top of page

Complex Problem Solving: ทักษะอนาคต ที่ฟังว้าว แต่ทำไม่ง่ายแถมสร้างก็ยาก

หนึ่งในทักษะที่ถูกยกว่าสำคัญในปัจจุบันและอนาคตก็คือ Complex Problem Solving ที่ในรายงานต่าง ๆ ก็จะระบุว่าคนทำงานควรจะมีกัน ซึ่งนั่นก็แยกไปจากการคิดแบบสร้างสรรค์ (Creative) และการคิดวิเคราะห์ (Analytic) และน่าคิดไม่น้อยว่าทักษะนี้ไม่เหมือนกับ Problem Solving แบบที่เราคุ้น ๆ กัน

ในบรรดาหนังสือที่ผมอ่านมาเกี่ยวกับการทักษะการคิดแก้ปัญหานั้น ส่วนใหญ่ก็จะพูดไปในทางเรื่องของ Creative Problem Solving ไม่ก็ Strategic Thinking กันเสียส่วนใหญ่โดยไม่ค่อยเห็นการพูดเรื่อง Complex Problem Solving กันอย่างชัดเจนมากนัก ส่วนหนึ่งนั่นก็เพราะหากเรามาคิดกันจริง ๆ แล้วจะพบว่า Complex Problem Solving เป็นทักษะที่เพิ่งเริ่มมาเห็นชัดและมีบทบาทมากขึ้นก็ในโลกปัจจุบันนั่นเอง

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ Complex Problem Solving นั้นก็เกิดจากการที่เรามี Complex Problem โดยไม่ใช่แค่ Simple Problem / Complicated Problem แบบแต่ก่อน ที่ผ่านมานั้นเราจะเห็นว่าปัญหาหลาย ๆ อย่างรอบตัวเราอยู่ในลักษะของการที่มีรูปแบบ (Pattern) หรือไม่ก็มีตัวแปรต่าง ๆ ที่เรารู้จักและควบคุมได้ (Controlled Factors) แต่นั่นต่างออกจากโลกปัจจุบันที่มีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ขนาดตัวแปรอย่างพฤติกรรมคนเองก็ซับซ้อนกว่าเดิมดังที่จะเห็นว่าธุรกิจไม่สามารถใช้แค่ข้อมูล Demographic มาเข้าถึงลูกค้าได้ต่อไป รูปแบบการเสพสื่อมีขั้นตอนและตัวเลือกมากขึ้น การซื้อของต่าง ๆ มีทางเลือกกว่าแต่ก่อนจนทำให้การจะแก้ปัญหาว่า “ทำอย่างไรให้ยอดขายขึ้น” ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยเดิม

Community support and teamwork unity in complex challenge tiny person concept. Social help and partnership to solve common problem vector illustration. Global solidarity and diversity organization.

โลกกำลังเข้าสู่การเป็นโลกที่ยุ่งเหยิง (Complex World) เป็นคำพูดที่ไม่ได้ไกลเกินจริง และนั่นทำให้ปัญหาของธุรกิจต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นปัญหาที่เข้าสู่ Complex Problem มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องการการตลาด การขาย การดำเนินงาน การจัดการต่าง ๆ เอาแค่เรื่องพนักงานในองค์กรก็เจอความหลากหลายที่ต่างไปจากเดิมและนั่นทำให้แนวคิดเดิมอาจจะไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพอีกต่อไป

นี่เองที่ทำให้ Complex Problem Solving กลายเป็นทักษะที่ถูกหยิบมาพูด และนั่นต่างจาก Problem Solving เดิมที่เราคุ้น ๆ กันเพราะมันกำลังสะท้อนว่าวิธีการคิดแบบว่าทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ 1-2-3 นั้นจะไม่ได้เวิร์คแบบแต่ก่อนแล้ว

แต่ก็นั่นเองที่ Complex Problem Solving อาจจะเจอโจทย์ใหญ่ว่าคนทั่วไปไม่ได้มีทักษะนี้เท่าไรนัก เพราะเราถูกปลูกฝังกันมาในลักษณะของการแก้ปัญหาแบบ How-to คือมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ปูไว้แล้ว ตำราธุรกิจต่าง ๆ มี Fraemwork และขั้นตอนกำกับไว้เป็นแบบแผน ไหนกับข้อสอบต่าง ๆ ในวิชาเรียนก็เป็นข้อสอบที่ตีกรอบให้เราโฟกัสกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งเป็นสำคัญจนทำให้เราคิดว่าเราชำนาญวิธีการแก้ปีญหานี้แล้วในขณะที่โลกข้างนอกนั้นไม่ได้ถูกเขียนโจทย์แบบควบคุมตัวแปรและขีดให้ใช้วิธีการนี้แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวแต่อย่างใด

ตัวอย่างที่ผมยกบ่อย ๆ ในการอธิบายเรื่องนี้คือเราถูกสอนมาในลักษณะว่าถ้าป่วยเป็นโรคนี้ ก็รักษาแบบนี้ ใช้ยาแบบนี้ แล้วก็จบ แต่ในชีวิตจริงของเรานั้นไม่ได้ป่วยกันด้วยโรคเดียว แต่เราอาจจะป่วยหลายโรคพร้อม ๆ กัน แถมแต่ละคนก็ดันมีเงื่อนไขทางร่างกายที่แตกต่างกัน มีความดัน ไขมัน สุขภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งพอมันทับซ้อนกันสุด ๆ ก็เลยจะไม่ได้แก้กันแบบง่าย ๆ เหมือนตอนสอบ

นอกจากนี้แล้ว ในโลกจริงของเรานั้นก็ดันถูกล้อมรอบไว้ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำทุกอย่างแทนเรา ทำให้ทุกอย่างมันง่าย (Simplified) จนทำให้สถานการณ์ที่จะฝึกให้เราคิดเรื่อง Complex Problem นั้นไม่ได้เกิดขึ้น เราถูกเทคโนโลยีสปอยความคิดจนกลายเป็นประเภทที่คิดอะไรรวบตึง มองว่าทุกอย่างมันควรจะง่าย แก้ไขได้ด้วยสูตรสำเร็จไปเสีย

นั่นเลยเป็นเรื่องน่าห่วงไม่น้อยว่าเราจะสามารถพัฒนาทักษะ Complex Problem Solving กันได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ เราจะปลูกฝังและฝึกฝนวิธีคิดแบบ Complex Problem Solving ได้อย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ธุรกิจที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับเหล่าผู้บริหารที่ต้องเป็นคนตัดสินใจกับสิ่งต่าง ๆ ที่ประดังเข้ามา

ก็เป็นเรื่องน่าคิดที่ฝากเอาไว้ให้กับองค์กรต่าง ๆ แล้วกันนะครับ

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page