top of page

เหลียวมองสถิติน่าสนใจกับพฤติกรรมออนไลน์ของไทยใน Thailand Internet User Profile 2017

วันนี้ทาง ETDA ได้มีแถลงข่าวรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2560 ขึ้น พร้อมกับมีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวบนโลกออนไลน์ด้วย (สนใจสามารถโหลดได้ที่นี่

จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่นี้ เราลองมาดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้างกับพฤติกรรมออนไลน์ของคนไทยในปัจจุบัน

1. Gen Y และ Z ครองกลุ่มใช้เน็ตเยอะสุด แต่กลุ่มอื่นก็ไม่ได้น้อยหน้า

จากข้อมูลของรายงานพบว่า Gen Y ยังคงครองแชมป์คนที่ใช้งานอินเตอร์เน็ตเยอะสุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 12 นาทีต่อวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด ในขณะที่กลุ่ม Gen Z และ Gen X ก็จะลดหลั่นลงมา ส่วนกลุ่ม Baby Boomer นั้นแม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่ใช้น้อยที่สุดแต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้​ “น้อย” เพราะมีการใช้ค่าเฉลี่ยที่ 4 ชั่วโมง 54 ต่อวัน สำหรับวันทำงาน และ 4 ชั่วโมง 12 นาทีต่อวัน สำหรับวันหยุด

ส่วนกิจกรรมที่คนทำบนออนไลน์ก็ยังคงเป็น Social Media เป็นหลัก รองลงมาคือการดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลงออนไลน์ (ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขการใช้งาน Facebook / LINE / YouTube ของไทยที่จะเยอะมากใน 3 Platform นี้)

ความน่าสนใจคือคนไทยมีแนวโน้มจะใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากรายงานระบุว่า 61.1% บอกว่ามีการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากเดิม ในขณะที่มีเพียง 8.1% ที่บอกว่าใช้งานลดลง

2. การซื้อของออนไลน์เข้ามาเป็น Top 5 กิจกรรมบนอินเตอร์เน็ต

จากผลสำรวจปีล่าสุด กิจกรรมที่คนทำบนอินเตอร์เน็ตมีการ “ซื้อสินค้าและบริการ” เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรก (ก่อนหน้านี้อยู่อันดับ 8 ในปีที่ผ่านมา) โดยมีผู้ให้มูลกว่า 50.8% บอกว่าทำกิจกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว ในรายงานยังพบว่ามีกระแสการใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้นเช่นการจอง-ซื้อตั๋วโดยสาร จองโรงแรม บริการรับ-ส่งเอกสาร ฯลฯ

3. วิถี Digital มีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในการถามว่ากิจกรรมใดที่ผู้ตอบแบบสอบถามทำผ่าน Online และทำผ่าน Offline เราเริ่มพบว่ามีการทำกิจกรรมผ่านทางอินเตอร์เน็ตกลายเป็น “สัดส่วนใหญ่” คือมากกว่า 50% ในแทบทุกรายการ (เว้นแต่การคุยโทรศัพท์) ซึ่งนั่นน่าวิเคราะห์ว่า Lifestyle ของคนดิจิทัลนั้นจะเทไปด้านออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

4. โฆษณากลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ของคนออนไลน์

เมื่อมีการถามว่าอะไรคือปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมผ่านอินเตอร์เน็ต คำตอบที่มาอันดับหนึ่งกลับกลายเป็นเรื่องของปริมาณโฆษณาออนไลน์ที่มารบกวน ตามมาด้วยความล่าช้าในการเชื่อมต่อและใช้งานอินเตอร์เน็ต ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนกลับมาให้นักการตลาดที่กำลังเทโฆษณาลงไปบนโลกออนไลน์เพราะถ้าหากมันกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความรำคาญแล้วล่ะก็ เราอาจจะเจอการ “ต่อต้านโฆษณา” จากผู้บริโภคในวันหนึ่งก็เป็นได้

5. แต่โฆษณาก็ยังเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลที่สุดในการเข้าชมเว็บไซต์ขายของออนไลน์

แม้ว่าคนอาจจะบ่นเรื่องปริมาณโฆษณา แต่เมื่อถามในแง่การซื้อของบนโลกออนไลน์แล้วถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนเข้าร้านขายของออนไลน์มากที่สุดก็กลายเป็นว่าโฆษณาจากเว็บไซต์และสื่อออนไลน์นั้นมีผลมากที่สุดเหนือกว่าข้อมูลจากรีวิว/ความเห็นของคนที่เคยใช้สินค้าเสียอีก ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่าโฆษณาก็ยังมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การสร้างโอกาสในการขายของได้อยู่

6. แม้ว่าคนจะคุ้นเคยกับการซื้อของออนไลน์ แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยม “อย่างมาก” และยังมีความกังวลหลายๆ อย่างสำหรับคนซื้อ

แม้ว่าการซื้อของออนไลน์จะเป็นกิจกรรมอันดับ 5 ของการใช้อินเตอร์เน็ต แต่ก็มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40.7% ไม่ได้มีการซื้อสินค้าออนไลน์ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา (ของการทำแบบสอบถาม) ในขณะที่มีเพียง 3.2% ที่มีการซื้อสินค้ามากกว่า 5 ครั้งต่อเดือน และมี 38.4% ที่มีการซื้อสินค้าเดือนละครั้ง

เมื่อลงลึกถึงปัญหาที่ทำให้คนไปซื้อสินค้าออนไลน์นั้น เรื่องการกลัวโดนหลอกหรือการกังวลว่าไม่ได้สัมผัสสินค้าก่อนซื้อยังคงเป็นปัญหาใหญ่อยู่ โดยมีปัญหาอื่นๆ ตามรูปด้านล่างนี้ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจที่ผู้ขายของออนไลน์สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาร้านค้าของตัวเองได้

นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลเรื่องปัจจัย “หนุน” ที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อของออนไลน์ด้วย โดยปัจจัยหลักๆ ก็คือเรื่องการซื้อของที่ง่าย มีโปรโมชั่นถูกใจ ได้รับสินค้ารวดเร็ว ส่วนความน่าสนใจคือการที่คนแต่ละ Gen ให้ความสำคัญในการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่เหมือนกัน


7. สินค้าแฟชั่นครองแชมป์ตามมาด้วยสุขภาพและความงาม

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามนั้น สินค้าที่ถูกซื้อในรอบ 3 เดือนอันดับหนึ่งคือแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ตามด้วยสุขภาพและความงาม และอุปกรณ์ไอที ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการสั่งอาหารออนไลน์นั้นมาเป็นอันดับที่ 5

8. ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่คนนิยมคือบัตรเครดิต โอนเงินผ่านแอพ และ ATM

เมื่อเทียบว่าคนโอนเงินผ่านช่องทางไหนในการซื้อของออนไลน์ ช่องทางที่คนนิยมมากสุดจากแบบสำรวจคือการใช้บัตรเคตดิต ตามมาด้วยการโอนเงินผ่านแอพและโอนเงินผ่าน ATM แต่อย่างไรก็ตามทั้งสามวิธีนั้นก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยมีจำนวน % ใกล้เคียงกันพอสมควร

เมื่อมีการดูข้อมูลต่อว่าทำไมคนยังไม่ใช้การชำระเงินแบบออนไลน์ และไปใช้วิธีการชำระเงินแบบออฟไลน์ (ชำระเงินปลายทาง โอนเงินผ่านสาขาธนาคาร นัดเจอและชำระเงินสด ฯลฯ) ก็พบว่าคนรู้สึก “สะดวกใจและสบายใจมากกว่า” ตามมาด้วยความไม่มั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งก็คงเป็นโจทย์ที่ต้องฝากไว้กับบรรดาผู้ให้บริการต่างๆ ว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นกับบริการชำระเงินออนไลน์ได้อย่างไร

นั่นเป็นบางส่วนจากรายงานที่น่าสนใจของ ETDA ซึ่งผมว่ามีเนื้อหาหลายส่วนที่น่าสนใจและอ่านโดยทำความเข้าใจในรายละเอียด ฉะนั้นก็ลองไปโหลดมาอ่านกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page