top of page

#DigiMgt ตอนที่ 2: วันของ Gen-Y บ๊ายบาย Gen-X

ในตอนที่แล้ว ผมได้เกริ่นพูดถึงยุคคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Digital Tourist หรือถ้ามองทางการตลาดก็อาจจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Gen-Y ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในระดับบริหารมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่เป็นเช่นนั้น เราคงต้องมามองประชากรโลกในปัจจุบัน รวมทั้งทิศทางของเทคโนโลยีควบคู่กันไป ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เราจะเห็นว่ากลุ่มคนอายุน้อยนั้นมีอยู่ในปริมาณที่สูงมาก และคนกลุ่มนี้ล้วนโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล หาใช่ยุค Analog อีกต่อไป ฉะนั้นหากเรากำลังจะพูดถึงทิศทางโลกในอนาคตรวมถึงธุรกิจในอนาคตแล้วนั้น จึงไม่สามารถมองข้ามคนกลุ่มนี้ได้อีกต่อไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับพบว่าผู้บริหารจำนวนมากมองข้ามประเด็นดังกล่าวเพราะคิดว่าการทฤษฏีการบริหาร การตลาด การจัดการต่างๆ ที่ตัวเองเคยเรียนมาในยุค Analog สามารถ “ตีแตก” กับคนยุคใหม่ได้เช่นกัน

โลกเปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน

ถ้าเรามองในฐานะคนที่อยู่ระหว่างรอยต่อของยุค Analog กับ Digital แล้ว เราจะมองเห็นวิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือนับตั้งแต่วันที่เป็นกระติกน้ำ กลายเป็นเครื่องเล็กลองสามารถพกพาได้สะดวก วันที่เริ่มมีจอสี ระบบเสียงแบบ polyphonic จนกลายเป็น MP3 สามารถถ่ายรูปได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ และมาถึงวันที่กลายเป็นระบบจอสัมผัสมีโปรแกรมต่างๆ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น มันก็ยังอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่ามันก็คือ “โทรศัพท์” ที่เพียงทำอะไรได้มากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เราสะดวกมากขึ้น ที่เรามักคิดเป็นอย่างนั้นเพราะเราได้เห็นจุดกำเหนิดของเทคโนโลยีนี้มาตั้งแต่ที่มันยังไม่มีเลนเสียด้วยซ้ำ

แต่หากเราไปถามเด็กรุ่นใหม่แล้ว บรรดาความสามารถต่างที่ “เพิ่ม” เข้ามานั้นกลับถูกมองว่าเป็นสิ่ง “พื้นฐาน” ที่ต้องมีไปเสียแล้ว เช่นเดียวมุมมองที่เขาไม่ได้มองว่าโทรศัพท์มือถือคือ “โทรศัพท์” อีกต่อไปเพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้นมานั้น เขาก็เห็นโทรศัพท์มือถือในยุคที่เป็นจอสัมผัส สามารถลงโปรแกรมและฟังเพลงได้แล้ว

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นว่าทัศนคติ วิธีคิดและมุมมองต่อเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของ Digital Citizen นั้นแตกต่างจาก Digital Tourist อย่างเห็นได้ชัด

อีกกรณีที่พอจะยกตัวอย่างได้คือปรากฏการณ์ Social Network ที่คนยุคใหม่นั้นโตขึ้นมาโดยพบว่ามันเป็นธรรมชาติที่พวกเขาต้องเชื่อมถึงเพื่อนๆ และสังคมผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ประหนึ่งว่าถ้าไม่มีก็เรียกว่าเชยหรือไม่ได้อยู่ร่วมในสังคม ฉะนั้นความต้องการในการใช้เทคโนโลยีของคนเหล่านี้จึงสูงมาก ไม่ใช่เพียงแค่เพราะเห่อเทคโนโลยีแบบที่นักการตลาดหลายๆ คนปรามาสไว้ ซึ่งนั่นผิดกับคนยุคเก่าที้คุ้นเคยกับการสังสรรค์ในวงปาร์ตี้ การนัดพบเจอกัน หรือสายสัมพันธ์ผ่านการโทรศัพท์ซึ่งทำเป็นปรกติอยู่แล้ว การเข้ามาของ Social Network จึงเป็นแค่ของเล่นใหม่ที่ผ่านเข้ามา จะเล่นก็ได้ ไม่เล่นก็ได้

จากวิธีคิดที่ต่างกันนี่เองที่ทำให้กลายเป็นช่องโหว่ของยุคสมัยที่ Old Generation กำลังพลาดพลั้งโดยไม่รู้ตัว เมื่อธุรกิจในปัจจุบันกำลังก้าวเพื่อจับกลุ่มพฤติกรรมแบบใหม่นั้น หลายธุรกิจประสบความล้มเหลวเนื่องจากผู้บริหารยังคิดอยู่ในกรอบเดิม ตำราเดิมๆ ที่เคยยกขึ้นหิ้งไว้ และทึกทักเอาเองว่าเข้าใจคนรุ่นใหม่ดี

แต่ในทางกลับกัน หากเรามองว่ากลุ่มผู้บริหารและธุรกิจสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จนั้น ล้วนมากจากคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเข้าใจคนยุคปัจจุบันแถมคิดสวนทางกับวิธีคิดแบบเดิมๆ เสียด้วยซ้ำ ดังตัวอย่างกรณีของ Facebook Groupon Netflix

เช่นเดียวกับการที่เราพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยยิ่งใหญ่ในสมัยก่อนกลับถูกสั่นคลอนหรือกลายเป็นยักษ์ล้มภายในพริบตาดังเช่นกรณีของ Nokia หรือ Microsoft

บางที เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณอย่างดีที่บอกว่าวิธีคิดแบบ Old Gen อาจจะไม่สามารถเอาตัวรอดได้เมื่อ New Gen กำลังก้าวขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ ความคิดแบบเข้าใจโลกใหม่แบบ New Gen กำลังเป็นที่ต้องการและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเพราะสามารถวิ่งไปด้วยอัตราเร่งเดียวกับเทคโนโลยี ซึ่งนั่นสวนทางกับวิธีคิดแบบเดิมๆ ที่ก้าวเร่งตามกระแสไม่ทัน

ถ้าผู้บริหารยังคงทึกทักเอาเองว่ารู้จักและเข้าใจตลาดดิจิตอลใหม่นี้โดยไม่ยอมรับความจริงแล้วรีบแก้ไขล่ะก็ พวกเขาก็คงจะกลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของกาลเวลาก่อนใครด้วยเช่นกัน

Me_Potrait.jpg

Nuttaputch Wongreanthong

An experienced marketer with a passion for understanding and exploring the latest trends

  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn
  • Instagram

Subscribe

Thanks for submitting!

bottom of page