก

ทีนี้พอเป็นการใช้ Branded Content ของทาง Facebook นั้น ตัวแบรนด์ที่ได้รับการ Tag จากตัวเพจผ่านฟีเจอร์นี้ก็จะสามารถเป็นคนเลือก Boost หรือลงโฆษณากับโพสต์นั้นๆ ได้ด้วยตัวเองโดยที่ทางเพจก็ไม่ได้ต้องมายุ่งหรือตั้งค่าอะไร ซึ่งจะว่าไปแล้วนั้น การทำแบบนั้นก็เปิดช่องให้แบรนด์ที่ต้องการเพิ่ม Awareness ของคอนเทนต์สามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิม ควบคุมได้มากกว่าเดิมด้วย ส่วนทางเพจเองก็สบายใจตรงที่ไม่ต้องมายุ่งเรื่องค่าใช้จ่ายในการ Boost แล้วก็ไม่ต้องอยู่ในบิลรายได้อีกต่างหาก

2. การทำ Custom Audience ต่อเนื่องจากคอนเทนต์

นอกจากแบรนด์จะสามารถสั่งซื้อโฆษณาหรือ Boost Post ตัวคอนเทนต์ที่เป็น Bradned Content ได้เองแล้ว แบรนด์ยังสามารถทำ Custom Audience ต่อเนื่องจากตัวโพสต์ดังกล่าวได้ด้วย (กรณีที่เป็น Video) เพราะจะเห็นว่าเมื่อการซื้อโฆษณานั้นผ่านตัว Ad Account ของตัวแบรนด์แทนที่จะผ่านตัวแอดมินของเพจแล้ว ข้อมูลต่างๆ ก็จะตกอยู่กับทางแบรนด์โดยตรง ซึ่งอันนี้น่าเรียกว่าเป็นผลดีมากๆ สำหรับคนทำโฆษณาที่เน้นเรื่อง Performance เนื่องจากหากเป็นการให้ทางเพจ Boost ปรกติไปนั้น เราก็จะเห็นเฉพาะรายงานเวลาที่ทางเพจ Capture มาให้ แต่หากเราเป็นคนลงโฆษณาเองก็จะสามารถทำการ Optimize และสามารถใช้ประโยชน์จากตัว Ad Data ได้อีกต่อด้วย

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผมพูดบ่อยๆ ว่าถ้าแบรนด์ให้เงินเพจไป Boost Post นั้น สุดท้ายจะกลายเป็นว่าเงินที่ลงไปนั้นเป็นการช่วยโฆษณาตัวเพจแถมสร้างยอดต่างๆ ให้กับเพจเพื่อไปใช้เคลมและขายโฆษณาต่อๆ ไปอีกโดยที่ตัวแบรนด์อาจจะได้ประโยชน์น้อยกว่า การพยายามใช้ประโยชน์จากข้อมูลและ Performance ที่ตัวโพสต์ทำได้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าแค่ Reach & Impression จึงเป็นเรื่องที่นักการตลาดควรหาวิธีทำให้มากขึ้นไปกว่าเดิมให้ได้

3. เป็นการ Declare ไปในตัวว่าโฆษณา

ประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการทำคอนเทนต์มักถูกพูดถึงกันบ่อยๆ แล้วก็มักมีการถามว่ามาตรฐานควรเป็นอย่างไร ควรจะมีคำว่า #Advertorial ไหม หรือจะใช้วิธีอื่นได้บ้าง ซึ่งเอาจริงๆ ตัว Branded Content ของ Facebook นั้นเรียกว่าเป็นมาตรฐานสากลที่เขาใช้กัน โดยแม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นการเขียนระบุ #Advertorial แต่ก็มีการขึ้นแจ้งตั้งแต่หัวโพสต์ ทำให้ไม่ต้องมาเป็นครหาว่าบอกคนอ่านไหมว่านี่เป็นโฆษณาหรือไม่โฆษณา (ซึ่งเอาจริงๆ ส่วนตัวผมว่าการบอกผ่าน Branded Content นั้นดูเนียนตากว่าการมาติด #Advertorial เสียด้วยซ้ำ)

ที่เล่ามาเป็นเหตุผลเบื้องต้นที่เราอาจจะพบว่าการจ้างเพจโพสต์คอนเทนต์แล้วใช้วิธี Boost แบบเดิมๆ นั้นอาจจะมีช่องทางอื่นๆ ที่ดีกว่า และได้ประโยชน์กับแบรนด์มากกว่า

ก็ลองไปคิดกันต่อนะครับว่ายังอยากลองเปลี่ยนไปทำวิธีการใหม่ๆ ที่อาจจะเวิร์คกว่าดูบ้างดีไหม

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page