top of page

อย่าเทียบกับคนอื่นเลย…

หนึ่งในความตอนหนึ่งของหนังสือธรรมะที่ท่าน ว. วชิรเมธีเขียนไว้ที่ผมได้อ่านเมื่อสักสามสี่ปีก่อนซึ่งค่อนข้างชอบเป็นพิเศษ คือการเข้าใจจิตใจมนุษย์ที่มักเผลอเอาตัวเองไปเทียบกับผู้อื่น สุดท้ายก็ไม่เคยพออกพอใจในที่ตัวเองมีเสียที

สำหรับคนยุคปัจจุบัน ยุคที่เราเต็มไปด้วยวัตถุ โดยเฉพาะกับกลุ่มชนชั้นมนุษย์เงินเดือน เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะมองผู้อื่นและอดคิดเสียไม่ได้ว่าเขาสูงหรือต่ำกว่าเรา เพราะแค่มองไปรอบข้าง เราก็เจอคนมากมายที่อาจจะมีตำแหน่งงานสูงกว่าเรา เจอเพื่อนทักทายก็อาจจะรู้ว่าเงินเดือนเขาสูงกว่าเรา หรือแม้กระทั่งการเห็นว่าครอบครัวของเพื่อนเรามีฐานะที่แตกต่างจากเรา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนอาจจะกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการปั่นให้ใจของเราร้อนรุ่มเอาเสียง่ายๆ ได้

ตอนแรกเรามีเงินเดือนหนึ่งหมื่นบาท เราก็ดีอกดีใจที่มีเงินเดือนก้อนแรกกับเขา แต่พอเราเห็นว่าเพื่อนเราได้หมื่นสอง เราก็ใจตกไปอยู่ตาตุ่ม รู้สึกว่าทำไมเราได้น้อยกว่าเขา จากนั้นเราก็ขวนขวายเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง พอได้ขึ้นเป็นเมเนเจอร์ ก็ดีอกดีใจที่ประสบความสำเร็จ แต่พอเห็นเพื่อนอีกคนได้เป็นรองประธาน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นอีก วนไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

นิสัยชอบเปรียบเทียบของมนุษย์นั้น ลึกๆ แล้วก็เหมือนกับการสนองความต้องการของตัวเอง เพราะอยากรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า อยากเป็นที่ยอมรับ อยากรู้สึกปลอดภัย แต่กลับกลายเป็นว่านิสัยนี้ทำให้คนเราทุกข์แล้วทุกข์เล่าเพราะเป็นธรรมดาโลกที่พอมีคนต่ำกว่าเรา ก็จะต้องมีคนที่เหนือกว่าเรา

ครูหงเคยสอนผมครั้งหนึ่งว่า การทำงานนั้น อย่าได้เผลอเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น แต่ให้เทียบกับตัวเอง พิจารณากับตัวเอง ทั้งนี้เพราะปัจจัยแต่ละคนต่างกัน บางคนจบมามีโอกาสดีกว่า บางคนทำงานมามากกว่า แม้ว่าบางทีเราอาจจะรู้สึกว่าคนๆ นั้นไม่ได้เก่งหรือมีความสามารถมากไปกว่าเรา แต่การที่เขาได้ทำงานบริษัทนั้นๆ หรือทำงานมานานกว่า ก็ไม่แปลกที่เขาจะได้รายได้มากกว่าเรา หรือตำแหน่งงานสูงกว่าเราที่เพิ่งเข้ามาทำได้ไม่นาน หากเราเข้าใจปัจจัยเหล่านี้ได้ เราก็จะเห็นได้ว่าทุกคนไม่ได้อยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันที่จะเอาตัวเลขรายได้หรือตำแหน่งมาตัดสิน

ประเด็นที่น่าคิดต่อจากย่อหน้าด้านบนก็คือคนเรามักเทียบกับคนอื่นเพราะไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองต่ำกว่าคนอื่น การเห็นคนอื่นได้มากกว่าตน ไม่ว่าจะด้วยทรัพย์ ลาภ ยศ ก็อาจจะกลายเป็นความคิดที่กดตัวเองให้ต่ำลงไป ยิ่งกับคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองด้วยแล้ว ก็ยิ่งกลายเป็นอะไรที่ค้างคาใจมากพอสมควรหากเห็นคนอื่นสูงกว่าตัวเอง ซึ่งนั่นก็ง่ายที่จะกลายเป็นความอิจฉาริษยาที่ทำให้มนุษย์เราต้องทุกข์ไปเสียอีกนาน

พอมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะบอกว่า โอ้ ถ้าอย่างนั้นเราควรจะเลิกทะเยอทะยาน เลิกหวังอะไรสูงๆ เสียดีกว่า จะได้ไม่ต้องทรมาน แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว ความทะเยอทะยานและความมุ่งมั่นนั้นเป็นสิ่งที่ดีซึ่งควรเก็บไว้กับตัวให้มีแรงใจในการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ แต่สิ่งที่ควรตัดออกไปคือความรู้สึกอยากเทียบกับผู้อื่นจนเกิดความทุกข์ต่างหาก

หากเราสามารถเข้าใจธรรมชาติของบุญและกรรมที่มนุษย์แต่ละคนมี เราก็พอเข้าใจได้ว่าการที่แต่ละคนได้รับผลแตกต่างกันไปนั้นก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เช่นเดียวกับตัวเราที่ก็ได้รับผลตามที่เราะกระทำไว้ สิ่งที่เราควรจะกระทำคือการรู้ทันตัวเอง รู้จักวิเคราะห์และเข้าใจตัวเราว่าทุกวันนี้นั้นเป็นอย่างไร เราได้ทำงานและหน้าที่อย่างดีแล้วหรือยัง การเปรียบเทียบควรจะเกิดกับตัวเองที่เป็นมาตราฐาน ให้รู้สึกว่าเราได้พัฒนามากขึ้นกว่าเดิม มีความสามารถมากกว่าเดิม และใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นปัจจัยก่อให้เกิดกับความเจริญกับตัวเอง

ซึ่งนั่นก็คงจะดีกว่าการเอาตัวเองไปนั่งเทียบกับคนอื่นไปวันๆ และไม่เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเองเลยแม้แต่น้อย

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page