top of page

อันตรายของความเคยชิน

วันก่อนได้อ่านหนังสือ The Art of the Idea ซึ่งว่าด้วยศิลปะในการคิด มีตอนหนึ่งของหนังสือที่ผมชอบและอดไม่ได้ที่จะติดและนำมาคิดต่อ

ตอนนั้นมีเนื้อหาว่าด้วยความเคยชิน

พอสรุปคร่าวๆ จากเนื้อหาตอนดังกล่าวคือความเคยชินนั้น จะกลายเป็นกรอบให้เรารู้สึกว่าไม่อยากคิดต่างจากเดิม ความเคยชินนั้นทำให้เราคิดว่าวิ่งที่ทำอยู่นั้นสบายและดีอยู่แล้ว การรู้สึกเคยชินกับอะไรบางอย่างทำให้เราหยุดอยู่กับที่ทางความคิด

จริงอยู่ว่าสำหรับบางคนนั้น กาลเวลาได้หล่อหลอมวิธีคิด รวมทั้งตกผลึกในด้านทัศนคติต่างๆ จนเรียกได้ว่าชัดเจนและแหลมคมก็ว่าได้ แต่เมื่อความคิดดังกล่าวถูกนำมาใช้เรื่อยๆ แล้ว ความเคยชินก็จะเกิดขึ้น และไม่สามารถออกไปลับความคิดในด้านอื่นๆ ได้เลย

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมนึกออกค่อนข้างชัด คือวิธีคิดการตลาดและการโฆษณาแบบ Traditional ที่เคยเป็นสูตรสำเร็จและสร้างกูรูจำนวนมากในวงการตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน แต่พอเกิดสื่อสมัยใหม่อย่าง Digital Media / Social Media กลับกลายเป็นว่าทฤษฏีการตลาดแบบเดิมๆ ไม่สามารถใช้ได้ นักการตลาดถึงกับกุมศีรษะเพื่อไขปริศนาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้นักการตลาดที่เคยคิดว่าตัวเองแน่ต้องล้มเหลวกันไปหลายคน

ผมจำได้ว่าเคยไปบรรยายเรื่อง Social Media ให้กับเครือหนังสือพิมพ์ยักษ์แห่งหนึ่งในวันที่ Facebook และ Twitter ยังไม่ครองโลกแบบทุกวันนี้ วันนั้นผู้บริหารที่มาฟังบางคนส่ายหน้าและมองว่าที่ผมพูดนั้นเป็นเพียงของเด็กเล่น ไม่มีวันที่เว็บไซต์เครือข่ายเพื่อจะเอาชนะสื่อยักษ์ใหญ่ได้

แต่ผมว่าถ้าวันนี้กลับไปถามเขาอีกครั้ง พวกเขาอาจจะให้คำตอบที่ต่างไปจากวันนั้น

ความเคยชินเป็นเรื่องที่เหมือนจะดี แต่ก็เป็นเรืองที่น่ากลัว มันทำให้เราประมาท ทำให้เราคิดว่าอะไรๆ ก็จะเหมือนเดิม ความลำพองใจในความสำเร็จและท่วงทำนอง “มาตราฐาน” ที่เราสร้างขึ้นนั้น ทำให้เราติดกับกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว

ที่พูดมานั่นก็คือหนึ่งในความน่ากลัวของความเคยชิน

แต่ยังมีความน่ากลัวอีกแบบที่เกี่ยวข้องกับความเคยชิน

ความน่ากลัวแบบนี้เกิดจากการกระทำผิดซ้ำๆ ซากๆ จนกลายเป็นความเคยชินและคิดว่ามันเป็นเรื่องปรกติ

ผมมองดูกระแสข้อความต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโลกออนไลน์และอดสงสัยไม่ได้ว่าเดี๋ยวนี้เราเริ่มเห็นความรุนแรงและก้าวร้าวในคำพูดมากกว่าแต่ก่อน ในขณะเดียวกัน เราก็พอจะสัมผัส Ego ที่เพิ่มขึ้นของเหล่าบรรดาผู้ใช้บางคนที่กลายเป็น “คนดัง” ในโลกดิจิตอล

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมันเกิดจากความเคยชินที่พวกเขาค่อยๆ สะสมกันมาตลอดการใช้งาน และไม่มีใครทักท้วงหรือตักเตือน?

จะว่าไปแล้ว นั่นอาจจะเป็นสมมติฐานที่มีส่วนใจริงในความคิดของผม ผมว่าการที่เราคุ้นเคยกับการพูดอะไรบางอย่างไปนานๆ และไม่มีใครทักท้วงหรือสะกิดบอกว่าที่ทำอยู่นั้นไม่ดี ไม่เหมาะสม เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดี และควรทำต่อไป

แต่ที่เราอาจจะไม่รู้ตัวคือในการกระทำ การติด การพูดที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในทุกๆ วันนั้น มีไม่น้อยที่จะเกิดการเบี่ยงหรือเอนออกไปจากตัวตนเดิมของเราเอง และเมื่ิอเราเอนไปทีละนิดๆ ไม่ช้าเราก็เบี่ยงออกไปจากทางเดิมชนิดคนละขั้วหรือไปกันคนละทาง

เหมือนการค่อยๆ ทรุดของบ้าน ที่อาจจะเดือน 1-2 ซม. ชนิดเราไม่รู้สึกรู้สา แต่กว่าจะรู้ตัว บ้านก็เอียงะสายเกินจะแก้ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม

ความเคยชินแบบนี้ก็น่ากลัวอยู่ไม่น้อย

ผมไม่อาจจะรู้ได้ว่าทุกวันนี้เราเคยชินกับความรุนแรง ดราม่า หรือการปะทะทางคำพูดกันไปขนาดไหนแล้ว แต่ผมเชื่อได้ว่าถ้าเป็นสมัยก่อนสัก 10 ปีที่แล้ว เราคงจะมองการใช้คำพูด การแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ต่างไปจากวันนี้ 

คำถามน่าคิดคือเราจะเคยชินกับเรื่องแบบนี้ไปเรื่อยๆ และให้ปัญหาแบบนี้วิวัฒนาการตัวเองไปเรื่อยๆ หรือไม่

หรือเราจะหยุด รีบแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินแก้?

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page