top of page

สัมภาษณ์กันอย่างไรให้ได้คนทำงาน Digital Marketing ที่เป็นงาน

คำถามน่าคิดที่บางคนถามผมเมื่อพูดเรื่องการสร้างทีม Digital Marketing แล้วคนก็ถามว่าจะรู้ได้ไงว่าที่มาสมัครนั้นจะใช่ “ตัวจริง” หรือ “ตัวปลอม” กัน เพราะทุกวันนี้ก็มีเสียงบ่นๆ กันอยู่บ่อยๆ ว่าผู้สมัครมักอ้างว่าเคยทำโน่นเคยทำนี่มาก่อน แต่พอให้ทำงานจริงๆ กลับเจอปัญหาว่าไม่สามารถทำงานได้จริง

อันที่จริงการจะสัมภาษณ์ให้ได้คนทำงานจริงๆ นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก นั่นเป็นเหตุให้หลายบริษัทให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้เยอะ มีการสัมภาษณ์หลายขั้นตอนและหลายคน เพื่อช่วยกันพิจารณาว่าคนนี้ “ใช่” หรือ​ “ไม่ใช่” กันแน่ และเราก็ต้องเตรียมตัวกันเยอะพอสมควร

ผู้สัมภาษณ์ควรรู้เรื่อง Digital Marketing เสียก่อน

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการสัมภาษณ์งาน Digital Marketing คือคนสัมภาษณ์ก็ดันยังไม่รู้เรื่อง Digital Marketing กันเลย พอเป็นแบบนี้ก็ยากที่จะสกรีนและเลือกคนที่ใช่มาทำงานได้เพราะก็จะไม่รู้ว่าที่ตอบมานั้นจริงหรือไม่จริง ตอบมาแบบปรกติหรือตอบแบบมีคุณภาพ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ผมมักบอกคนสัมภาษณ์บ่อยๆ ว่าให้เตรียมตัวก่อน เอาให้รู้หน่อยว่า Digital Marketing คืออะไร คุณต้องการคนมาทำงานอะไรบ้าง คุณเข้าใจเนื้องานที่ว่าขนาดไหน เพราะเวลาคุณสัมภาษณ์ก็จะได้รู้ว่าต้องถามอะไร เจาะลึกประเด็นไหน และเช็คว่าคนที่ถูกสัมภาษณ์นั้นเข้าท่าหรือไม่

อย่าดูแค่ประวัติ แต่ดูวิธีคิด

พอหลายๆ คนไม่ได้ชำนาญเรื่อง Digital Marketing นัก การสัมภาษณ์เลยไปโฟกัสเรื่องประวัติการทำงานว่าเคยทำอะไรมาบ้าง ทำโปรเจคอะไรมาบ้าง ซึ่งหลายๆ ครั้งคนสัมภาษณ์เองก็ไม่รู้หรอกว่างานที่ว่านั้นคืออะไร ที่ตอบมานั้นลึกแค่ไหน เช่น

“เคยทำ Facebook Page ให้กับแบรนด์นั้นๆ”

“เคย Set โฆษณาให้กับแบรนด์นั้น”

“เคยทำคอนเทนต์ให้กับเพจนั้น”

ซึ่งมันก็ฟังดูดีแต่จริงๆ แล้วมันอาจจะมีรายละเอียดที่คนสัมภาษณ์ต้องดูมากกว่านั้น เช่นการทำเพจนั้นทำอะไร เป็นแอดมินคอยตอบคอมเมนต์เฉยๆ หรือเป็นแค่คนคอยโพสต์คอนเทนต์ที่ถูกส่งมา การลงโฆษณาที่ว่านั้นทำถึงขั้นตอนไหน แค่ Set up หรือเป็นคนแพลน เป็นคนวิเคราะห์หรือไม่ ฯลฯ ของพวกนี้เป็นรายละเอียดที่ตอนสัมภาษณ์ต้องให้ผู้มาสมัครงานอธิบายโดยละเอียดด้วย (เช่นเดียวกับที่คนสัมภาษณ์ก็ต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ระดับหนึ่งเหมือนกัน)

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่จะช่วยได้อีกอย่างหนึ่งคือการให้โจทย์เพื่อทดสอบไหวพริบและวิธีคิดในการทำ Digital Marketing ซึ่งก็เป็นหนึ่งในวิธีง่ายๆ แต่ได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ทั้งนี้เพราะถ้าเป็นคนที่ทำงานจริงๆ ก็ย่อมจะสามารถเอาประสบการณ์ของตัวเองมาช่วยคิดและวางแผนเพื่อตอบตรงนั้นได้ เช่น

“ถ้ามีงบประมาณเท่านี้ เราจะแบ่งงบอย่างไรเพื่อให้เกิดยอดขายเพิ่มขึ้น จะเลือกใช้สื่อไหน จะมีกลยุทธ์อย่างไร”

“ถ้าผมต้องการเพิ่มยอดคนใช้งานมากขึ้น คุณแนะนำให้ผมซื้อโฆษณาอย่างไร มี Structure อย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง”

“คุณวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของแบรนด์เราแล้วคิดว่าปัญหาของเราคืออะไร เราต้องทำอะไร และทำอย่างไร”

“คุณว่าเราควรเริ่มทำ Digital Marketing อย่างไรในวันนี้”

แน่นอนว่าคุณคงไม่ต้องถึงขั้นต้องการคำตอบที่ดีพร้อม 100% แต่ภายในเวลาที่จำกัดนั้นคุณอาจจะได้เห็นแง่คิด ได้รู้วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงประสบการณ์และความชำนาญของแต่ละคนซึ่งอาจจะตอบได้ดีกว่าการแค่บอกว่าเคยทำอะไรมา

เช็ค Lifestyle และ Digital Footprint

เรื่องนี้อาจจะทะแม่งๆ บ้างแต่การหาคนทำ Digital Marketing ก็ควรหาคนที่เขา “อิน” กับโลกออนไลน์ด้วยก็คงจะดีไม่น้อย ถ้าคนทำ Digital Marketing เล่นไม่มีประวัติอะไรบนโลกออนไลน์ ไม่ Activce ใน Social Media ก็คงจะไม่เข้าท่านัก การเช็ค Digital Footprint อย่างความเคลื่อนไหวใน Social Media ต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ควรดูด้วย เช่นเขาพูดเรื่องอะไร เป็นเจ้าของเพจอะไรหรือไม่ (แบบที่เป็นเจ้าของจริงๆ) ซึ่งตรงนี้คุณอาจจะเช็คนอกรอบหรือให้เขาเล่าให้ฟังก็ได้เหมือนกัน

อันนี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่พอทำให้คุณได้ “เตรียมตัว” สำหรับการหาคนที่ใช่มาทำงาน ซึ่งจริงๆ ก็จะมีคำถามอีกเยอะมากที่สามารถเอามา “ล้วง” คนถูกสัมภาษณ์ได้ ซึ่งก็ไว้จะเอามาแชร์ให้ฟังในโอกาสหน้านะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page