top of page

เรื่องน่าห่วงแต่คนอาจจะไม่คิด ของสเตตัสบน Social Network กับการทำงาน

หลังจากที่เราแห่กันมาใช้ Social Network กันอย่างเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 (หรือ 6,7,8..) ไปแล้ว หลายๆ คนก็ใช้มันในฐานะของการเป็นที่บ่น ที่ระบายอารมณ์กัน

เมื่อพูดถึงอารมณ์ที่คนระบายออกมา ส่วนมากก็จะเป็นอารมณ์ไม่พอใจ โกรธ เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติของคนเราที่มักจะระบายความรู้สึกด้านลบเพื่อปลดปล่อย ในขณะที่ความรู้สึกด้านบวกมักจะมีนานๆ ที

จะว่าไปแล้ว ที่ยิ่งเป็นกันมากขึ้นก็เพราะเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้การบ่นระบายของเราถูกเพื่อนๆ เห็นมากขึ้น และเราก็อาจจะได้รับการเห็นอกเห็นใจ ปลอบ ผ่านกระบวนการ “กดไลค์” หรือ “คอมเมนต์” ซึ่งก็น่าจะเป็นเหมือนสิ่งที่ชะโลมใจเราให้เย็นลง ไม่ก็รู้สึกดีขึ้นมาเสียหน่อย

แต่ถ้าหนักๆ เข้า บางคนก็ใช้มันในการก่นด่า เสียดสี แดกดันกันไป ซึ่งก็มักเป็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์โน่นนี่ (หนักๆ ก็เรื่องการบ้านการเมืองนี่แหละ) แต่หลายๆ ครั้งก็เป็นการกระทบกระทั่งหรือสาดใส่บุคคลที่รู้จักประหนึ่งว่ากูอยากให้มึงเห็นสเตตัสนี้แหละ มึงจะได้เจ็บ

มานั่งคิดๆ ดู แล้ว โลกออนไลน์นี่ก็น่าจะทำให้พฤติกรรมพวกนี้หนักข้อกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าห่วงอยู่ทีเดียว

ที่น่าห่วงไม่น้อยไปกว่ากันคือคนทำงานทุกๆ วันนี้ก็ออนไลน์กันเป็นเรื่องปรกติ บรรดาเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า คนรู้จักก็ออนไลน์กันอยู่ในวงเดียวกัน เรียกว่าอัพเดทอะไรก็รู้ถึงกันหมด

และแม้ว่ามันจะรู้ถึงกันไปทั่ว หลายๆ คนก็ยังเอาเรื่องงานของตัวเองหรือไม่ก็เรื่องในบริษัทมาพูดกันบนออนไลน์แบบไม่ได้ยั้งคิด ไม่ว่าจะบ่นน้อยใจเจ้านาย หมั่นไส้เพื่อนร่วมงาน จิกกัดลูกค้าโดยลืมคิดไปเลยว่าคนรู้จักของเราที่เห็นบทความนั้นก็คือคนที่รู้จักไอ้ที่เราเพิ่งพูดถึงไปนั่นแหละ และต่อให้ไม่ใช่เพื่อนเราโดยตรง แต่ก็อาจจะเป็น Friend of Friend ที่เอาไปบอกต่อได้ (หลายคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสเตตัสที่ตัวเองตั้งนั้นเป็นแบบ Public คือใครๆ ก็เข้ามาเห็นได้ แม้แต่คู่กรณี) ซึ่งสิ่งที่มักตามๆ มาคือดราม่าหรือบรรยากาศมาคุๆ ในที่ทำงานนั่นแหละ

ภาพของการประชดประชันบนออนไลน์จึงอาจจะไม่ใช่ภาพน่าดูเท่าไรนัก ยิ่งถ้าสิ่งที่พูดดันพาดพิงหรืออ้างถึงตัวองค์กรด้วย ลองนึกภาพว่ามีคนโพสต์สเตตัสเหล่านี้แล้วคุณไปเห็น คุณจะคิดอย่างไรกับบริษัทที่เขาทำงาน

“บริษัทแม่งขี้ตืดว่ะ มาสายแค่นี้ก็ว่า ทีกูทำงานดึกไม่เห็นจะมามอง” “เบื่อคนคุยไม่รู้เรื่องว่ะ แม่งทำงานเป็นหรือเปล่าวะ” “ไอ้คนแบบนี้มันเป็นหัวหน้าได้ยังไงวะ ทำงานยังกับเด็กประถม” “เซ็งพวกประจบสอพลอ ไอ้คนโดนเลียก็พอกัน แสรดดด”

ผมว่าเราเจอสเตตัสพวกนี้แทบจะทุกวันใน Facebook และ Twitter ทั้งจากเพื่อนและคนรู้จักของเรานั่นแหละ ซึ่งผมว่าคงไม่มีใครปลื้มกับพฤติกรรมนี้สักเท่าไรหรอก โดยเฉพาะกับผู้บริหารหรือคนที่เป็นหัวหน้างาน

เรื่องของสิทธิการแสดงออกต่างๆ ก็คงเป็นสิทธิส่วนบุคคลจริงๆ แต่การแสดงออกที่มีคนอื่นเห็นนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ มันก็ส่งผลกับภาพลักษณ์ของคนที่แสดงออกไป เป็นเรื่องน่าคิดว่าบริษัทจะรู้สึกอย่างไรถ้ามีพนักงานที่เอาแต่ด่าหรือเหน็บแนมคนอื่นให้เป็นที่พบเห็น เพราะเราก็มักพูดกันอยู่เสมอว่าพนักงานแต่ละคนก็รับบทบาทเป็นหน้าเป็นตาของบริษัทไม่มากก็น้อย

ในวันที่เราเสียงของเราไปไกลกว่าเสียงซุบซิบเม้าท์กันในร้านอาหาร แต่ไปไกลแบบไร้พรหมแดน คงเป็นเรื่องที่เราอาจจะต้องระวังตัวมากขึ้น และรู้จักเพิ่มวุฒิภาวะให้ทันสื่อพวกนี้มากขึ้น การเป็นคนที่มีความ “เป็นมืออาชีพ” หรือเป็น “พนักงานที่ดี” คงไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการวางตัวให้เหมาะสมในพื้นที่ที่เขายังรับบทบาทหรือมีหน้ามีตาของบริษัทเกี่ยวข้องอยู่

ฉะนั้นถ้าใครอยากเป็น “มืออาชีพ” ก็คงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ไว้ให้ดีๆ ไม่อย่างนั้นแล้วข้อความต่างๆ ที่หลุดสเตตัสออกไปจะกลายเป็นย้อนศรทำลายภาพของการเป็นพนักงานที่ดีไปเสีย

ก็ลองเอาไปคิดดูนะครับ ^^

เครดิตภาพ: http://www.sunny1069.com/

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page