top of page

อย่าให้ชื่อเสียงและบารมีที่คนทำงานสร้างมา ถูกทำลายด้วยแป้นคีย์บอร์ด

หนึ่งในสิ่งที่มักถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ คือเรื่องของวุฒิภาวะในการแสดงความเห็นต่างๆ บนโลกออนไลน์ดังที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ เรื่องของเกรียนคีย์บอร์ดซึ่งก็มักจะถูกคิดว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือเด็กรุ่นใหม่ที่คะนองกับการได้ใช้ Social Media ระบายความคิดต่างๆ ออกมาอย่างไม่ต้องเกรงอกเกรงใจใคร และหลายๆ ทีก็หลายเป็นการสร้างเรื่องอื้อฉาวให้กับตัวเอง

แต่การจะบอกว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเด็กวัยรุ่นหรือคนที่ยังไม่ได้โตก็คงจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเอาจริงๆ ผู้ใหญ่หรือคนทำงานที่มากประสบการณ์หลายคนก็ตกเป็นเหยื่อของ Social Media ด้วยเหมือนกัน

ที่ผมหยิบประเด็นนี้มาพูด ใช่ว่าแต่งขึ้นเองหรอกนะครับ เพราะตลอดช่วงเวลาที่ผมจับ Social Media มาร่วมๆ 7-8 ปีนั้น ผมเองก็เห็นเคสของการที่ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเคยมีคนนับหน้าถือตา มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพจากสื่อต่างๆ แต่กลับมาเสียท่าเพราะ “มือไว” บน Social Media มาก็ไม่น้อย

ซึ่งนมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะการได้ “อำนาจ” มาอยู่ในมือบนโลกออนไลน์นั้นคงเป็นสิ่งใหม่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ยิ่งการได้เห็นคนกดไลค์ คนเข้ามาแสดงความเห็นด้วย เข้ามาชื่นชม มันก็ต้องมีบ้างแหละที่ทำให้หลายๆ คนเขวและคิดว่าพื้นที่นี้ช่วยเสริมสร้างบารมีให้ตัวเองมากกว่าเดิม

ยิ่งกับผู้ใหญ่ยุคก่อนบางคนที่ต้องการชื่อเสียงหรือการยอมรับจากสังคมด้วยแล้ว นี่ก็ไม่ได้ต่างจากเด็กรุ่นใหม่ที่ขวนขวายหายอดไลค์กันหรอกครับ

จะว่าไปแล้ว เพราะการเป็นพื้นที่เปิด และหลายๆ คนก็เริ่มเห็นถึงพลังของ Social Media แล้วว่าสามารถแพร่กระจายความเห็นของเราไปได้ไกลมากเพียงไร คนธรรมดาหลายคนกลายเป็นกูรูหรือมีคนรู้จักมากกว่าผู้บริหาร มันก็ไม่แปลกที่จะมีผู้บริหารหลายคนอยากใช้พื้นที่นี้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในการแสดงวิสัยทัศน์หรือความเห็นต่างๆ ยิ่งตอนนี้เราจะเห็นการติดตามของกลุ่มคนที่มีต่อหัวข้อเฉพาะเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การตลาด การเงิน ฯลฯ ซึ่งแต่ละหัวข้อก็ล้วนน่าติดตามสำหรับคนที่สนใจอยู่ไม่น้อย ไม่แปลกที่หลังๆ เราก็จะเห็นบางคน “ขยันพูด” มากขึ้น

แต่พอเป็นเช่นนี้ มันก็ไม่แปลกที่ผู้ใหญ่หรือคนทำงานหลายๆ คนลืมคิดถึงความเหมาะสมในการแสดงความเห็นบนพื้นที่สาธารณะ (แม้จะคิดว่านี่คือแอคเค้านท์ส่วนตัวก็เหอะ) เช่นการวิพากษ์วิจารณ์คู่แข่ง หรือธุรกิจคนอื่นโดยลืมคำนึงว่าตัวเองอยู่ในสถานะไหน การโต้ตอบกับคนอื่นที่กำลังวิจารณ์บริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ การเผยข้อมูลบางอย่างที่อาจจะไม่เหมาะสม หรือแม้แต่การพูดถึงเรื่องในที่ทำงานซึ่งจริงๆ ควรจะเป็นความลับ

อย่าคิดว่าเรื่องที่ผมพูดเป็นเรื่องขำๆ นะครับ เพราะเอาจริงๆ มันเรื่องแบบนี้ให้เห็นกันบ่อยกว่าที่เราคิด

บล็อกวันนี้ผมไม่ได้อยากพูดอะไรเยอะ แต่เรียกว่าเป็นการฉุกให้คิดกันเสียหน่อย เพราะคนที่จะโดน Social Media ทำลายนั้นไม่ใช่แค่เด็กเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใหญ่หรือคนที่มีชื่อเสียงสะสมมาก็พังทลายเอาได้ง่ายๆ เหมือนกันจากการแสดงความเห็นที่ไม่เข้าท่าหรือพูดในสิ่งที่ไม่ควรจะพูด

อย่าหลงไปกับการกดไลค์ของคนไม่กี่สิบคน เพราะนั่นอาจจะเป็นคนที่เฮตามคอมเมนต์ของเราเพียงหยิบมือ แต่ยังมีเสียงที่ไม่ได้พูดหรือคนอื่นที่มองเห็นแต่ไม่เห็นด้วยอีกเช่นกัน และบางทีเสียงเหล่านั้นอาจจะมากเสียกว่าจำนวนไลค์เสียอีก

และถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนทำงานหรือเหล่าผู้บริหารนั้น อาจจะมากกว่าเด็กๆ ที่ตอนนี้ยังไม่มีชื่อเสียงให้ถูกทำลายด้วยเสียอีกต่างหาก

ก็ลองเอาไปคิด เอาไปเตือนกันหน่อยแล้วกันนะครับ :)

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page