top of page

2 พฤติกรรมหลักของการเสพ Content ยุคนี้ที่ส่งผลต่อการออกแบบ Content

การจะทำคอนเทนต์ให้รุ่งก็คงต้องรู้ด้วยว่าคนที่เสพคอนเทนต์นั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมมักจะพูดอยู่บ่อยๆ คือเราต้องรู้เสมอว่าบริบทของคนเสพคอนเทนต์ปัจจุบันเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันทำให้พวกเขามองหาคอนเทนต์แบบไหน

ข้อมูลต่างๆ ที่ผมสรุปต่อจากนี้เป็นสิ่งที่ผมอ่านและเก็บข้อมูลต่างๆ มา ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ควรรู้สำหรับคนทำคอนเทนต์ออนไลน์เลยก็ว่าได้

1. คนสมาธิสั้นลง

ข้อเท็จจริงที่น่ากลัวอย่างหนึ่งคือคนเสพคอนเทนต์ในยุคปัจจุบันนั้นมีสมาธิสั้นลงอย่างเห็นได้ชัดถึงขั้นมีการศึกษาแล้วพบว่าปัจจุบันสมาธิของเราสั้นเสียกว่าปลาทองเสียอีก ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรถ้าเรามองว่าทุกวันนี้เรามีคอนเทนต์มากมายเกิดขึ้นรอบตัวจนทำให้เราเขวและเบี่ยงเบนความสนใจได้อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามนั่นหมายความว่าการเสพคอนเทนต์ต่างๆ โดยเฉพาะบนช่องทางออนไลน์นั้นจะยิ่งเจอความท้าทายในเรื่องการพยายามดึงความสนใจของคนไว้ให้อยู่หมัดในช่วงเวลาไม่กี่วินาที

ผลต่อการออกแบบคอนเทนต์

สิ่งที่เราน่าจะพอรู้ตัวกันอยู่ (ถ้าเราหัดสำรวจตัวเอง) คือพอเรามีสมาธิสั้น นั่นหมายความว่าเราไม่ควรทำคอนเทนต์อะไรที่ต้องให้คนเสพใช้เวลานานๆ เกินไปเพราะพวกเขาสามารถละความสนใจไปเรื่องอื่นได้ง่าย พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่าต่างจากสมัยก่อนที่เรายังมีเวลาที่จะนั่งอ่านโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หรือยอมดูโฆษณาทางโทรทัศน์ หากแต่วันนี้ถ้ามันไม่น่าสนใจในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีเราก็พร้อมจะเบี่ยงไปสนใจอย่างอื่นได้

ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าคุณกำลังเลื่อนหน้าจอ Facebook อยู่นั้น ถ้าคุณเจออะไรที่น่าสนใจคุณก็จะหยุดดู แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คุณรู้สึกว่ามันเยอะ ไม่น่าสนใจ คุณก็พร้อมจะเลื่อนหน้าจอไปดูคอนเทนต์ชิ้นอื่นได้ทันที (และนั่นคือเหตุผลที่วีดีโอจำนวนมากบน Facebook ไม่ได้ถูกดูจนจบ)

การออกแบบคอนเทนต์โดยใช้แนวคิดนี้จึงปรับวิธีการสื่อสารเสียใหม่ที่เน้นให้กระทัดรัด กระชับมากๆ และสามารถเข้าใจได้ง่ายแทนที่จะต้องบรรยายหรือเล่าเรื่องอะไรเยอะๆ (ซึ่งขัดกับวิถีการโฆษณายุคสมัยก่อนค่อนข้างมาก)

2. คนเรามองอะไรเป็นภาพ

เมื่อเรามีอะไรให้ดูมากขึ้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่พวกเราไม่รู้ตัวคือการที่สมองของเราจะเสพคอนเทนต์ในลักษณะของการ Scan มากขึ้นเรื่อยๆ ประเภทไม่ต้องอ่านรายละเอียดให้จบ หรือการมองอะไรเป็น “ภาพรวม” มากกว่า และนั่นคือที่มาของพฤติกรรมที่เราอ่านอะไรแบบเร็วๆ จับรายละเอียดไม่ได้มากนักแต่จำประเภทหัวข้อหรือพาดหัวข่าวได้เสียมากกว่า ไหนจะเป็นเรื่องการที่เราจะหยุดการอ่านเรียงแบบรายบรรทัดไปแล้วมองทีทั้งย่อหน้า ฯลฯ

ผลต่อการออกแบบคอนเทนต์

นี่คือเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมคอนเทนต์แบบรูปจึงมักได้รับความนิยมเพราะคอนเทนต์แบบรูปนั้นตรงกับจริตของสมองคนในยุคปัจจุบันที่มองหาอะไรที่เป็น “รูป” มาก่อนแทนที่จะสนใจตัวหนังสือ งานออกแบบของคอนเทนต์ออนไลน์จำนวนมากจึงมักจะใช้ตัวหนังสือน้อยๆ แต่ใช้รูปภาพสวยๆ หรืออะไรที่ดึงดูดสายตาเป็นตัวนำแทน (เพราะสายตาเราจับแบบนั้นก่อน)

ด้วยเหตุนี้ การทำคอนเทนต์บนหน้า Timeline จึงมักจะพิถีพิถันกับการเลือกรูปภาพที่ใช่รวมทั้งการออกแบบภาพให้มีลักษณะที่ดึงดูสายตาของคนแทนที่จะพยายามยัดรายละเอียดทุกอย่างเข้าไป

เพราะเราก็ต้องไม่ลืมว่าถ้าเมื่อไรที่คนรู้สึกว่ารูปดังกล่าวนั้น “เยอะ” และ “ลำบากในการอ่าน” พวกเขาก็พร้อมจะละความสนใจและไปมองเรื่องอื่นในแทบจะทันทีเหมือนกัน

สองข้อนี้มักเป็นสิ่งที่ผมหยิบมาพูดและอธิบายบ่อยๆ ว่าคนทำงานสื่อสารการตลาดปัจจุบันต้องปรับตัวอย่างไร เพราะสองเรื่องนี้จะส่งผลกับวิธิคิดงานพอสมควรเลยทีเดีย ยังไงก็ขอให้ทำความเข้าใจสองเรื่องนี้ดีๆ ด้วยแล้วกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page