top of page

10 กระบวนท่าการตลาดดิจิตอลแห่งปี 2011

ปี 2010 นั้นมีเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวหลายอย่างเกี่ยวกับโลกออนไลน์ เช่นการที่ Facebook มีผู้ใช้งานมากกว่า 590 ล้านคนทั่วโลก และเป็นเว็บไซต์ที่คนเข้าใช้บริการมากกว่า Google.com ไปแล้ว ตลอดไปจนถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาด Smartphone ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android

เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นที่พูดถึงของนักวิเคราะห์ นักธุรกิจ จนไปถึงนักการตลาดที่ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับโลกออนไลน์และ Digital Lifestyle ที่ผู้บริโภคจำนวนมากกำลังปรับพฤติกรรมเข้าหา

ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความตื่นตัวตามกระแสโลกออนไลน์อยู่ไม่น้อย ตั้งแต่การมีผู้ใช้บริการ Facebook มากถึง 7 ล้านคน ตลอดจนความนิยมในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ Smartphone ต่างๆ ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนรุ่นที่มากขึ้นและราคาที่ไม่ได้สูงมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากกำลังก้าวเข้าสู่ Digital Lifestyle โดยเริ่มมีโลกออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าโลกออนไลน์อาจจะยังไม่ใช่ตลาดหลักในสายตาของนักธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่ตลาดที่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป

และเมื่อตลาดออนไลน์กลายเป็นตลาดที่นักการตลาดต้องหันมาสนใจอย่างจริงจังแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการรู้จักเครื่องมือทางการตลาด (Marketing Tools) ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างถูกวิธี ซึ่งเครื่องมือบนโลกออนไลน์นั้นมีมากมายและมีการปรับปรุงพัฒนาแทบจะตลอดเวลา หากนักการตลาดออนไลน์ตามไม่ทันแล้ว แทนที่การตลาดจะเป็นตัวนำเทรนด์ให้กับผู้บริโภค ก็อาจจะกลายเป็นตามหลังผู้บริโภคไปเสียเอง

ตลาดออนไลน์ในปี 2011 นี้อุดมไปด้วยเครื่องมือทางการตลาดหลายอย่างที่นักการตลาดออนไลน์ไม่ควรพลาดที่จะศึกษาและเลือกนำมาใช้อย่างถูกวิธีและถูกเวลา เพื่อที่จะสามารถทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้แบรนด์สินค้าสามารถช่วงชิงยึดพื้นที่ในโลกดิจิตอลนี้ไว้ได้

1. Facebook Page

ณ เวลานี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธเว็บไซต์สังคมออนไลน์อย่าง Facebook.com ได้เพราะมันได้กลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของชาวออนไลน์ในปัจจุบัน ผู้คนมากมายเข้าไปเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ตั้งแต่ข้อความ รูปภาพ วีดีโอ เพื่อทำการอัพเดทเรื่องราวต่างๆ จากบุคคลในเครือข่ายเพื่อนของตน โดยนอกเหนือจากนั้นแล้ว Facebook ยังสามารถสร้างหน้าเพจ (Page) ให้กับบุคคล แบรนด์สินค้า ธุรกิจ ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใช้ Facebook ได้เข้าไปทำการเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเพจดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สามารถได้รับข่าวสารหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนหน้าเพจนั้นๆ จนไม่แปลกที่ธุรกิจมากมายจึงสร้างหน้าเพจของตัวเองบน Facebook เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ Facebook ได้ทำการติดต่อและปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์สินค้าตลอดไปจนถึงการประชาสัมพันธ์และสร้างโอกาสทำยอดขายได้จากกิจกรรมในเพจของตนได้อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว เจ้าของธุรกิจบางรายยังประยุกต์หน้า Page ตัวเองให้กลายเป็นเหมือนแคตตาล็อคสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตัวเอง ให้ลูกค้าเข้ามาเลือกชม สั่งจองและสั่งซื้อกันทางออนไลน์ได้ทันที เช่นธุรกิจขายเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าต่างๆ ฯลฯ

2. Facebook Application

นอกเหนือจากที่ Facebook จะสามารถสร้างหน้าเพจเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้งานแล้วนั้น อีกหนึ่งกิจกรรมซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน Facebook คือการใช้งาน Facebook Application ต่างๆ เช่นเกมอย่าง Farmville Mafia War ฯลฯ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในโอกาสของบางธุรกิจที่คิดจะสร้างแบรนด์ของตัวเองผ่านทาง Application รูปแบบต่างๆ ดังตัวอย่างที่เห็นได้จาก K-SME Start-Up City ของ K-Bank ที่เอาบริการของตัวเองมาดัดแปลงให้กลายเป็นเกมส์ หรือกรณีของ dtac one D.I.Y. ที่สร้าง Application น่ารักๆ ในการสร้างรูป Avatar จนฮิตถล่มทลายมีผู้ใช้งานหลายแสนคนไปแล้ว

ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นรูปแบบใหม่ๆ ในการสร้างแบรนด์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่หากทำได้ถูกใจผู้ใช้งานแล้วล่ะก็ จะเกิดการบอกต่อและแนะนำให้กับเพื่อนๆ อย่างรวดเร็วโดยพ่วงสารและ Brand Awareness ของสินค้าหรือบริการ ไปพร้อมๆ กัน

3. Twitter Account

Twitter กลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่โดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมาไม่แพ้ Facebook โดยแม้ว่าอาจจะไม่มีผู้ใช้งานที่มากเท่า หรือความสามารถต่างๆ จะค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ด้วยความเรียบง่ายของข้อความเพียง 140 ตัวอักษร ทำให้ Twitter เป็นเครือข่ายที่เหมาะกับในการเผยแพร่และติดตามข่าวสารต่างๆ ที่โดดเด่นในเรื่องความ“สด” และ “ใหม่” ชนิดนาทีต่อนาทีและการบอกต่ออย่างรวดเร็ว กลายเป็นหนึ่งในแหล่งข่าวที่สื่อหลักอย่างโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์นำไปอ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง

ลักษณะที่โดดเด่นนี้ทำให้นักการตลาดจากแบรนด์ต่างๆ ไม่ควรพลาดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้ เพื่อที่จะเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข่าวสารให้กับเครือข่ายที่ติดตามแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการให้ผู้ใช้ Twitter ได้ติดต่อสอบถามหรือเสนอแนะทางออนไลน์ได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา ธุรกิจมากมายประยุกต์ใช้ Twitter เป็นช่องทางในการประกาศการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ การขายแบบจำกัดจำนวน การให้สิทธิพิเศษต่างๆ ฯลฯ ซึ่งทำให้กลุ่มคนออนไลน์เกิดการติดตามตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอีกหนึ่งในช่องทางในการพาผู้บริโภคไปทำการซื้อสินค้าออนไลน์ในที่สุด

4. Klout.com

ในขณะที่ Twitter กลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ฮิต ผู้มีอิทธิพลออนไลน์ (Influencer) ก็เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วย ซึ่งผู้มีอิทธิพลเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ดาราหรือคนดังแต่อย่างใด หากแต่เป็นคนที่มีผู้ติดตามและให้ความ “เชื่อถือ” ซึ่งนำไปการมีอิทธิพลในด้านความเชื่อ ความคิด และพฤติกรรมของคนในเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลนั้นๆ

ในสมัยก่อนอาจจะมีพยายามวัดที่จำนวนของผู้ติดตาม (Follower) แต่ในระยะเวลาต่อมาก็ได้มีการเพิ่มแง่มุมว่าการมีอิทธิพลจริงๆ นั้นไม่ได้วัดแค่จำนวนผู้ติดตามเพียงอย่างเดียว หากแต่รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ของทั้งตัวผู้มีอิทธิพลเองและเครือข่ายที่ติดตาม ซึ่ง Klout.com นั้นเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่ให้บริการตรวจสอบและประเมินผลของความ “มีอิทธิพลที่แท้จริง” ของแต่ละ Twitter Account

หากแบรนด์สินค้าใดเลือกที่จะทำการตลาดผ่านผู้มีอิทธิพลออนไลน์เหล่านี้แล้วล่ะก็ Klout.com ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะตรวจสอบเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการเลือกผู้มีอิทธิพลเหล่านั้นเพื่อที่จะมาช่วยโปรโมตสินค้าต่างๆ ได้ถูกต้องและเหมาะสม

5. Viral Video

ข่าวสารในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวหรือคลิปวีดีโอนั้นกลายเป็นสิ่งที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากโทรศัพท์รุ่นใหม่ สามารถเปิดดูและส่งต่อกันได้ง่ายมากขึ้นเช่นเดียวกับความเร็วของอินเตอร์เนตที่ทำให้การดาว์นโหลดไฟล์วีดีโอต่างๆ ทำได้เร็วกว่าสมัยก่อน

นั่นหมายความว่าความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นวีดีโอของผู้บริโภคนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่คลิปวีดีโอที่มีเนื้อหาน่าสนใจหรือโดนใจคนบางกลุ่มจะเกิดการส่งต่ออย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ถ้านักการตลาดสามารถสร้างคลิปโฆษณาดีๆ และน่าสนใจแล้วล่ะก็ คนบนโลกออนไลน์จำนวนมากก็พร้อมจะทำหน้าที่เป็นสื่อโปรโมตวีดีโอดังกล่าวได้ทันที

อย่างเช่นกรณีของ คลิป Disconnect to Connect ของ dtac หรือ คลิปครูปา BB ของ Burger King นั่นเอง ซึ่งทั้งสองกรณีนั้นมีการดูผ่านออนไลน์และส่งต่อจำนวนมหาศาลโดยแทบไม่ต้องใช้งบประมาณในการช่วยประชาสัมพันธ์เลย

6. Mobile Application

การเติบโตของ Smartphone และ Mobile Device อื่นๆ อย่าง Tablet เป็นที่จับตามองของนักธุรกิจทั่วโลก เพราะนั่นแสดงให้เห็นพฤติกรรมในการเข้าโลกออนไลน์ที่กำลังจะเปลี่ยนไปของผู้บริโภค นอกจากนี้ระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์พกพาต่างๆ ไม่ได้แค่ให้ผู้ใช้เข้าโลกออนไลน์ผ่าน Web Browser ปกติเท่านั้น แต่ยังเปิดให้มีการสร้าง Application ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานต่างๆ ในแทบจะทุกกิจกรรมของชีวิตเช่นการจดบันทึก อ่านข่าว เล่นเกมส์ ดูแผนที่ ฯลฯ

Mobile Application นี้เองที่หลายแบรนด์สินค้ากระโดดเข้ามาสร้าง Brand Application ของตัวเองเพื่อที่ผู้ใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของตัวเองด้วยประสบการณ์แบบใหม่ที่นอกเหนือไปจากการใช้ผ่านหน้าจอ Web Browser ทั่วๆ ไป เช่นการดูรอบหนังและทำการซื้อตั๋วได้ทันทีผ่าน App ของ SF Cinema จึงอาจจะบอกได้ว่า Mobile Application นี้จะเป็นหนึ่งในการสร้าง Brand Experience ตลอดไปจนการได้รับบริการรูปแบบใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ไม่อาจมองข้ามได้นั่นเอง

7. Location Base Service

บริการเครือข่ายสังคมที่มีการใช้ข้อมูลของสถานที่และพิกัดบนแผนที่นั้นเป็นหนึ่งในบริการยอดนิยมของผู้ที่พก Smartphone เนื่องจากความสนุกในการได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้กับเพื่อนในเครือข่ายของตนเกี่ยวกับกิจกรรมในแต่ละวันของตัวเองว่าไปสถานที่ใดมาบ้าง การ Check-in ผ่าน Foursquare หรือ Gowalla กลายเป็นเสมือนเกมสนุกบนโลกออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกันมันคือการที่ผู้บริโภคโปรโมตสินค้า ร้านค้า และสถานที่ต่างๆ ให้กับธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมที่นำบริการออนไลน์นี้มาต่อยอดเป็นกิจกรรมทางการตลาดเช่นการ Check-in ที่ร้านค้าเพื่อรับส่วนลดพิเศษ หรือรับสินค้าฟรี

อย่างกรณีของ #nokiadtac ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน นอกจากนี้แล้วการสร้างจุด Location ต่างๆ บนบริการ Location Base เหล่านี้ก็สามารถเป็นการสร้าง Awareness ในยามที่ผู้ใช้เปิดแผนที่เพื่อค้นหาสถานที่ต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน

8. QR Code

ภาพขนาดสี่เหลี่ยมที่ทำหน้าที่เสมือน Barcode นี้กำลังกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นตามการเติบโตของ Smartphone ซึ่งเป็นเหมือนอุปกรณ์ในการแสกนและเข้าถึงข้อมูลบนโลกออนไลน์วิธีใหม่ เพราะนอกจากที่ QR Code จะพาผู้ใช้ไปสู่ URL ของเว็บไซต์ต่างๆ ได้หลังจากทำการ Scan ได้แล้วนั้น ยังสามารถประยุกต์ในการพาผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลรูปแบบอื่นๆ เช่นไฟล์เสียง คลิปวีดีโอ หรือลิงค์ดาว์นโหลดต่างๆ ได้ ดังตัวอย่างที่มักเห็นในสื่อต่างประเทศ

แม้ในปัจจุบันเราจะเห็นการใช้ QR Code ส่วนใหญ่อยู่กับการให้ Information แต่ถ้ามีประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดแล้วนั้น QR Code จะกลายเป็น Gimmick ที่น่าสนใจสำหรับคนออนไลน์ไม่น้อยทีเดียว

9. Dynamic Website

แม้ว่า Facebook หรือ Twitter จะเป็นที่นิยมมากเพียงใด แต่เว็บไซต์ซึ่งเป็นเหมือนออฟฟิศหลักของแบรนด์สินค้านั้นก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังมีการค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านทาง Search Engine อย่าง Google รวมทั้งเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลต่างๆ นั้นจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกนำไปบอกต่อทางเครือข่ายสังคมออนไลน์อีกด้วย

ฉะนั้นการสร้างเว็บไซต์ที่ทำให้ผู้ใช้งานออนไลน์สามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้า บริการ ข่าวสารต่างๆ นั้นรวมทั้งการทำ Search Engine Optimization (SEO) ก็ยังมีความสำคัญมากอยู่ดี อีกทั้งรูปแบบของเว็บไซต์ในปัจจุบันไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่การเป็นเพียงการสื่อสารเพียงด้านเดียวกับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม หากแต่ต้องมีความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับตัวเว็บเอง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็น โหวต ตลอดไปจนความสะดวกในการแบ่งปันเนื้อหาของเว็บเข้าสู่เครือข่ายสังคมอย่าง Facebook และ Twitter และการเปิดให้ผุ้ใช้งานสามารถเลือกรับข่าวสารของเว็บผ่าน RSS Feed ได้

ทั้งหมดนี้ควรเป็นสิ่งที่นักการตลาดออนไลน์ทำงานควบคู่กันไปกับการสร้างกระแสบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

10. Email Subscription

การใช้งาน Email ยังคงเป็นหนึ่งในการรับข้อมูลและติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์อยู่แม้จะมีการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น แต่ถ้าหากพิจารณาแล้วทั้งสองช่องทางก็ยังมีความแตกต่างและจุดเด่นจุดด้อยที่ต่างกันออกไป โดย Email จะมีความได้เปรียบในเรื่องการส่งข้อมูลที่มีเนื้อหามากระดับหนึ่ง และเข้าถึงผู้ที่สนใจโดยตรงผ่านการ Subscription ดังที่มักเห็นเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมมักเปิดบริการรับข่าวสารหรือโปรโมชั่นพิเศษผ่านทาง Email เพื่อไม่ให้พลาดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ในแต่ละวัน

ตัวอย่างเช่น ensogo.com ที่ส่งข้อเสนอโปรโมชันใหม่ให้กลุ่มคนที่ทำการ Subscription ผ่านทาง Email ทุกวัน คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับข่าวสารขอบแบรนด์สินค้ามากเป็นพิเศษและมีโอกาสที่จะซื้อหรือใช้บริการมากเป็นพิเศษด้วย นักการตลาดออนไลน์จึงต้องไม่มองข้ามความเฉพาะพิเศษของกลุ่มนี้และใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์

สำหรับเครื่องมือทางการตลาด 10 อย่างตามที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าบางอย่างอาจจะไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งมีการคิดค้นขึ้นแต่อย่างใด หากแต่พฤติกรรมของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์กำลังมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่จะต้องทำเครื่องมือต่างๆ มาประยุกต์และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้แล้วนักการตลาดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจธรรมชาติและลักษณะของโลกออนไลน์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ยึดติดแต่เพียงเครื่องมือของตัวเองเท่านั้น อีกทั้งการทำการตลาดที่ดีนอกจากจะมีเครื่องมือที่ดีแล้วยังต้องมีกลยุทธ์ที่ดีควบคู่ไปด้วย เพราะหากสำคัญเพียงแค่ว่ามีเครื่องมือแล้วนั้นก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าแผนการตลาดดังกล่าวจะประสบความสำเร็จและอาจจะนำไปสู่การใช้งบการตลาดไปอย่างสูญเปล่าได้

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page